Cyber Monday Deal: ลดสูงสุด 60% InvestingProรับส่วนลด

ทำไมสกุลเงินยูโรและสกุลปอนด์ถึงได้ร่วงลงอย่างมาก และจะมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้หรือไม่

เผยแพร่ 23/08/2565 14:53
DX
-

เราไปดูทางสกุลเงินยูโรกันก่อนครับ ว่าทำไมสกุลเงินยูโรถึงได้อ่อนค่าลงอย่างหนักมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ และในตอนนี้ก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นได้เช่นกัน

สกุลเงินยูโรอ่อนค่าต่ำกว่าระดับ 1 ดอลลาร์ในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตพลังงานในยุโรป ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย

สกุลเงินยูโรดิ่งลง 1.017% สู่ระดับ 0.993 ดอลลาร์

สกุลเงินยูโรดิ่งลง 12% เทียบดอลลาร์ในปีนี้ โดยถูกกดดันจากการที่รัสเซียลดการส่งก๊าซไปยังยุโรปเพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรจากยุโรป หลังจากที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.

ทั้งนี้ ก๊าซพรอม ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย ประกาศว่า บริษัทจะปิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 ในวันที่ 31 ส.ค.-2 ก.ย.เพื่อทำการซ่อมบำรุง โดยการปิดท่อส่งก๊าซดังกล่าวจะส่งผลให้ยุโรปเผชิญวิกฤตพลังงาน ซึ่งจะทำให้ราคาก๊าซพุ่งขึ้น และเงินเฟ้อดีดตัวขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจอาจเผชิญภาวะถดถอย

ราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) ของเอเชียปรับตัวขึ้นเพิ่มเติม หลังมีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นว่า การที่รัสเซียประกาศซ่อมบำรุงท่อขนส่งก๊าซไปยังยุโรปนั้น จะทำให้อุปทานโลกตึงตัวมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บรรดาผู้ผลิตในเอเชียเสนอราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดสปอตสำหรับจัดส่งช่วงฤดูหนาวสูงกว่า 60 ดอลลาร์ต่อหนึ่งล้านบีทียูในวันนี้ หลังจากราคาอ้างอิงก๊าซธรรมชาติในตลาดสปอต Japan-Korea Marker ลดลง 1.3% แตะที่ 55.277 ดอลลาร์ต่อหนึ่งล้านบีทียูในวันศุกร์ที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่ก๊าซพรอม ซึ่งเป็นบริษัทผลิตพลังงานของรัสเซียประกาศซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซ โดยราคาปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 5 สัปดาห์และซื้อขายสูงกว่าระดับของปีก่อนหน้าถึงสามเท่าตัว

ก๊าซพรอมประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า บริษัทจะระงับการจัดส่งก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อนอร์ดสตรีมเป็นเวลา 3 วัน เพื่อซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.-2 ก.ย. ส่งผลให้ราคาอ้างอิงของยุโรปพุ่งแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่เทรดเดอร์ก๊าซธรรมชาติในเอเชียแสดงความวิตกกังวลว่า ก๊าซพรอมอาจจะไม่กลับมาให้บริการตามกำหนด ซึ่งจะทำให้อุปทานในตลาดโลกตึงตัวมากขึ้น หลังรัสเซียปรับลดการจัดส่งก๊าซให้ยุโรปอย่างมาก โดยยุโรปเป็นลูกค้าก๊าซรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย

ก๊าซพรอมระบุว่า บริษัทจะกลับมาจัดส่งก๊าซผ่านท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมใต้ทะเลบอลติกให้กับเยอรมนีอีกครั้งที่ระดับปัจุบัน หรือประมาณ 20% ของศักยภาพการจัดส่ง

ราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นยังคงกดดันเศรษฐกิจของยูโรโซนอย่างต่อเนื่อง และปัญหามีแนวโน้มย่ำแย่ลง เพราะฤดูหนาวใกล้มาเยือนในไม่ช้า โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีภารกิจสำคัญในการลดแรงกดดันเงินเฟ้อท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา

สำนักงานสถิติยุโรป หรือยูโรสแตท เปิดเผยว่าอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนพุ่งขึ้นแตะ 8.9% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยสอดคล้องกับการคาดการณ์ หลังปรับตัวขึ้นสู่ 8.6% ในเดือนมิ.ย. ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวขึ้น 4.0% สอดคล้องกับการคาดการณ์เช่นเดียวกัน

ขณะที่ เงินเฟ้อรายปีของสหภาพยุโรป (EU) ปรับตัวสู่ 9.8% ในเดือนก.ค. หลังอยู่ที่ 9.6% ในเดือนมิ.ย.

