เฟดมีมติ “คง”ดอกเบี้ย ตามคาด แต่ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนแตะระดับ 5.75% ในปีนี้
- Fed Funds Target Range
Actual: 5.00-5.25% Previous: 5.00-5.25%
KTBGM: 5.00-5.25% Consensus: 5.00-5.25%
-
- คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.00-5.25% ตามคาด แต่ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อสู่ระดับ 5.50-5.75% ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงสู่ระดับ 4.6% ในปี 2024 และ 3.4% ในปี 2025
-
- เมื่อเทียบประมาณการเศรษฐกิจในการประชุมเดือนมีนาคม เฟดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ พร้อมกับปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE สะท้อนว่าเฟดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ เฟดจะคอยประเมินผลกระทบและติดตามพัฒนาการของข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด หลังเกิดภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน ทั้งนี้ ประธานเฟดมองว่า “การคงดอกเบี้ยในรอบนี้” เพื่อให้เฟดมีเวลาประเมินข้อมูลเศรษฐกิจและผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม
-
- แม้ว่า Dot Plot ใหม่ของเฟดชี้ว่าเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่เราคงมุมมองเดิมว่า เฟดอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว หลังภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อต่างชะลอลง และภาวะสินเชื่อก็มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากข้อมูลการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจหนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อได้
-
- Next FOMC Decision: July 27 2023 (1 AM BKK)
คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% แต่ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อแตะระดับ 5.50-5.75%
- FOMC มองข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดสะท้อนการขยายตัวปานกลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยภาวะตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี แม้ว่าระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังมีความแข็งแกร่งอยู่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อได้ และแม้ว่าผลกระทบดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอน แต่ความเสี่ยงเงินเฟ้อยังคงเป็นสิ่งที่เฟดให้ความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น คณะกรรมการจึงมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายพร้อมกับเดินหน้าลดงบดุล เพื่อให้เฟดสามารถประเมินข้อมูลเศรษฐกิจและแนวโน้มนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดย FOMC มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%
- สำหรับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตนั้น FOMC จะติดตามพัฒนาการข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยคณะกรรมการมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกบ้าง อาจมีความเหมาะสม เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายได้ในอนาคต ส่วนประมาณการเศรษฐกิจและคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ย (Dot Plot) ล่าสุด บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดได้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้ และอัตราการเงินเฟ้อ โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ที่สนับสนุนให้เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.75%
- ประธานเฟด ได้ระบุว่า การคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้มีความจำเป็น เพื่อให้เฟดมีเวลาในการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินมากขึ้น นอกจากนี้ ประธานเฟดเน้นย้ำว่า “เฟดก็พร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ” เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ หลังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงน้อยกว่าที่เฟดต้องการ
เรามองต่างจาก Dot Plot ใหม่ของเฟด และคงมุมมองเดิมว่า เฟดจะจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยที่ 5.25% แต่ไม่ปิดโอกาสที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งสู่ระดับ 5.50% หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่ง
- แม้ว่า Dot Plot ใหม่ล่าสุดของเฟดและถ้อยแถลงของประธานเฟด จะสะท้อนว่า เฟดพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อราว +50bps แต่เรามองว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลายส่วนเริ่มส่งสัญญาณชะลอลงมากขึ้น โดยเมื่อเราเทียบกับข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 1990 พบว่า ข้อมูลเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงเศรษฐกิจชะลอชัดเจน หรือ ใกล้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยกเว้นข้อมูลตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งอยู่ นอกจากนี้ เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้น แม้จะเป็นการชะลอตัวลงช้า ขณะเดียวกัน เราก็มองว่า ภาวะสินเชื่อในสหรัฐฯ ก็มีความตึงตัวมากขึ้นและมีโอกาสที่ รายงานภาวะสินเชื่อ (Senior Loan Officer Opinion Survey) ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งอาจออกมาใกล้ช่วงการประชุมเฟดเดือนกรกฎาคม จะชี้ว่าภาวะสินเชื่อมีความตึงตัวมากยิ่งขึ้น และหากดูความเสี่ยงสินเชื่อในสหรัฐฯ ผ่านรายงานหนี้ครัวเรือนของเฟดนิวยอร์ก (Household Debt & Credit Report) ในไตรมาสแรก จะเห็นได้ว่า อัตราการค้างชำระหนี้ (Delinquency Rate) ของหนี้บัตรเครดิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในระยะถัดไปได้ ดังนั้น หากประเมินจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ รวมถึงภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวมากขึ้น เรายังคงมองว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ก่อนที่เฟดจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลงได้ เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลงเข้าสู่ภาวะถดถอย
- อย่างไรก็ดี เราไม่ปิดโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก +25bps สู่ระดับ 5.25-5.50% หากยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนมิถุนายน รวมถึงรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายน ซึ่งจะรับรู้ก่อนการประชุมเฟดครั้งถัดไป ยังคงสะท้อนภาพตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงช้า
- ไม่ว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ จบรอบการขึ้นดอกเบี้ย เรามองว่า วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดก็ใกล้สิ้นสุดลงแล้ว สะท้อนว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสพลิกกลับมาเป็นเทรนด์อ่อนค่าลง ซึ่งเราประเมินว่า มีโอกาสที่ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) อาจแตะระดับ 95 จุด ได้ในช่วงสิ้นปี ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดภาพดังกล่าวได้ คือ แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ เช่น BOE, ECB และ BOJ ดังนั้น เราจึงมองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีต่อไม่มาก จากปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และมองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ในการทยอยเพิ่มสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น)
- ท่าทีของเฟดที่ยังส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์มีการปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง แต่ทว่า เรามอง การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และมองว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยก็ยังมีอยู่บ้าง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็ยังคาดหวังว่า เฟดมีโอกาสที่จะทยอยลดดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปี หรือ ต้นปีหน้า ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาด จะชะลอการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวได้ และเรามองว่า หากบอนด์ยีลด์ระยะยาวมีการปรับตัวขึ้น ก็จะเป็นจังหวะในการทยอยเข้าซื้อ เช่นเดียวกันกับในฝั่งไทย หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี ปรับตัวขึ้นต่อ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดก็สามารถทยอยเข้าซื้อได้