เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามธนาคารกลางยุโรปในเมื่อคืนนี้
นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมสัปดาห์หน้า และจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. เร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 81.9% ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. และให้น้ำหนักเพียง 18.1% ที่เฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในเดือนพ.ค. สู่ระดับ 5.00-5.25% ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในเดือนมิ.ย.
ตัวเลขเศรษฐกิจที่ได้ออกมาแข็งแกร่งในเมื่อคืนนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมสัปดาห์หน้า
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 20,000 ราย สู่ระดับ 192,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 205,000 ราย
ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลงสู่ระดับ 196,500 ราย โดยปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 200,000 รายเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 29,000 ราย สู่ระดับ 1.684 ล้านราย
ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านพุ่งขึ้น 9.8% ในเดือนก.พ. สู่ระดับ 1.45 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.310 ล้านยูนิต
ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวเพิ่มขึ้น 1.1% สู่ระดับ 830,000 ยูนิต ส่วนการก่อสร้างบ้านสำหรับหลายครอบครัว ซึ่งรวมถึงอพาร์ทเมนท์และคอนโดมิเนียม พุ่งขึ้น 24.1% สู่ระดับ 608,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2565
ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านพุ่งขึ้น 13.8% สู่ระดับ 1.524 ล้านยูนิตในเดือนก.พ. โดยการอนุญาตก่อสร้างบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวเพิ่มขึ้น 7.6% สู่ระดับ 777,000 ยูนิต และการอนุญาตก่อสร้างบ้านสำหรับหลายครอบครัวพุ่งขึ้น 24.3% สู่ระดับ 700,000 ยูนิต
นายเอ็ดเวิร์ด ยาร์เดนี ประธานบริษัทวิจัยยาร์เดนี ระบุว่า การล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB จะส่งผลให้เฟดยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้
"วิกฤตการณ์ของ SVB จะทำให้เฟดยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น และจะทำให้บอนด์ยีลด์แตะจุดสูงสุด ซึ่งหากเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย และเงินเฟ้อดีดกลับขึ้นมา เฟดก็สามารถกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้" นายยาร์เดนีกล่าว
ในขณะที่เมื่อคืนนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันนี้ แม้ตลาดหุ้นดิ่งลงก่อนหน้านี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในระบบธนาคาร
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นไปตามที่ ECB ได้ระบุไว้ในการประชุมครั้งที่แล้ว และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 6 ติดต่อกัน
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.0%
นอกจากนี้ ECB ระบุว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ ECB ได้รับ และ ECB จะจับตาสถานการณ์ในตลาดอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมที่จะใช้มาตรการใดๆ ที่มีความจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาและระบบการเงิน
นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ECB จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเท่าที่มีความจำเป็น เพื่อกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมาย 2% ของ ECB ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 8.5% ในเดือนก.พ.
ในขณะที่นายนูเรล รูบินี หรือ ดร.ดูม ผู้ที่เคยทำนายวิกฤติซับไพร์มได้อย่างถูกต้องเมื่อทศวรรษที่แล้ว เตือนว่า เครดิต สวิสอาจล้มละลาย หากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในวันนี้
"ถ้า ECB ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ก็มีความเป็นไปได้ว่า เครดิต สวิสจะล้มละลายในสุดสัปดาห์นี้ และ ECB ก็ต้องกลับมาเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจอีกครั้งในสัปดาห์หน้า" นายรูบินีระบุในทวิตเตอร์
ก่อนหน้านี้ นายรูบินีเคยเตือนว่าเครดิต สวิสมีความเสี่ยงที่จะล้มละลายเหมือนเลห์แมน บราเธอร์ส และเครดิต สวิสเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่เกินกว่าที่จะเข้าช่วยเหลือ
"ผมหวังว่า ECB จะไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดในปี 2554 ที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขณะที่ยูโรโซนเกิดปัญหาหนี้สาธารณะในขณะนั้น จนทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นต่อระบบธนาคารยุโรป" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ
ในการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนก.พ. ECB มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% พร้อมกับส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยระบุอย่างชัดเจนว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมเดือนมี.ค.
