InfoQuest - สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (13 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมัน อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันลดช่วงบวก เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐที่สูงเกินคาดอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาด
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 95 เซนต์ หรือ 1.24% ปิดที่ 77.87 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 77 เซนต์ หรือ 0.94% ปิดที่ 82.77 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น หลังจากสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า สหรัฐได้ปฏิเสธข้อเสนอการหยุดยิงในยูเครนของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย
จอห์น คิลดัฟฟ์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Again Capital ในรัฐนิวยอร์กกล่าวว่า "การที่สหรัฐปฏิเสธข้อเสนอการหยุดยิงของปธน.ปูตินถือเป็นการตอกย้ำว่าจะยังไม่มีการทำข้อตกลงการหยุดหยิงในระยะใกล้นี้ และสันติภาพจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่ายูเครนจะได้ในสิ่งที่ต้องการ นอกจากนี้ มาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐบังคับใช้กับรัสเซียนั้น กำลังเริ่มปรากฎให้เห็น หลังจากหลายประเทศพากันหลีกเลี่ยงการนำเข้าสินค้าจากรัสเซีย"
นางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า เศรษฐกิจรัสเซียกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก เนื่องจากภาวะสงครามทำให้ประชากรที่มีคุณภาพย้ายถิ่นฐานออกนอกประเทศ และรัสเซียสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้น้อยลง อันเนื่องมาจากการถูกคว่ำบาตร
นักลงทุนมีความกังวลต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลาง หลังจากอิสราเอลปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงจากกลุ่มฮามาส และได้ใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีเมืองราฟาห์ ขณะที่กลุ่มกบฏฮูตียังคงเดินหน้าโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดง
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันลดช่วงบวก เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.1% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.9% จากระดับ 3.4% ในเดือนธ.ค. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.9% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.9% ในเดือนธ.ค.
สำหรับข่าวความเคลื่อนไหวด้านอื่น ๆ นั้น กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เปิดเผยรายงานภาวะตลาดน้ำมันประจำเดือนก.พ. โดยระบุว่า อุปสงค์น้ำมันโลกจะขยายตัว 2.25 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2567 และ 1.85 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2568 ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลงจากรายงานที่มีการเปิดเผยในเดือนม.ค.
นอกจากนี้ โอเปกเปิดเผยว่า การผลิตน้ำมันของโอเปกลดลง 350,000 บาร์เรล/วันในเดือนม.ค. สู่ระดับ 26.34 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่ประเทศสมาชิกทำการปรับลดกำลังการผลิตตามสมัครใจ