คาดตลาดเปิดรับความเสี่ยงต่อ รับชัยชนะ โจ ไบเดน
-
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเปิดรับความเสี่ยง หลังผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ชี้ว่า นายโจ ไบเดนจะเป็นประธานาธิบดีคนถัดไป ขณะที่พรรคเดโมแครตอาจครองเสียงข้างมากแค่ในสภาผู้แทนฯ (House of Representatives)
-
การเลือกตั้งสหรัฐฯ ยังไม่สิ้นสุด โดยต้องระวังความวุ่นวายหาก ปธน.ทรัมป์ ประท้วงการนับคะแนน ขณะเดียวกัน ตลาดยังคงรอลุ้นผลการเลือกตั้งวุฒิสภา
-
เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังผลการเลือกตั้งไม่ได้ผิดคาดไปมาก แต่เงินดอลลาร์อาจกลับมาแข็งค่าได้ หากตลาดปิดรับความเสี่ยง จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 หรือจากความวุ่นวายของผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ
-
กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 30.40-30.90 บาท/ดอลลาร์
มุมมองนโยบายการเงิน
-
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ในวันพุธ ตลาดคาดว่า RBNZ จะ“คง”อัตราดอกเบี้ย (Cash Rate) ไว้ที่ระดับ 0.25% หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจสะท้อนผ่านการปรับประมาณการเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ RBNZ อาจใช้มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่สถาบันการเงิน (Funding for Lending Program) เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวของภาคเอกชนและเศรษฐกิจโดยรวม
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
-
ฝั่งสหรัฐฯ – ประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม แม้ว่าผลการนับคะแนนล่าสุดจะชี้ว่า นายโจ ไบเดนชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทว่าหากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ก็อาจทำให้ต้องมีการนับคะแนนใหม่ ซึ่งจะสร้างความวุ่นวายไปอย่างน้อยจนถึงก่อนวันที่ 8 ธันวาคม นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งวุฒิสภา (Senate) ก็ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากต้องรอผลการเลือกตั้งในรัฐจอร์เจียในวันที่ 5 มกราคม ดังนั้น ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ สามารถเป็นได้ทั้งกรณี สภาคองเกรสที่ผสม และ Blue Wave victory
-
ฝั่งยุโรป – แม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปและอังกฤษจะฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 ชี้จากจีดีพีของยูโรโซนที่หดตัว 4.3%จากปีก่อน ดีขึ้นจากที่หดตัวราว 15% ในไตรมาสที่ 2 ส่วนในฝั่งอังกฤษเศรษฐกิจหดตัว 9.5% ดีขึ้นจากที่หดตัวเกือบ 22% ทว่าการระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจนหลายประเทศต้องใช้มาตรการ Lockdown ไม่น้อยกว่า 1 เดือน จะส่งผลให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปมีปัญหามากขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจเยอรมนี (ZEW Survey) ในเดือนพฤศจิกายนที่จะปรับตัวลดลงเหลือ 44จุด จากระดับ 56.1จุด ในเดือนก่อนหน้า
-
ฝั่งเอเชีย –เศรษฐกิจมาเลเซียในไตรมาสที่ 3 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยจีดีพีหดตัวเหลือ 7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ซึ่งเศรษฐกิจหดตัวถึง 17%
-
ฝั่งไทย – ความวุ่นวายทางการเมืองอาจกดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนตุลาคมปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.5จุด จาก 50.2จุด