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์กล่าวว่า ภาวะผันผวนในตลาดขณะนี้ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ในภาคธนาคาร ส่งผลให้ ECB อาจจะต้องทบทวนการตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
"แม้ตัวเลขเงินเฟ้อในระยะนี้เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ ECB ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนนี้ แต่ความปั่นป่วนที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดการเงินก็กำลังทำให้มีการมองว่า ECB อาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลยในการประชุมครั้งนี้" นายฟรานเซสโก เปโซล นักวิเคราะห์จาก ING กล่าว
"ถ้า ECB ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ขณะที่ตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อวิกฤตธนาคาร หลังจากที่ธนาคารกลางสวิสประกาศอัดฉีดสภาพคล่องแก่เครดิต สวิส ก็จะเป็นการแสดงว่า ECB มีความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินในยูโรโซน และจะช่วยให้ยูโรแข็งค่าขึ้น"
"แต่หาก ECB ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ระบบธนาคารยุโรปยังคงมีความเปราะบาง สิ่งนี้ก็จะทำให้ยูโรร่วงลงเทียบดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนมองว่าสิ่งนี้จะเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินยุโรป" นายเปโซลกล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และสำนักงานกำกับดูแลตลาดการเงินสวิตเซอร์แลนด์ ให้คำมั่นว่าจะจัดหาสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือเครดิต สวิส หากมีความจำเป็น และยืนยันว่า เครดิต สวิส มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ด้านเงินทุนและสภาพคล่องที่มีการกำหนดไว้สำหรับธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ หลังจากที่เครดิต สวิสประกาศขอกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์จำนวน 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิส ภายใต้โครงการจัดหาเงินกู้แบบครอบคลุมและการจัดหาสภาพคล่องในระยะสั้น
หุ้นเครดิต สวิส ดิ่งสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนหน้านี้ หลังธนาคารซาอุดี เนชั่นแนล แบงก์ (Saudi National Bank) หรือ SNB ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของเครดิต สวิส ประกาศว่า SNB ไม่สามารถเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินต่อเครดิต สวิส เนื่องจากจะทำให้ SNB ถือหุ้นในเครดิต สวิสมากกว่า 10% ซึ่งจะเป็นการทำผิดกฎระเบียบธนาคาร
เครดิต สวิสเปิดเผยว่า ธนาคารขาดทุนสุทธิ 1.4 พันล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565 โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.32 พันล้านฟรังก์สวิส ส่งผลให้ยอดขาดทุนตลอดทั้งปีอยู่ที่ 7.3 พันล้านฟรังก์สวิส นอกจากนี้ ลูกค้าแห่ถอนเงินฝากมากกว่า 1.10 แสนล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565 ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับข่าวอื้อฉาวของธนาคารในการทำผิดกฎระเบียบ และความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดี
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งของสหรัฐกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อเสริมสภาพคล่องของธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB ซึ่งเป็นธนาคารในระดับภูมิภาคของสหรัฐ
รายงานระบุว่า เจพีมอร์แกน และมอร์แกน สแตนลีย์ รวมทั้งธนาคารอีกหลายแห่งกำลังเจรจาเพื่อหาทางกู้วิกฤตสภาพคล่องของ FRB ท่ามกลางความกังวลที่ว่า การล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) หรือ SB จะส่งผลกระทบลุกลามไปยังธนาคารประจำภูมิภาคของสหรัฐ
ทั้งนี้ การช่วยเหลือดังกล่าวอาจอยู่ในรูปของการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ FRB หรือการเข้าซื้อกิจการทั้งหมดของ FRB
และล่าสุด สำนักข่าว CNBC รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวระบุว่า ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐเตรียมทุ่มเงินอัดฉีดสภาพคล่องราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB ซึ่งเป็นธนาคารในระดับภูมิภาคของสหรัฐ
รายงานระบุว่า สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ทั้ง 4 แห่งของสหรัฐ ซึ่งได้แก่ โกลด์แมน แซคส์, มอร์แกน สแตนลีย์, เจพีมอร์แกน เชส และซิตี้กรุ๊ป รวมทั้งธนาคารอีกหลายแห่ง เตรียมให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อ FRB เนื่องจากกังวลว่า การล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) หรือ SB จะส่งผลกระทบลุกลามไปยังธนาคารประจำภูมิภาคของสหรัฐ
ทั้งนี้ FRB เป็นธนาคารที่มีปริมาณเงินฝากที่ไม่ได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลสหรัฐสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจาก SVB และ SB ทำให้มีลูกค้าจำนวนมากโยกย้ายเงินฝากออกจาก FRB ไปยังธนาคารขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ราคาหุ้น FRB ทรุดตัวลงเกือบ 75% นับตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.