Economic Highlight
ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ และอังกฤษ นอกจากนี้ ควรจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
FX Highlight
- เงินบาทอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง กอปรกับ เงินดอลลาร์ก็ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด
- เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านเชิงจิตวิทยาแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ หากผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่คาดไว้ หรือ เฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่ประเมิน (ล่าสุดตลาดมองเฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคม)
- โดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด นั้นจะขึ้นกับ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
- ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีกของทางอังกฤษ เช่นกัน โดยหากตลาดมองว่า BOE ลดดอกเบี้ย “เร็วกว่า” เฟด ก็อาจกดดันสกุลเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และ หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
- นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ หลังล่าสุดราคาทองคำได้ย่อตัวใกล้โซนแนวรับระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจรอเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
- ในส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจยังมีอยู่บ้าง ทั้งในส่วนของแรงขายหุ้นและบอนด์
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ โดยต้องจับตาว่า เงินบาทจะอ่อนค่าทดสอบทะลุ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ เพราะการอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าต่อสู่ระดับ 36.15 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก และปิดฉากเทรนด์แข็งค่าของเงินบาทที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อนหน้า
- ส่วนของ Time Frame ที่สั้นลง เช่น H4 และ H1 สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD ที่ชี้ว่า เงินบาทอาจผันผวนแข็งค่าขึ้นบ้าง หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนแนวรับแรกจะอยู่ในโซน 35.60-35.70 บาทต่อดอลลาร์
Gold Highlight
- ราคาทองคำเคลื่อนไหวผันผวน ไปตามการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ทั้งนี้ ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ซื้อของผู้เล่นในตลาด หลังราคาทองคำได้ย่อตัวใกล้โซนแนวรับระยะสั้น
- สัปดาห์นี้ ทิศทางราคาทองคำยังคงขึ้นกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด
- โดยการปรับฐานของราคาทองคำอาจยังไม่จบ และมีโอกาสที่ราคาทองคำจะปรับตัวลง หลุดแนวรับระยะสั้นแถว 2,020-2,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยและช้ากว่าที่ตลาดประเมินไว้ก่อนหน้า
- ควรระวังความผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งในสัปดาห์นี้ ช่วงต้นสัปดาห์ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดมีโอกาสที่จะอยู่ในโทน Hawkish กดดันราคาทองคำได้
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า ราคาทองคำยังมีโอกาสปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่วนสัญญาณจาก Time Frame ที่สั้นลง อย่าง H4 และ H1 ชี้ว่า โมเมนตัมการปรับตัวลดลงของราคาทองคำอาจชะลอลงบ้าง ทำให้ราคาทองคำอาจย่อตัวลง ในลักษณะ sideways down โดยต้องจับตาโซนแนวรับแถว 2,020-2,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนแนวต้านยังคงเป็นช่วง 2,070-2,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์