InfoQuest - สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันพุธ (22 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ตามคาด พร้อมกับส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ย
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 1.23 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 70.90 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 1.37 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 76.69 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์หรือนับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. และเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 3 วันทำการ เนื่องจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ หลังจากคณะกรรมการเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ คณะกรรมการเฟดส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นต่อระบบธนาคารสหรัฐ
ทั้งนี้ เฟดเปิดเผยการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ซึ่งระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งหลังการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.8% ในปี 2567 และ 1.2% ในปี 2568
ตลาดยังได้แรงหนุนจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 6.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 2 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ดี สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 5.5 ล้านบาร์เรล
นักลงทุนจับตาการประชุมคณะกรรมการของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 3 เม.ย.นี้ ขณะที่แหล่งข่าวจากกลุ่มโอเปกพลัสเปิดเผยว่า โอเปกพลัสมีแนวโน้มที่จะรักษานโยบายการผลิตน้ำมันด้วยการปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2566 แม้เกิดวิกฤตธนาคารในช่วงที่ผ่านมา