นายโยอาคิม นาเกล ประธานธนาคารกลางเยอรมนีให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์เยอรมนีว่า ธนาคารกลางยุโรปต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป แม้เยอรมนีเสี่ยงเผชิญเศรษฐกิจถดถอยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเงินเฟ้อจะเคลื่อนไหวในระดับสูงเกินไปตลอดปี 2566

สำนักงานสถิติของรัฐบาลเยอรมนี (FSO) เปิดเผยว่า การส่งออกของเยอรมนีไปนอกสหภาพยุโรป (EU) ร่วงลง 7.6% ในเดือนก.ค.เมื่อเทียบรายเดือน หลังปรับตัวเพิ่มขึ้นสามเดือนติดต่อกัน ทำให้เป็นการเริ่มต้นครึ่งหลังของปีที่ย่ำแย่ของเยอรมนี

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในไตรมาส 2 ขณะที่นายคริสเตียน ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเยอรมนีกล่าวในเดือนนี้ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเยอรมนีกำลังย่ำแย่ลงและแนวโน้มเปราะบาง

รายงานระบุว่า สหรัฐยังคงเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดของเยอรมนี โดยการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐพุ่งขึ้น 14.9% ในเดือนก.ค.เมื่อเทียบรายปี ส่วนการส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้น 6.1% เมื่อเทียบรายปี แต่การส่งออกไปรัสเซียร่วงลง 56% เมื่อเทียบรายปี

นายมาร์ตินส์ คาซัคส์ หนึ่งในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ECB จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

ทั้งนี้ นายคาซัคส์ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ทีวี 3 ของลัตเวียว่า "ขณะนี้ เงินเฟ้อสูงจนเกินไป โดยในลัตเวียนั้นสูงกว่า 20% แล้ว" "นโยบายการเงินจากเดือนธ.ค.ปีที่แล้วมีข้อจำกัดมากขึ้นสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเริ่มแรก เราลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเราจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยมีเป้าหมายไม่ให้ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงยิ่งขึ้น" นายคาซัคส์กล่าว

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นายคาซัคส์ซึ่งเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางลัตเวียกล่าวด้วยว่า หากยอมให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงต่อไปเราก็จะยิ่งเจ็บปวด พร้อมเสริมว่า "เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ คุณต้องใช้นโยบายการคลังและนโยบายเชิงโครงสร้างร่วมด้วย"

นางอิซาเบล ชนาเบล หัวหน้าฝ่ายการดำเนินงานด้านการตลาดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังไม่ดีขึ้นนับตั้งแต่ ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค. พร้อมระบุว่า เธอสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่อีกครั้งในเดือนหน้า แม้เสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น

ทั้งนี้ นางชนาเบลกล่าวว่า แม้ ECB จะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% แบบไม่คาดหมายในเดือนก.ค. แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงแนวโน้มเงินเฟ้อ และแม้แต่การเกิดเศรษฐกิจถดถอยก็ยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมแรงกดดันเงินเฟ้อได้

"ในเดือนก.ค.เราตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% เพราะเรากังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อ แต่ความกังวลนั้นยังไม่บรรเทาลง ดิฉันไม่คิดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไป" นางชนาเบลกล่าว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะปรับขึ้นที่ระดับ 0.25% หรือ 0.50% ซึ่งนางชนาเบลระบุว่า ตัวเธอสนับสนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50%

จุดสนใจของตลาดจะอยู่ที่การเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของยูโรโซนในวันนี้ และการเปิดเผยรายงานการประชุมครั้งก่อนของ ECB ในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะบ่งชี้ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งถ้าหากดัชนี PMI ของยูโรโซนออกมาดีเกินคาดอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีที่ตัวเลขออกมาสูงกว่าระดับ 50 จุด จะทำให้สกุลเงินยูโรสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ และราคาทองคำจะฟื้นตัวขึ้นด้วยนั่นเอง ซึ่งจะมีการประกาศตัวเลขดัชนี PMI ของเยอรมนีในเวลา 14:30 และจะมีการประกาศดัชนี PMI ของยูโรโซนออกมาในเวลา 15:00

