เงินเฟ้อเดือนกันยายนลดลงสู่ระดับ 0.30%
ตามการลดลงของราคาสินค้าพลังงาน และผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล
- Headline Inflation September 2023
Actual: 0.30% Previous: 0.88%
KTBGM: 0.86% Consensus: 0.70%
- กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายนลดลงสู่ระดับ 0.30% กดดันโดยราคาสินค้าพลังงานที่ลดลง และผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล ขณะเดียวกัน ราคาเนื้อสัตว์ รวมถึงผักสด ก็ปรับตัวลดลง กดดันราคารสินค้าหมวดอาหาร
- สำหรับไตรมาสที่ 4 กระทรวงพาณิชย์มองว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้ม “ชะลอลง” ตามการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาเนื้อสัตว์ ผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ผลกระทบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดและฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้า ขณะที่ผลกระทบของภาวะ El Nino การอ่อนค่าของเงินบาท และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจพอช่วยหนุนราคาสินค้าและบริการได้ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ “ปรับลดคาดการณ์” อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ สู่กรอบ 1.0%-1.7% (ค่ากลาง 1.35%) จากเดิมกรอบ 1.0%-2.0%
- เราคงมุมมองเดิมว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% หลังอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มไม่ต่างจากคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุด อย่างไรก็ดี การประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ โดยเฉพาะผลกระทบจากมาตรการ Digital Wallet และแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่อาจทรงตัวในโซน 80-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
- ตราบใดที่ อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่เกิน +0.25%m/m กนง. อาจไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อมากนักและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ก็ยังมีความเหมาะสม ดังนั้น เราจึงมองว่า บอนด์ยีลด์ของไทยที่มีการปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็ควรย่อตัวลงบ้าง เพื่อสะท้อนโอกาสในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ที่เพิ่มสูงขึ้น
กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 0.30% ลดลงจากระดับ 0.88% ในเดือนสิงหาคม
- กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนล่าสุด ลดลง -0.36% จากเดือนก่อนหน้า (เรามอง +0.20%) ตามการปรับตัวลดลงของราคาในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ถึง -0.5% นำโดย หมวดเคหสถาน -1.3% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการลดค่าไฟฟ้า ขณะเดียวกันราคาน้ำมันเชื้อเพลิงก็ลดลง -0.1% นอกจากนี้ ราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ก็พลิกกลับมาลดลง -0.16% ตามการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาเนื้อสัตว์ ผักสด รวมถึงราคาอาหารสำเร็จรูป
- เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงสู่ระดับ 0.30% จาก 0.88% ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยหนุนยังคงเป็นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ ในขณะที่ค่ากระแสไฟฟ้า ลดลงตามมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งนี้ ราคาหมวดอาหาร พลิกกลับมาลดลงครั้งแรกในรอบ 23 เดือน ตามการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาเนื้อสัตว์ ส่วนราคาผักสดก็ลดลง ตามผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ ราคาข้าว ไข่และผลิตภัณฑ์นมยังคงสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า และเมื่อหักราคาอาหารสดรวมถึงพลังงานออก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 สู่ระดับ 0.63% จากระดับ 0.79% ในเดือนก่อนหน้า
เราคงมุมมองเดิม ว่า กนง. ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้วที่ระดับ 2.50% หลังอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเป็นไปตามคาดการณ์ของ กนง. ล่าสุด
- การชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุด แม้ว่าจะสวนทางกับที่เราคาดการณ์ไว้ แต่ก็มองได้ว่าเป็นสัญญาณที่อาจจะทำให้ กนง. คลายกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในอนาคตได้ โดยจากการประเมินล่าสุดของเรา พบว่า หากโมเมนตัมอัตราเงินเฟ้อไม่เกินระดับ +0.25%m/m ก็จะทำให้ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไม่ต่างจากคาดการณ์ของ กนง. ทำให้ มุมมองของ กนง. ล่าสุด ที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจล่าสุด นั้นไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้ การประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของเราและ กนง. เปลี่ยนแปลงไปได้ คือ 1. ทิศทางราคาน้ำมันดิบ และ 2. ผลกระทบจากมาตรการ Digital Wallet โดยในส่วนของราคาน้ำมันดิบ เรามองว่า ราคาน้ำมันดิบอาจแกว่งตัวในกรอบ 80-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอาจไม่ได้พุ่งสูงเกินระดับ 120 หรือ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากทางกลุ่ม OPEC+ อาจไม่สามารถลดกำลังการผลิตได้นานหรือลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม โดยเฉพาะในจังหวะที่ทางสหรัฐฯ เริ่มกลับมาลงทุนในธุรกิจพลังงานมากขึ้นและเริ่มแย่งส่วนแบ่งการตลาด ขณะเดียวกัน ทางกลุ่ม OPEC+ ก็ยังต้องพึ่งพารายได้จากพลังงานเป็นหลัก นอกจากนี้ หากเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ชะลอตัวลงชัดเจนตามที่เราประเมินไว้ ก็จะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นได้ยาก ส่วนในประเด็น Digital Wallet แม้ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน แต่เราประเมินเบื้องต้นว่า มาตรการดังกล่าวอาจไม่ได้ช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นไปมาก เมื่อพิจารณาว่า fiscal multiplier ของมาตรการแจกเงิน ก็ไม่สูงเพียง 0.4 เท่า และหากเป็นการแจกเงินผ่าน Block chain ก็อาจจะมี fiscal multiplier ที่น้อยกว่านั้นได้
- ตลาดอาจเริ่มกลับมามองว่า กนง. ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ทำให้บอนด์ยีลด์ของไทยที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น “เริ่มย่อตัวลงได้บ้าง” โดยเราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ระยะสั้น อย่าง บอนด์ยีลด์ 2 ปี ของไทยอาจแกว่งตัวใกล้ระดับ 2.50%-2.60% หากสมมติฐาน terminal rate ของ กนง. ที่ 2.50% นั้นถูกต้อง ส่วนบอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี เราอาจ”มองต่าง” จากผู้เล่นในตลาดและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ เนื่องจากสมมติฐานเดิม คือ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงชัดเจน ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวลดลงได้ (อาจลงมาได้ถึง 4.00% ณ สิ้นปี) และจะช่วยให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ของไทย อาจย่อลงมาแถว 3.10%-3.20% ได้ไม่ยาก ณ ช่วงสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ เรายอมรับว่า ปัจจัยที่น่ากังวล คือ ผลกระทบจากมาตรการ Digital Wallet ในส่วนของการหาแหล่งเงินทุนสำหรับมาตรการดังกล่าว (รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ของรัฐบาล) ซึ่งอาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจอยู่ในระดับสูงได้มากกว่าที่เราประเมินไว้