Economic Highlight
ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุม FOMC ของเฟด และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) และ ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ พร้อมทั้งรอจับตา รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน และความเสี่ยงสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
FX Highlight
- สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways ท่ามกลางปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า อาทิ ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด แรงขายสินทรัพย์ไทย และโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทว่า เงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ และโฟลว์ทยอยขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน
- เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 2 ครั้ง เช่น ลดดอกเบี้ยราว 1 ครั้ง หรือไม่ลดเลยในปีนี้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน
- ส่วนผลการประชุมเฟดนั้น เรามองว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25%-5.50% พร้อมย้ำจุดยืนใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด จนกว่าจะมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อจะสามารถกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้ ทว่า มุมมองดังกล่าวของเฟด ก็เป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดได้รับรู้ไปแล้วพอสมควร ทำให้ผลกระทบต่อตลาดการเงิน โดยเฉพาะเงินดอลลาร์อาจมีไม่มากนัก
- ทว่า หากเฟดเริ่มส่งสัญญาณว่า มีโอกาสที่เฟดจะ “ขึ้น” ดอกเบี้ยได้ ในกรณีที่ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง จนอัตราเงินเฟ้อเสี่ยงเร่งตัวขึ้น เราคาดว่า เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้
- นอกเหนือจากแนวโน้มเงินดอลลาร์ เรามองว่า ควรจับตาทิศทางสกุลเงินหลักฝั่งเอเชีย ทั้งเงินหยวนจีน (CNY) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY)
- โดยในส่วนเงินหยวนจีนก็เสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าได้เร็วและแรง หากทางการจีนยอมทยอยให้เงินหยวนผันผวนอ่อนค่าลง ซึ่งการอ่อนค่าของเงินหยวนจีน (เช่นทะลุโซน 7.30-7.35 หยวนต่อดอลลาร์) ก็อาจส่งผลกระทบกดดันให้บรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียผันผวนอ่อนค่าได้
- ส่วนในฝั่งเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินเยนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เพิ่มโอกาสที่ทางการญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงค่าเงินเยน หลังเงินเยนได้กลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จากโซนต่ำกว่า 156 เยนต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จนทะลุระดับ 158 เยนต่อดอลลาร์ ล่าสุด
- นอกจากนี้ หากบรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเลือกถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ซึ่งต้องจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน (โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ และหุ้นกลุ่ม Semiconductor) และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
- สำหรับ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มกลับมาทยอยซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้ หลังตลาดหุ้นไทยได้ปรับฐานลงมาพอสมควร ขณะที่ Valuation ถือว่ายังถูกอยู่ ส่วนคาดการณ์ผลกำไรก็มีทิศทางดีขึ้น ส่วนฝั่งตลาดบอนด์นั้น ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และการปรับคาดการณ์ของผู้เล่นในตลาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ในปีนี้ ก็ได้สะท้อนไปในบอนด์ยีลด์ไทยพอสมควรแล้ว
- อีกปัจจัยที่สามารถกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้ในช่วงเดือนเมษายน จนถึงเดือนพฤษภาคม คือ โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจสูงราว 1.2 หมื่นล้านบาทในสัปดาห์นี้
- อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์/ขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ตั้งแต่โซน 37 บาทต่อดอลลาร์ ไปต้นไป ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง แต่หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวก็สามารถอ่อนค่าต่อสู่ระดับ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนอ่อนค่าสุดในปี 2023 ได้ไม่ยาก
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจากทั้ง RSI MACD และ Stochastic (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้แผ่วลงมากขึ้น และเงินบาทก็มีโอกาสแกว่งตัว sideways โดยต้องจับตาโซนแนวต้านแถว 37.00 บาทต่อดอลลาร์ (หากอ่อนค่าต่อชัดเจน จะมีแนวต้านถัดไป 37.25 บาทต่อดอลลาร์ )
- ส่วนของ Time Frame ที่สั้นลง เช่น H4 และ H1 สัญญาณจากทั้ง RSI MACD และ Stochastic ต่างสะท้อนว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ตามโมเมนตัมการอ่อนค่าที่ชะลอลง โดยมีโซนแนวต้านแถว 37.10 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับจะอยู่ในช่วง 36.80 บาทต่อดอลลาร์ (โซนถัดไป 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์)
Gold Highlight
- ราคาทองคำเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด อย่างไรก็ดี ราคาทองคำก็ยังขาดปัจจัยสนุบสนุนเพิ่มเติม ทำให้ราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้
- เรามองว่า แนวโน้มราคาทองคำจะขึ้นกับ ทิศทางเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากปัจจัยแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยในสัปดาห์นี้ ควรระวังความผันผวนของราคาทองคำ ในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด
- ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่เริ่มกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง จากการเร่งโจมตีเมืองราฟาห์ของกองทัพอิสราเอล ก็พอจะเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงราคาทองคำในช่วงนี้ได้บ้าง และหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้านล่าสุดแถว 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้
- ทั้งนี้ หากความเสี่ยงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางคลี่คลายลง แต่ตลาดยังมีความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ราคาทองคำก็อาจปรับฐานได้พอสมควร
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า ราคาทองคำยังคงเสี่ยงปรับฐานต่อได้ ส่วนสัญญาณจาก Time Frame ที่สั้นลง อย่าง H4 และ H1 ชี้ว่า ราคาทองคำอาจแกว่งตัว sideways ไปก่อน จนกว่าจะมีปัจจัยหนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม