Economic Highlight
ไฮไลท์รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตาม คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) และการเติบโตของค่าจ้าง (Wage growth) รวมถึงรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของสหรัฐฯ โดย ISM ในเดือนมีนาคม ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอรายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนมีนาคม และนอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด, ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB)
**ราคาทองคำ = สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.
FX Highlight
-
ทิศทางของทั้งเงินดอลลาร์และราคาทองคำยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาท ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม Nonfarm Payrolls ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ รวมถึงติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด
-
นอกจากนี้ ปัจจัยฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องติดตาม หลังนักลงทุนต่างชาติยังไม่เริ่มกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิหุ้นไทย (ขายสุทธิราว -2 พันล้านบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา) อย่างที่เราเคยคาดการณ์ไว้ ในขณะที่ฝั่งบอนด์นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นฝั่งซื้อสุทธิต่อ (ซื้อสุทธิราว +1.8 พันล้านบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา)
-
เราเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ารอเพิ่มสถานะ Short USDTHB (มองเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น) ของผู้เล่นต่างชาติผ่านโฟลว์ซื้อบอนด์ระยะสั้น ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า เพื่อทยอยเพิ่มสถานะดังกล่าว
-
เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบใกล้เคียงกับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีโซนแนวรับแรก คือ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนแนวต้านแรกจะอยู่ในช่วง 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ (แถวเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน)
-
ในเชิงเทคนิคัล ทั้งสัญญาณจาก RSI และ MACD ยังคงสะท้อนว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideways หรือยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ทว่า หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านและยืนเหนือระดับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ได้ ก็อาจเป็นสัญญาณที่ชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อ ขึ้นมาเคลื่อนไหวในโซน 34.50-34.70 บาทต่อดอลลาร์
Gold Highlight
-
ราคาทองคำยังคงเผชิญแรงขายทำกำไร ทุกครั้งที่พยายามปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านแถว 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดการเงิน ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยลดสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven)
-
แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ จะชะลอลง แต่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls) โดยหากออกมาดีกว่าคาด อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ง่าย
-
ราคาทองคำเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงต่อได้ หากผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยประเมินว่า เฟดยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อ (จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดให้โอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อราว 48%)
-
ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD เริ่มชี้ว่า ราคาทองคำมีโอกาสย่อตัวลงได้ในระยะสั้น หรืออย่างน้อย ราคาทองคำก็อาจเคลื่อนไหว sideways ไปก่อนในช่วงนี้
-
เนื่องจากเราคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อราคาทองคำ ทำให้เราคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะราคาทองคำปรับฐานในการทยอยเข้าซื้อได้ โดยสำหรับผู้เล่นเน้นซื้อขายระยะสั้น อาจรอเข้าซื้อที่แนวรับแถว 1,940-1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อขายทำกำไรแถว 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (Stoploss แถวเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน ราว 1,925 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อให้ Reward to Risk = 2x)
Economics Highlight