เช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายไมค์ ปอมเปโอ ได้ประกาศว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะหยุดการอนุมัติข้อยกเว้น (SRE) ให้แก่ผู้ซื้อน้ำมันอิหร่านทั้งหมด ถือว่าเป็นการสิ้นสุดข้อยกเว้นที่เคยอนุญาตให้ประเทศบางกลุ่มสามารถซื้อน้ำมันจากอิหร่านได้ในจำนวนที่กำหนดไว้ตลอดระยะเวลาหกเดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ประเทศใดก็ตามที่ซื้อน้ำมันจากอิหร่านภายหลังจากวันที่ 1 พฤษภาคมจะต้องโทษมาตรการคว่ำบาตรขั้นทุติยภูมิจากสหรัฐฯ
เมื่อมีรายงานข่าวดังกล่าวออกมาก่อนหน้านั้นในคืนวันอาทิตย์ บรรดาสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าต่างก็ราคาพุ่งกันถ้วนหน้า พอถึงเวลาปิดการซื้อขาย เมื่อวันจันทร์ สัญญาเบรนท์ ราคาพุ่งขึ้นถึง 2.8% อยู่ที่ $74.04 ต่อบาร์เรล และ สัญญา WTI เพิ่มขึ้นถึง 2.7% สู่ระดับ $65.70 ต่อบาร์เรล เหล่าผู้ลงทุนและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างก็ไม่ได้คาดคิดว่ารัฐบาลของทรัมป์จะยกเลิกการให้ข้อยกเว้นทั้งหมด แม้ว่าการจำกัดการซื้อน้ำมันบางประการไม่ได้เกินความคาดหมายสักเท่าไร แต่เมื่อพิจารณาจากความต้องการของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะรักษาราคาน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินให้อยู่ในระดับต่ำแล้ว การยกเลิกข้อยกเว้นอย่างกระทันหันเช่นนี้จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่เกินความคาดหมาย
ตลาดจะสูญเสียน้ำมันจากอิหร่านเป็นปริมาณเท่าใด
รัฐบาลสหรัฐฯ อ้างว่าปัจจุบันนี้อิหร่านส่งออกน้ำมันเป็นอัตรา 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันต่างก็ได้รับแรงกดดันอย่างมหาศาลที่จะต้องยุติการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน ทว่าบริษัทตรวจวัดที่อยู่นอกสังกัดของรัฐบาลเผยว่าอิหร่านมีปริมาณน้ำมันอยู่ในตลาดค่อนข้างมาก ข้อมูลจากเมื่อเดือนมีนาคมเผยว่าอิหร่านส่งออกน้ำมันราว 1.7 ล้านถึง 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยจีนเป็นผู้นำเข้ารายหลักและรายใหญ่ที่สุดของอิหร่านในขณะนี้
มีแนวโน้มว่าเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตุรกี และอินเดีย (ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านรายอื่น ๆ ) จะปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้น้ำมันอิหร่านในตลาดลดลงราว 700,000 บาร์เรลต่อวัน ทว่าเป็นไปได้ที่จีนจะยังคงนำเข้าน้ำมันต่อไปแม้ว่าจะมีมาตรการคว่ำบาตรก็ตาม ขณะนี้จีนได้จัดเก็บปริมาณน้ำมันอิหร่านมากกว่า 20 ล้านบาร์เรลไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนในเมืองต้าเหลียน และเพิ่งทยอยนำน้ำมันจำนวนนั้นออกมาใช้ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้จีนต้องการที่จะซื้อน้ำมันจากอิหร่านในราคาที่ถูกแม้ว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นก็ตาม
จะชดเชยปริมาณน้ำมันที่หายไปได้อย่างไรบ้าง
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ระบุว่า
“ตลาดน้ำมันในขณะนี้มีอุปทานที่เหมาะสม และมีปริมาณสินค้าคงคลังน้ำมันดิบที่แข็งแกร่งตามฤดูกาล” ทว่าขณะนี้สหรัฐฯ มี “พันธะต่อประเทศผู้ผลิตน้ำมันต่าง ๆ รวมถึงซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในการที่จะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยส่วนที่ขาดหายไปจากการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน”
