เตรียมรับมือ ความผันผวน ในสัปดาห์การประชุมเฟด และ ECB รวมถึง รายงานยอดการจ้างงาน

เผยแพร่ 01/05/2566 23:20
อัพเดท 09/07/2566 17:32
  • สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ ในสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้ช่วยหนุนให้ตลาดการเงินกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น
  • เตรียมรับมือความผันผวนในสัปดาห์ที่ตลาดจะเผชิญทั้งการประชุมเฟด และ การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) พร้อมรอลุ้นรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ และ รายงานผลประกอบการ

  • เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่าเฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงได้เร็ว หากเฟดส่งสัญญาณเตรียมหยุดขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ ECB กลับย้ำจุดยืนพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ส่วนค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบเดิมต่อ โดยปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าอาจมาจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ โฟลว์ซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟดและECB ซึ่งเป็นวันหยุดของตลาดการเงินไทย ในเชิงเทคนิคัล เส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน (แถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์) ยังคงเป็นแนวต้านแรกของเงินบาท

  • มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้
    33.80-34.50
    บาท/ดอลลาร์

  • มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

    • ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาใกล้ชิด คือ การประชุมเฟด (รู้ผลการประชุมในช่วง 01.00 น. ของวันที่ 4 พฤษภาคม ตามเวลาในประเทศไทย) โดยเราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ถึงจะชะลอลง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง และยังมีแรงหนุนเงินเฟ้อจากภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัวอยู่ จะทำให้เฟดตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 5.00%-5.25% อย่างไรก็ดี ภาวะการปล่อยสินเชื่อที่ตึงตัวขึ้นชัดเจน จากปัญหาสภาพคล่องของระบบธนาคารสหรัฐฯ และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะทำให้เฟดส่งสัญญาณหยุดการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรอประเมินสถานการณ์และผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เราจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ คือ ความเสี่ยงการเมืองสหรัฐฯ จากประเด็นเพดานหนี้ (Debt Ceiling) ซึ่งน่าสนใจว่า ประธานเฟด รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดจะมีมุมมองต่อประเด็นดังกล่าวอย่างไร ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัว สะท้อนผ่าน ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนเมษายน ที่จะเพิ่มขึ้นราว 1.8 แสนตำแหน่ง ส่วนการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ก็อาจยังคงสูงราว +4.2%y/y นอกจากนี้ ภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใส จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้ภาคการบริการของสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดี โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนเมษายน อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.8 จุด ตามการปรับตัวขึ้นของยอดคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานในภาคการบริการ และนอกเหนือจากผลการประชุมเฟดและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

    • ฝั่งยุโรป – เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะชะลอลงมาบ้าง (ตลาดมองอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนเมษายน อาจอยู่ที่ระดับ 7.00% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI จะอยู่ที่ระดับ 5.7%) กอปรกับภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนที่ไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจน โดยเฉพาะในฝั่งภาคการบริการที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง จะหนุนให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย +0.50% โดย Deposit Facility Rate จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.50% (ตลาดมองว่า ECB จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +0.25%) นอกจากนี้ เรามองว่า ECB จะส่งสัญญาณชัดเจนว่าการขึ้นดอกเบี้ยยังไม่จบและ ECB ยังมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อ จนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ และนอกเหนือจากผลการประชุม ECB ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ ซึ่งอาจช่วยสะท้อนแนวโน้มของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของยุโรปได้

    • ฝั่งเอเชีย – แนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ และภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา อาจหนุนให้ทั้งธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.60% และ 2.75% ตามลำดับ

    • ฝั่งไทย – เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนเมษายน อาจชะลอลงสู่ระดับ 2.55% ตามการปรับตัวลดลงของราคาพลังงานและราคาเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจและต้นทุนที่ยังสูงอยู่ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็อาจทรงตัวที่ 1.75% ทั้งนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงแต่เราคงมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.00%

ความคิดเห็นล่าสุด

กำลังโหลดบทความถัดไป...
การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย