สรุปความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ต่างๆหลังวิกฤต SVB และเครดิต สวิส
สัปดาห์แห่งความปั่นป่วนในตลาดเงินสหรัฐปิดฉากลงแบบไร้เสถียรภาพในวันศุกร์ที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังข่าวการฝากเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank : FRB) ไม่ช่วยคลายความวิตกกังวลให้กับนักลงทุน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุการณ์ธนาคาร 3 แห่งในสหรัฐล้มแบบฉับพลัน ได้แก่ ธนาคารซิลเวอร์เกต แคปิตอล (Silvergate Capatal), ธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) และธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ได้กระพือความวิตกกังวลเกี่ยวกับความอ่อนแอในภาคธนาคาร ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เอสวีบี ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (SVB Financial Group) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของธนาคาร SVB ได้ยื่นเรื่องต่อศาลนิวยอร์กเพื่อขอรับการพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลาย และฟื้นฟูกิจการภายใต้การกำกับดูแลของศาล กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังธนาคาร SVB ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลางสหรัฐจากผลพวงของภาวะการแห่ถอนเงิน ท่ามกลางความไม่เชื่อมั่นด้านสภาพคล่องของธนาคารแห่งนี้
ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน หุ้นกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินระดับภูมิภาคต่างเผชิญแรงเทขายอย่างหนักหน่วง
หุ้น FRB ซึ่งเป็นธนาคารขนาดกลางในรัฐแคลิฟอร์เนีย ร่วงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในการซื้อขายระหว่างวันในสัปดาห์นี้ ก่อนกลุ่มธนาคารยักษ์ใหญ่ 11 แห่งของสหรัฐประกาศฝากเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในธนาคาร FRB เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธนาคารดังกล่าว โดยธนาคารยักษ์ใหญ่กลุ่มนี้ได้รวมถึงเจพีมอร์แกน เชส, แบงก์ ออฟ อเมริกา, เวลส์ ฟาร์โก และซิตี้กรุ๊ป
ในยุโรป หุ้นเครดิต สวิส ซึ่งเป็นธนาคารระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ ดิ่งลงเหลือเพียงประมาณ 2 ดอลลาร์ต่อหุ้นในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์ก โดยเครดิต สวิสประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มี.ค.ว่า จะกู้เงินสูงถึง 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ส่งผลให้หุ้นเครดิต สวิสพุ่งขึ้นในวันดังกล่าว ก่อนร่วงอีกครั้งในวันต่อมา โดยหุ้นเครดิต สวิสในตลาดนิวยอร์กร่วงลงถึง 33.9% ในปีนี้
สรุปความเคลื่อนไหวสินทรัพย์ 8 ประเภทในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
1. กองทุน SPDR S&P Regional Banking ETF
ราคากองทุนรวม SPDR S&P Regional Banking ETF ซึ่งครอบคลุมภาคธนาคารระดับภูมิภาคบนดัชนี S&P500 ดิ่งลง 24.5% ในการซื้อขายช่วง 7 วันนับตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 9 มี.ค. หนึ่งวันหลัง SVB ประกาศว่าได้ขายพอร์ตหลักทรัพย์ไปที่ราคาขาดทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ จนประชาชนตื่นตระหนกและแห่ถอนเงินฝากออกจาก SVB เป็นผลให้หน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบสหรัฐสั่งปิดธนาคาร SVB ในวันศุกร์ที่ 10 มี.ค.
กระทรวงการคลังสหรัฐ, บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศในวันอาทิตย์ที่ 12 มี.ค. โดยรับประกันเงินฝากทั้งหมดที่ SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นในภาคธนาคาร
อย่างไรก็ตาม ราคา SPDR S&P Regional Banking ETF ยังคงร่วงลง 6% เมื่อวันศุกร์ ส่วนหุ้น FRB ดิ่งลง 32.8% เนื่องจากข่าวฝากเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่อาจคลายความกังวลให้กับนักลงทุน
2. S&P 500 Index
แรงเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารฉุดตลาดหุ้นในวงกว้างร่วง ทำให้ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง 2.1% นับตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.