ทว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันซาอุฯ นายคาลิด อัลฟาลีห์ ได้ออกมาเผยเมื่อวัน พุธที่ผ่านมา ว่าเขาไม่เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการที่จะต้องเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันโดยเร็ววันนี้ แต่ซาอุฯ กลับเลือกที่จะให้ความสำคัญกับการตอบสนองอุปสงค์ของผู้อุปโภคน้ำมันเสียมากกว่า นายฟาลีห์คาดว่าอุปสงค์น้ำมันซาอุฯ จะเพิ่มขึ้นเนื่องด้วยมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่เข้มงวดขึ้น แต่เขาจะไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันล่วงหน้าอย่างแน่นอน ทั้งนี้โอเปกและประเทศพันธมิตรของโอเปกจะเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปีหรือไม่ เราจะได้ทราบเมื่อมีการเจรจาถึงประเด็นดังกล่าวในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ ณ กรุงเวียนนา
เห็นได้ชัดว่ามีความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่สหรัฐฯ คิดว่าซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะลงมือทำ กับแผนการที่แท้จริงของซาอุฯ แม้ว่าซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะมีประสิทธิภาพในการผลิตน้ำมันเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไปได้ แต่ผู้ผลิตทั้งสองต่างก็แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าต้องการผลิตน้ำมันเพียงเพื่อสนองอุปสงค์ของผู้อุปโภคเท่านั้น และจะไม่ยอมทำหน้าที่ชดเชยปริมาณน้ำมันจากอิหร่าน
ภาพรวมในระยะสั้นและระยะยาวเป็นอย่างไรบ้าง
ตลาดน้ำมันมีความเป็นไปได้หลายทิศทาง การส่งออกน้ำมันอิหร่านที่ลดลงจะทำให้ราคาน้ำมันขึ้นไปอีก แต่จะขึ้นไปถึงเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับความกดดันของสหรัฐฯ ต่อซาอุฯ ในการเพิ่มกำลังการผลิต และซาอุฯ จะต้านทานแรงกดดันดังกล่าวได้มากแค่ไหน นอกจากนี้รัสเซียก็มีแผนที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันในฤดูร้อนที่จะถึงนี้แล้ว และเมื่อโอเปกกับประเทศพันธมิตรพบปะกันที่กรุงเวียนนาช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน ก็เป็นไปได้ว่าข้อตกลงการกำหนดกำลังการผลิตอาจล้มเหลวไม่เป็นท่า หากเกิดกรณีนั้น เหล่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะได้รับแรงกดดันและจะส่งออกน้ำมันเข้าสู่ตลาดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิ่งลงในที่สุด แต่ในทางตรงข้าม จากกระแสการต่อต้านจากรัสเซีย โอเปกอาจยินดีที่จะคงโควตาการผลิตไว้เช่นเดิมและอาจสั่งเพิ่มกำลังการผลิตด้วยเล็กน้อย ซึ่งการกระทำเช่นนั้นจะช่วยรักษาระดับราคาน้ำมันไม่ให้พุ่งสูงจนเกินเหตุหรือดิ่งลงจนเกินไป
แน่นอนว่ากำลังผลิตของสหรัฐฯ ก็เป็นตัวแปรสำคัญอีกตัวแปรหนึ่ง ถ้า WTI สามารถรักษาพื้นที่แดนบวกเอาไว้ได้ และหากท่อส่งน้ำมันสหรัฐฯ เสร็จทันกำหนด อุปทานน้ำมันจากสหรัฐฯ ก็อาจช่วยทดแทนน้ำมันประเภทเบา และชดเชยปริมาณน้ำมันส่งออกของอิหร่านได้ ทั้งนี้ผลผลิตน้ำมันจากสหรัฐฯ ได้ทำระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา และยังไม่มีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่านี้อีกเพียงใด