Economic Highlight
ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมธนาคารกลางหลัก (เฟด, ECB และ BOJ) รวมถึงรายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ บรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ และควรจับตาสถานการณ์การเมืองไทย (โหวตเลือกนายกฯ) อย่างใกล้ชิด
*ราคาทองคำ = สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.
FX Highlight
- สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของสกุลเงินหลัก อย่าง เงินปอนด์ (GBP) และเงินเยน (JPY) และแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินผันผวน
- เราคงมุมมองเดิมว่า เงินดอลลาร์ยังพอมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย หากตลาดการเงินพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ในกรณีที่ตลาดผิดหวังกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ ผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ (Microsoft, Meta, Alphabet)
- ทั้งนี้ ต้องติดตามผลการประชุมธนาคารกลางหลักอย่างใกล้ชิด เพราะหากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า พร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ เงินดอลลาร์ก็อาจย่อตัวลงได้บ้าง
- อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์คงไม่ได้อ่อนค่าลงชัดเจนหรืออาจรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง หากทั้ง ECB และ BOJ ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ พร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น (ในกรณีของ BOJ)
- ปัจจัยการเมืองของไทยอาจมีความไม่แน่นอนอยู่ ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่รีบเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยและอาจทยอยขายทำกำไรได้บ้าง จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของการเมืองไทย
- อนึ่ง หากนักลงทุนต่างชาติอาจกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยมากกว่าคาดได้ ในกรณีที่มีการเสนอชื่อแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเพื่อเข้าสู่รอบการโหวตนายกฯ ครั้งถัดไปและบรรดาสมาชิกรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่งต่างเห็นชอบกับแคนดิเดตดังกล่าว
- สำหรับฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในส่วนตลาดบอนด์ เราเห็นสัญญาณการกลับมาซื้อบอนด์ระยะกลาง-ระยะยาว ซึ่งฟันด์โฟลว์ดังกล่าวอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง แต่การเข้าซื้อดังกล่าวก็อาจเป็นลักษณะ Trading ที่นักลงทุนต่างชาติพร้อมขายทำกำไร หากบอนด์ยีลด์ระยะกลาง-ยาว ปรับตัวลดลง
- อีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อทิศทางค่าเงินบาท คือ โฟลว์ธุรกรรมทองคำ โดยเราเห็นโฟลว์ขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งได้ช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มกลับมาและยังมีการเกิด Hammer Pattern ชี้ว่าเงินบาทอาจยังไม่กลับมาแข็งค่าชัดเจนในระยะสั้นได้
- นอกจากนี้ ในส่วนของ Time Frame ที่สั้นลง เช่น H4 สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD ยังคงชี้ว่า เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อได้ แต่ Time Frame H1 เริ่มเห็นการเกิด Bearish Divergence พร้อมกับการตัดลงของของ MACD ชี้ว่าเงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก โดยต้องผ่านโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปให้ได้ก่อน (ส่วนแนวต้านถัดไปคือ โซน 34.75 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่แนวรับจะอยู่ในช่วง 34.20 บาทต่อดอลลาร์ และ 34.00 บาทต่อดอลลาร์
Gold Highlight
- ราคาทองคำเคลื่อนไหวผันผวน โดยมีทั้งจังหวะปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน ตามการย่อลงของบอนด์ยีลด์ระยะยาว ก่อนที่จะพลิกกลับมาย่อตัวลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวในช่วงปลายสัปดาห์
- สัปดาห์นี้ ทั้งผลการประชุมธนาคารกลางหลักและรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงิน เงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์ระยะยาวและราคาทองคำได้อย่างมีนัยสำคัญ
- เราประเมินว่า ราคาทองคำอาจผันผวนในกรอบกว้าง แต่มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นทดสอบ/ทะลุโซนแนวต้านได้ หากเฟด รวมถึงธนาคารกลางหลักอื่นๆ ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจน แต่ในกรณีดังกล่าว การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำอาจถูกจำกัดด้วยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า ราคาทองคำมีโอกาสแกว่งตัว sideway up หรือทยอยปรับตัวขึ้นต่อได้ แต่หากพิจารณา Time Frame ที่สั้นลง อย่าง H4 จะเห็นว่า ราคาทองคำยังมีแนวโน้มย่อตัวลงต่อ แต่ก็อาจย่อตัวลงไม่มาก เพราะในส่วน Time Frame H1 ราคาทองคำเริ่มส่งสัญญาณ Bullish Divergence และ Bullish signal จาก MACD ชี้ว่า ราคาทองคำมีโอกาสรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง แต่อาจติดโซนแนวต้าน 1,970-1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์
- เราคงเป้าราคาทองคำไว้ที่ 2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะราคาทองคำปรับฐานในการทยอยเข้าซื้อได้ (อาจรอแถวโซน 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ Target 2,100, Stop loss 1,900)