ผู้ลงทุนต่างยังคงว้าวุ่นใจเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แม้ว่าความแตกตื่นที่ทำให้ตลาดหุ้นดิ่งลงเมื่อวันศุกร์จะคลี่คลายลงไปบ้างแล้วก็ตาม ตลาดหุ้นมีราคาปิดหลายทิศทางอันเนื่องมาจากภาวะลาดลงของส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างพันธบัตร (Inverted Yield Curve) แบบสามเดือน และ แบบอายุสิบปี ที่มีช่วงกว้างเพิ่มขึ้นถึง 5 หน่วย
การเทขายหุ้นที่เกิดขึ้นมาจากผลตอบแทนที่มีลักษณะลาดลงเมื่อวันศุกร์ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007 โดยการลาดลงจะเกิดขึ้นเมื่ออัตราผลตอบแทนของการถือพันธบัตรระยะสั้นกลับสูงกว่าอัตราในระยะยาว และการลาดลงดังกล่าวถือว่าเป็นตัวชี้วัดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่พึ่งพาได้มากที่สุด
คำว่าพึ่งพาได้หมายความว่า หากเฝ้าจับตาดูไปอีกหนึ่งหรือสองปีก่อนที่จะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริง ๆ เช่นนั้นจึงถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่พึ่งพาได้ เพราะโดยปกติแล้วต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งถึงสองปีถึงจะทราบ และที่ผ่านมาก็เคยเกิดสัญญาณเทียมมาแล้วหลายครั้ง กล่าวคือเป็นเพียงการลดลงชั่วคราวที่ไม่ได้ตามมาด้วยสภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด
นอกจากนี้ อดีตประธานเฟด นางเจเน็ต เยลเล็น ได้ให้ความคิดเห็นเมื่อวานที่ฮ่องกงว่า ยังมีอีกหนึ่งสมมติฐานที่เชื่อว่าสาเหตุของการลาดลงมาจากการที่เฟดและธนาคารกลางอื่น ๆ พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการซื้อพันธบัตรเป็นจำนวนหลายล้านล้านดอลลาร์ จึงทำให้กราฟผลตอบแทนพันธบัตรเป็นแนวราบ และส่งผลให้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการลาดลงชั่วคราวหรือความผันผวนนั่นเอง
นางเยลเล็นยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ตลาดอาจกำลังต้องการให้เกิดการ ลดอัตราดอกเบี้ย มากกว่าการตั้งรับต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอย เห็นได้ชัดจากหมู่ผู้ลงทุนตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีความเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะเกิดการลดดอกเบี้ยในสิ้นปีนี้ และไม่มีใครคาดหวังว่าจะมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในอีกหลายเดือนข้างหน้านี้ โดยเมื่อวันจันทร์ ณ ที่ประชุมที่ฮ่องกง ประธานเฟดประจำรัฐชิคาโก นายชาร์ลส์ อีวานส์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า เขาเชื่อว่าคณะผู้ร่างนโยบายอาจพิจารณาการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2020
เช่นเดียวกับที่ประธานเฟด นายเจอโรม เพาเวลล์ กล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายอีวานส์ยังคงมั่นใจในสภาวะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แม้ว่าเฟดจะปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้เหลือเพียง 2.1 เปอร์เซนต์ แต่สำหรับอีวานส์เองกลับไม่ได้มองในแง่ดีขนาดนั้น และคาดไว้ว่าอัตราการเติบโตจะอยู่ในช่วง 1.75 ถึง 2 เปอร์เซนต์เท่านั้น
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่แสนบีบคั้นจาก Brexit ก็ยังเดาทิศทางไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในอนาคต และเรื่องที่คาดเดาไม่ได้เช่นนี้จึงทำให้เหล่าผู้ลงทุนตกอยู่ในความหวาดระแวงและอ่อนไหวต่อตัวจุดชนวนต่าง ๆ อาทิ กราฟส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรที่ลาดลงเมื่อวันศุกร์
ความคาดหวังต่อจากนี้คือ ในอนาคตอันใกล้นี้ส่วนต่างที่ลาดลงจะปรับแก้ตัวของมันเอง นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าการเกิดส่วนต่างที่ลาดลงจะต้องคงอยู่เป็นระยะเวลานานระดับหนึ่งเสียก่อน เช่น ราวหนึ่งไตรมาส จึงจะถือว่าเป็นปัจจัยที่ใช้คาดการณ์การเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ หลายฝ่ายจึงเห็นว่าการเทขายหุ้นเมื่อวันศุกร์เป็นเพียงแค่การตีตนไปก่อนไข้ เนื่องจากในอีกหลายเดือนข้างหน้าจะยังคงมีโอกาสในการลงทุนมากมายให้แก่นักลงทุนจนกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นจริง ๆ ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วสัญญาณเตือนดังกล่าวจะเป็นสัญญาณที่แท้จริงก็ตาม