Economic Highlight
ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน และดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของจีน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด, BOE และ ECB
**ราคาทองคำ = Spot Gold price (XAUUSD)
FX Highlight
- สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ขณะเดียวกันบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ย้ำจุดยืน ไม่รีบลดดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มเงินเฟ้อชะลอลงชัดเจน กลับสู่เป้าหมาย 2%
- โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ทำให้เงินบาทมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าต่อทดสอบแนวต้านโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากเผชิญปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม
- หากผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น เช่น ตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด หรือถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งมีลักษณะ Hawkish ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อได้ไม่ยาก โดยต้องจับตาโซนแนวต้าน 105 จุด ของดัชนีเงินดอลลาร์ DXY ว่าจะสามารถผ่านได้หรือไม่
- อนึ่ง ควรจับตาทิศทางเงินยูโร (EUR) ด้วยเช่นกัน โดยต้องรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนที่จะส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของ ธนาคารกลางยุโรป (ECB)
- นอกจากนี้ เรามองว่า โฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ ก็ยังคงมีผลกระทบต่อเงินบาท
- และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ควรจับตาทิศทางเงินหยวนของจีน (CNY) ซึ่งต้องรอลุ้น รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของจีน
- สำหรับ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติมีโอกาสขายสุทธิสินทรัพย์ไทยได้ หากบรรยากาศในตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยง
- ในเชิงเทคนิคัล จาก Time Frame รายวัน สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD ชี้ว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงบ้าง หรือ อาจแกว่งตัว sideways ส่วนสัญญาณจาก Stochastic ชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideways
- ส่วนของ Time Frame ที่สั้นลง เช่น H4 และ H1 สัญญาณ จากทั้ง MACD และ Stochastic ต่างยังคงสะท้อนว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways หรือแข็งค่าขึ้นได้ ทำให้โดยรวมเราประเมินว่า เงินบาทอาจยังแกว่งตัว sideways ไปก่อน
Gold Highlight
- ราคาทองคำเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่อง จนราคาลดลงกว่า -100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด
- เราคงมุมมองเดิมว่า แนวโน้มราคาทองคำจะขึ้นกับ ทิศทางเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากปัจจัยแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยในสัปดาห์นี้ ควรระวังความผันผวนของราคาทองคำ ในช่วงตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน
- เราคงมุมมองเดิมของเราก่อนหน้า ที่ประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำทะลุโซน 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจเปิดความเสี่ยงที่ราคาทองคำจะย่อตัวลงได้ โดยเฉพาะหากตลาดกลับมากังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI, Stochastic และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวลดลงต่อ หรือ แกว่งตัว sideways ทว่าสัญญาณจาก Time Frame ที่สั้นลง อย่าง H4 และ H1 ต่างก็ชี้ว่า ราคาทองคำอาจ แกว่งตัว sideways