SET ยังอยู่ภายใต้แนวโน้มทางลง
การรีบาวด์แรงของตลาดหลังจากที่นักลงทุนกังวลว่าตลาดจะทิ้งตัวแรง เนื่องจากอัตราการติดเชื้อใหม่ของประชากรไทยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีกระแสว่าตลาดพักตัวจบไปแล้ว นักลงทุนเริ่มกลับมาพูดถึงเป้าหมายที่มากกว่า 1600 จุด หรือมองไกลไปถึง 1700-1800 จุด
เราคงใช้ความรู้สึกมาอ่านตลาดเข้าข้างสถานะที่เราถืออยู่ก็ไม่น่าจะดีนัก มาดูไปด้วยกันตามหลักวิชาดีกว่าครับ
เทคนิคอล
SET@MONTH ยังปิดต่ำกว่าเส้นแนวโน้มแนวทแยงผ่าน 3 จุดในระนาบเดียวกัน จึงมีนัยสำคัญพอที่จะตัดสินได้ว่าตลาดควรไปในทิศทางใด การปิดต่ำเส้นแนวโน้มในเดือนมิถุนายน 2564 ให้แนวโน้มเชิงลบต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคมที่กำลังมาถึง
กรอบของ Volume By Price บอกขอบเขตการเคลื่อนไหวของดัชนี ตราบใดที่ยังไม่สามารถกลับมาปิดเหนือบริเวณ 1607 จุด ก็ยังไม่สามารถหวังให้ตลาดขึ้นไปได้ไกล ยังคงเป็นการ sideway ในกรอบ 1563-1607 และจะแย่มากเมื่อเริ่มปิดต่ำแนว 1563 ต่อเนื่องกัน
NOTE:จุดต่ำสุดของเดือนมิถุนายนคือ 1565.31
TD SEQUENTIAL มีสัญญาณ TD SELL SET UP #8 บอกเราว่าตลาดหุ้นไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่โซนอ่อนกำลังทางขึ้น เมื่อพิจารณา PE & P/Bv ประกอบ ก็สอดคล้องกันว่า Upside Gain คงเหลือไม่มากนัก การจะพูดถึงเป้าหมาย 1700-1800 ก็ออกจะเป็นการคาดหวังที่มากเกินไป
ฟันด์โฟลว์
แนวโน้มบาทอ่อนค่าต่อเนื่องไม่ส่งผลดีต่อนักลงทุนต่างชาติที่จะขนเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เพราะจะทำให้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ในทางกลับกันกับเป็นตัวเร่งให้เงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทย
2-10 Spread สัญญาณคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจก็ปรับตัวลง เรามักจะเห็น Spread ที่แคบลงจนถึงขั้นติดลบ หากนักลงทุนมีมุมมองที่เป็นลบต่อภาวะเศรษฐกิจ และตามมาด้วยการทิ้งตัวแรงของตลาดหุ้น
รู้ไว้ใช่ว่า
2–10 spread เกิดจากการนำอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) อายุ 10 ปี มาหักลบกับรุ่นอายุ 2 ปี ได้เป็นส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรซึ่งโดยปกติจะมีค่าเป็นบวกเพราะการกู้ยืม 10 ปีย่อมต้องให้ผลตอบแทนสูงกว่าการกู้ยืม 2 ปี แต่ค่าส่วนต่างนี้ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงได้ตามภาวะเศรษฐกิจ ในบางช่วงเวลาอาจมีค่าต่ำมากจนกระทั่งติดลบได้ แล้วค่านี้บอกอะไรแก่นักลงทุน
โดยปกติ Bond yield ระยะยาวย่อมสูงกว่า Bond yield ระยะสั้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการลงทุนในระยะเวลาที่ยาวกว่า และสะท้อนถึงเงินเฟ้อในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนมีมุมมองที่เป็นลบต่อภาวะเศรษฐกิจ เช่น คาดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นักลงทุนจำนวนมากก็จะหันไปซื้อ Bond ระยะยาวเพื่อล็อคผลตอบแทนจากการลงทุนเอาไว้ ทำให้ Bond Yield ระยะยาวปรับตัวลดลง ส่วน Bond Yield ระยะสั้นปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจาก Demand ของ Bond ระยะสั้นน้อยลงและนักลงทุนบางส่วนอาจขาย Bond ระยะสั้นเพราะกังวลกับภาวะเศรษฐกิจอันใกล้และหันไปถือ Bond ระยะยาวแทน ส่งผลให้ 2-10 Spread มีค่าต่ำลง เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) จึงแบนราบ (Flat) ลง และหาก Yield Curve แบนราบลงเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดที่ Bond Yield ระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว จะทำให้เส้น Yield Curve กลายเป็นเส้นลาดลง และ 2–10 Spread มีค่าติดลบ ที่ได้ยินกันคุ้นหูว่า “Inverted Yield Curve”
ในอดีตเคยเกิดภาวะ Inverted Yield Curve มาแล้วที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2006 หลังจากนั้นอีกเกือบ 2 ปี เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็เข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในปี 2008 อย่างไรก็ตาม Inverted Yield Curve ไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิด Recession แต่เป็นเพียงสัญญาณหนึ่งที่บอกว่า นักลงทุนเริ่มมีมุมมองเชิงลบต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคตและอาจมีโอกาสที่จะเกิด Recession ขึ้นได้
เพื่อนนักลงทุนอาจใช้ข้อมูลนี้ในการติดตามเฝ้าระวัง จนกว่าตลาดหุ้นไทยจะกลับมาปิดเหนือ 1607 จุดได้เสียก่อน จึงจะคาดหวังเป้าหมายไปไกลอย่าง 1700-1800 จุด