InfoQuest - สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% ในวันพฤหัสบดี (11 พ.ค.) เนื่องจากปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของจีนและสหรัฐ
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 1.69 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 70.87 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 1.43 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 74.98 ดอลลาร์/บาร์เรล
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐพยายามผลักดันให้สภาคองเกรสเร่งปรับเพิ่มเพดานหนี้ โดยเตือนว่าการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐจะส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศเผชิญภาวะถดถอย และจะทำให้ชาวอเมริกันจำนวน 8 ล้านคนตกงาน นอกจากนี้ การผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกด้วย
ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการหารือเรื่องเพดานหนี้รอบ 2 ระหว่างปธน.ไบเดน และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งจะมีขึ้นในวันนี้ (12 พ.ค.) หลังการเจรจาเมื่อวันอังคารไม่ประสบความคืบหน้า โดยหากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ภายในวันที่ 1 มิ.ย. ก็จะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐและจีน โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 22,000 ราย สู่ระดับ 264,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2564 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 245,000 ราย
ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขยับขึ้นเพียง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 2 ปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนมี.ค.
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ปรับตัวลง 3.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 7 โดยข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจในภาคโรงงานและหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจของจีนยังคงเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก แม้ว่ารัฐบาลจีนได้ตัดสินใจยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้วก็ตาม