ดัชนี S&P 500 ลดลง 1.1% เมื่อวันศุกร์ แต่ปรับตัวขึ้น 1.4% ในรอบสัปดาห์นี้ และปรับตัวขึ้น 2% ในปีนี้
3. Nasdaq โชว์ฟอร์มเหนือดาวโจนส์
ดาวโจนส์ มาร์เก็ต ดาต้า (Dow Jones Market Data) ระบุว่า ดัชนี Nasdaq Composite ทำผลงานเหนือกว่าดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ถึง 4.45% ในรอบสัปดาห์นี้ ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2563 เมื่อเทียบเป็นรายสัปดาห์ โดยการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและชิปเซมิคอนดักเตอร์ช่วยจำกัดความสูญเสียบนดัชนี Nasdaq 100 ซึ่งติดตามบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ 100 แห่งในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq Stock Exchange)
ดัชนี Nasdaq Composite ปิดลบเมื่อวันศุกร์ แต่ปรับตัวขึ้น 4.4% ในรอบสัปดาห์นี้ ส่วนดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 0.1% ในรอบสัปดาห์นี้
4. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี หรือ Bond Yield สหรัฐอายุ 2 ปี
ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐผันผวนอย่างหนักเช่นเดียวกัน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง 0.74% ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2530 โดยเวลานั้นเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์จันทร์ทมิฬ ซึ่งเป็นภาวะที่ตลาดหุ้นร่วงลงอย่างรุนแรง
ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ.ของสหรัฐที่ส่งสัญญาณว่าภาวะเงินเฟ้อยังไม่มีทีท่าจะชะลอตัวลง เป็นอีกปัจจัยที่ฉุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยของเฟด ปรับตัวลดลง 0.284% สู่ 3.846% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2565
CME FedWatch ระบุว่า ตลาดคาดการณ์ว่ามีโอกาส 40% ที่เฟดจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า ขณะที่ อีก 60% คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่กรอบ 4.75% - 5.00%
5. ราคาทองคำ
ดาวโจนส์ มาร์เก็ต ดาต้าระบุว่า ราคาทองพุ่ง 8.1% ในการซื้อขาย 7 วันที่ผ่านมา โดยปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาและปรับขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปีในรอบสัปดาห์นี้
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาคธนาคารได้บั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน ส่งผลให้ทองคำพุ่งขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 50.50 ดอลลาร์ หรือ 2.63% ปิดที่ 1,973.50 ดอลลาร์/ออนซ์เมื่อวันศุกร์ และปรับตัวขึ้น 5.7% ในรอบสัปดาห์นี้ โดยเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 2565 เมื่อเทียบเป็นรายวันและปรับขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563 เมื่อเทียบเป็นรายสัปดาห์
6. ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ U.S. Dollar Index จาก ICE ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 1.5% นับตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 9 มี.ค. โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี
7. ราคาน้ำมัน
ดาวโจนส์ มาร์เก็ต ดาต้าระบุว่า สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์ก ส่งมอบเดือนเม.ย. ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาและปรับตัวลดลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 9 เดือนเมื่อเทียบเป็นรายสัปดาห์
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 1.61 ดอลลาร์ หรือ 2.36% ปิดที่ 66.74 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อวันศุกร์ และร่วงลง 13% ในรอบสัปดาห์นี้
8. Bitcoin
ราคา BTC ทรุดตัวลงในวันพุธที่ 8 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ซิลเวอร์ เกต แคปิตอล คอร์ป (Silvergate Capital Corp) ระบุว่า ซิลเวอร์เกต แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารในเครือที่มุ่งเน้นไปยังการให้บริการด้าน Cryptocurrency จะยุติการดำเนินงาน
อย่างไรก็ดี คอยน์เดสก์ (CoinDesk) ระบุว่า หลังธนาคาร SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ล้ม ราคา BTC ได้พลิกกลับมาเป็นบวก โดยพุ่งขึ้นกว่า 20% ในช่วง 9 วันของการซื้อขายที่ผ่านมา สู่ระดับ 28,200 ดอลลาร์ในเช้าวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนมองว่า BTC เป็นทางเลือกใหม่ที่กำลังจะเข้ามาแทนที่ระบบธนาคารแบบดั้งเดิม