และเราไปดูกันว่าทำไมสกุลเงินปอนด์ถึงได้ร่วงอย่างหนักเช่นเดียวกันตั้งแต่เมื่อวานนี้ ก่อนที่จะมีการฟื้นตัวขึ้นได้บ้างในเมื่อคืนนี้

สกุลเงินปอนด์อ่อนค่าเทียบดอลลาร์ในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

สกุลเงินปอนด์อ่อนค่า 0.3% สู่ระดับ 1.1798 ดอลลาร์ หลังจากดิ่งลงแตะ 1.1785 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.

ทั้งนี้ สกุลเงินปอนด์ทรุดตัวลงกว่า 3% เทียบดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. และเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในกลุ่ม G10

ซิตี้กรุ๊ปออกรายงานเตือนว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอังกฤษจะพุ่งทะลุ 18% ในเดือนม.ค.2566 โดยได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้น

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังเตือนว่าดัชนีราคาค้าปลีกจะพุ่งแตะระดับ 21% ในไตรมาสแรกของปี 2566

Ofgem ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลอังกฤษที่มีหน้าที่กำหนดเพดานค่าไฟฟ้า จะทำการประกาศในสัปดาห์นี้เกี่ยวกับการปรับขึ้นเพดานค่าไฟฟ้าซึ่งจะมีผลต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนของอังกฤษตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 ถึงปี 2567 ซึ่งซิตี้กรุ๊ปคาดการณ์ว่า Ofgem จะปรับขึ้นเพดานค่าไฟฟ้า สู่ระดับ 3,717 ปอนด์/ปี จากระดับ 1,971 ปอนด์/ปีในปัจจุบัน

นอกจากนี้ นายเบนจามิน นาบาร์โร ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานดังกล่าว คาดการณ์ว่า อังกฤษจะยังคงปรับขึ้นเพดานค่าไฟฟ้าต่อไป สู่ระดับ 4,567 ปอนด์ในเดือนม.ค.2566 และ 5,816 ปอนด์ในเดือนเม.ย.2566

สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 10.1% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี ทำสถิติพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนก.พ.2525 จากระดับ 9.4% ในเดือนมิ.ย.

นอกจากนี้ ONS เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอังกฤษหดตัว 11.0% ในปี 2563 ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดในรอบกว่า 300 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2252 และร่วงลงมากกว่าเศรษฐกิจของประเทศชั้นนำอื่นๆ โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ดี ONS ระบุว่าไม่ควรมีการนำตัวเลข GDP ดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เนื่องจากไม่ได้มีการปรับทบทวนตัวเลข GDP ที่มีการเจาะลึกในรูปแบบที่อังกฤษใช้

ONS เปิดเผยว่า ตัวเลข GDP ล่าสุดของปี 2563 สะท้อนถึงแรงหนุนจากอุตสาหกรรมค้าปลีกและรักษาสุขภาพที่ต่ำกว่าคาดการณ์ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ONS จะเปิดเผยตัวเลข GDP ที่มีการปรับทบทวนของปี 2564 และครึ่งแรกของปี 2565 ในวันที่ 30 ก.ย.

ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ระบุเตือนก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเผชิญภาวะถดถอยยาวนานกว่า 1 ปี โดยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2565 จนถึงสิ้นปี 2566

BoE ระบุว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเผชิญภาวะถดถอยนานถึง 5 ไตรมาส ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการเงิน โดยรายได้ในภาคครัวเรือนของอังกฤษจะทรุดตัวลงอย่างหนักในปี 2565-2566 ขณะที่การบริโภคเริ่มหดตัว

และในวันนี้เวลา 15:30 จะมีการประกาศตัวเลขดัชนี PMI ของอังกฤษออกมานะครับ ในกรณีที่ดัชนี PMI ของอังกฤษออกมาดีกว่าคาดการณ์ ก็จะส่งผลให้สกุลเงินปอนด์มีการฟื้นตัวขึ้นได้เช่นกัน และจะหนุนให้ราคาทองคำนั้นได้มีการฟื้นตัวตามไปด้วยนั่นเอง!!!

ความคิดเห็นล่าสุด

กำลังโหลดบทความถัดไป...
การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย