เงินเฟ้อเดือนมิถุนายนชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ 0.23%

เผยแพร่ 05/07/2566 15:10
อัพเดท 09/07/2566 17:32

ตามการปรับตัวลงของราคาพลังงาน อาหาร และฐานราคาที่สูงปีก่อน

  • Headline Inflation June 2023

Actual: 0.23%       Previous: 0.53% 

KTBGM: 0.04%     Consensus: 0.15%

  • กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายนชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ 0.23% จากการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าพลังงานและราคาสินค้าหมวดอาหาร โดยเฉพาะ เนื้อสัตว์ รวมถึงฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้า
  • สำหรับไตรมาส 3 กระทรวงพาณิชย์มองว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราต่ำตามฐานราคาที่สูงในปีก่อน ส่วนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงก็อยู่ในระดับต่ำจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยก็อาจส่งผลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้ ตลอดทั้งปี กระทรวงพาณิชย์ปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ในกรอบ 1.0%-2.0% จากเดิม 1.7%-2.7%
  • เรามองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงต่อเนื่องนั้น เป็นสิ่งที่ตลาดรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้คาดการณ์ไว้แล้ว ซึ่งถ้าประเมินจากท่าที “Outlook Dependent” ของ ธปท. ที่ยังคงกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นหรือมีการใช้นโยบายของว่าที่รัฐบาลใหม่ เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น รวมถึงการส่งผ่านต้นทุน และปัญหา El Nino ทำให้เรายังมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.25% ในการประชุมเดือนสิงหาคมได้ 
  • แม้ว่ามุมมองการขึ้นดอกเบี้ยต่อของ ธปท. เราอาจจะผิด แต่เรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะกลาง-ยาวของไทยก็อยู่ในระดับที่น่าสนใจอยู่ ทำให้เราคงแนะนำให้รอจังหวะยีลด์ปรับตัวขึ้นในการเข้าซื้อบอนด์ ซึ่งหาก ธปท. ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยต่อจริงตามคาด ก็จะช่วยทำให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลงได้บ้าง 

กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ        0.23% ลดลงจากระดับ 0.53% ในพฤษภาคม

  • กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนล่าสุด เพิ่มขึ้น +0.60% จากเดือนก่อนหน้า (เรามองเพียง +0.40%) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม (+1.05%) เช่น ค่าไฟฟ้า หลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า รวมถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่ราคาในหมวดอาหารและครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปรับตัวลดลง -0.02% กดดันโดยการปรับตัวลดลงของราคาเนื้อสัตว์ -1.3% 
  • เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ 0.23% จาก 0.53% ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยหนุนยังคงเป็นราคาหมวดอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามความต้องการบริโภคและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศที่กระทบต่อผลผลิตในภาคเกษตร อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันอัตราเงินเฟ้อ มาจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ และระดับฐานราคาสินค้าและบริการที่สูงในปีก่อนหน้า และเมื่อหักราคาอาหารสดรวมถึงพลังงานออก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ชะลอลงต่อสู่ระดับ 1.32%
  • จากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 3 ที่อาจขยายตัว “ในอัตราต่ำ” ทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี จากระดับ 1.7%-2.7% (ค่ากลาง 2.2%) สู่ระดับ 1.0%-2.0% (ค่ากลาง 1.5%)

ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออยู่ ทำให้เรายังคงมองว่า กนง. มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อสู่ ระดับ 2.25%

  • การชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อนั้นเป็นไปตามที่ตลาดรวมถึงทาง ธปท. คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว เนื่องจากฐานราคาในปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูงและราคาสินค้าพลังงานที่เริ่มทรงตัวในกรอบ และต่ำกว่าระดับในปีก่อนหน้าพอสมควร อย่างไรก็ดี เรามองว่า อัตราเงินเฟ้อยังมีโอกาสทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้ โดยไม่ว่าจะเป็นกรณีพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล นโยบายเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค หรือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็มีโอกาสหนุนให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ บรรดาผู้ประกอบการก็โอกาสส่งผ่านต้นทุนมากขึ้น หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้น และที่น่าสนใจ คือ ปัญหาภัยแล้งจากภาวะ El Nino ที่คาดว่าจะมีความรุนแรงใกล้เคียงกับช่วงปี 2014-2016 ก็อาจหนุนให้ราคาสินค้าในหมวดอาหาร เช่น สินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจากงานสัมมนา Monetary Policy Forum ล่าสุด ทาง ธปท. ยังคงมีความกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อผ่านราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหาร (Food in core) ที่ราคาอาจไม่ได้ปรับตัวลงได้ง่าย หรือ ถ้าขึ้นไปแล้วก็จะลงยาก (มีความหนืดสูง) ทำให้เรามองว่า ธปท. อาจยังมีความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออยู่ ซึ่งเมื่อประกอบกับท่าที “Outlook Dependent” ของ ธปท. และมุมมองของ ธปท. ที่อาจต้องการให้ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย “เป็นบวก” เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ระดับศักยภาพ ที่ธปท. ประเมินว่า อาจเป็นช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า “ยังมีโอกาส” ที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง +0.25% สู่ระดับ 2.25% ในการประชุมเดือนสิงหาคม
  • หากพิจารณายีลด์เคิร์ฟของไทยล่าสุด จะเห็นว่า ยีลด์เคิร์ฟยังคงมีความชันอยู่พอสมควร ทำให้เรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะกลางและบอนด์ยีลด์ระยะยาว ในระดับปัจจุบันก็มีความน่าสนใจมากขึ้น และคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนควรใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip) ซึ่งแม้ว่า มุมมองการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อของ ธปท. ของเรา อาจผิดไปจากความเป็นจริง หาก ธปท. ลดความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ หรือ ภาพเศรษฐกิจไทยชะลอลงมากกว่าคาด ในกรณีดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดก็จะลดความคาดหวังการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. ลง ทำให้บอนด์ยีลด์ระยะกลาง-ระยะยาว ก็อาจปรับตัวลดลงต่อได้บ้าง
  • ทั้งนี้ แม้เราจะยังคงแนะนำให้นักลงทุนทยอยเข้าซื้อสะสมพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะกลาง-ระยะยาว แต่ในส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือหุ้นกู้เอกชน เรามองว่า นักลงทุนควรเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น โดยนักลงทุนที่อาจรับความเสี่ยงได้ไม่มาก ก็อาจเน้นลงทุนในหุ้นกู้ Investment Grade มากกว่า High Yield และอาจเน้นลงทุนในหุ้นกู้เอกชนระยะสั้น เพื่อให้ Break-even yield (Yield/Duration) อยู่ในระดับสูงเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากการปรับตัวขึ้นของ credit spread ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้พอสมควร ก็อาจพิจารณาคัดเลือกหุ้นกู้ที่มี Credit Rating ดีขึ้น จากเดิมที่เน้น High Yield หรือ Non-rated เพื่อลดความเสี่ยงในการเผชิญการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้และปัญหาสภาพคล่องของบริษัทเอกชนบางส่วน ซึ่งเราจะติดตามอย่างใกล้ชิดว่า เริ่มมีจำนวนบริษัทเอกชนเผชิญปัญหาสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ 

ความคิดเห็นล่าสุด

กำลังโหลดบทความถัดไป...
การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย