ในช่วงสภาวะตลาดหมีที่มีความผันผวนสูงแบบนี้ เหล่านักลงทุนอาจกำลังมองหาช่องทาง หรือวิธีการใหม่ ๆ ในการหารายได้หรือการคืนทุน ซึ่งช่วงเวลานี้อาจเป็นโอกาสให้มิจฉาชีพใช้แฝงตัวเข้ามาเพื่อเสนอผลประโยชน์แสนล่อตาล่อใจให้เราหลงเชื่อเข้าไปลงทุนด้วย กลโกงเหล่านี้จะมาในรูปแบบไหนบ้าง ? ในบทความนี้เราจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันเลย
1. มีการการันตีผลตอบแทน
ลูกเล่นแรกที่พวกมิจฉาชีพมักใช้จูงใจเหล่านักลงทุนเลยก็คือ “การการันตีผลตอบแทนแบบแน่นอนในทุก ๆ เดือน” ซึ่งในความจริงแล้วเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะการลงทุนทุกรูปแบบมีความเสี่ยงหมด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น กองทุนรวม หรือแม้แต่คริปโทเคอร์เรนซีเองก็ตาม ขนาดบิตคอยน์ที่เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลกยังมีความผันผวนของราคา ดังนั้นหากพบเจอคีย์เวิร์ด “การันตีผลตอบแทน” ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงทันที
2. ตัวเลขผลตอบแทนสูงเกินความเป็นจริง
ทุกคนอาจเคยได้ยินว่า “มนุษย์เรานั้นย่อมตกเป็นเหยื่อของความโลภเสมอ” ด้วยเหตุนี้เองเหล่ามิจฉาชีพจึงมักใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมนี้ในการหลอกให้คนมาลงทุนกับตน ตัวอย่างเช่น มโนผลตอบแทนสูง ๆ ที่ไม่มีทางเป็นไปได้อย่างเช่น 100% - 200% ต่อปี แต่ด้วยตัวเลขที่แสนล่อตาล่อใจ ทำให้มีผู้หลงเชื่ออยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วผลตอบแทนจากการลงทุนทั่ว ๆ ไปนั้นไม่ควรจะอยู่สูงเกิน 10% ต่อปี หากมากกว่านี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าข่ายเป็นพวกมิจฉาชีพ
3.ต้องเชิญผู้อื่นมาร่วมลงทุนด้วยเยอะ ๆ
โมเดลการทำกำไรของมิจฉาชีพแบบง่าย ๆ แบบไม่ต้องลงแรงเลยคือการหลอกให้เหยื่อไปหาเหยื่อคนอื่นมาเพิ่มอีกให้ตัวเองได้กินเงินแบบฟรี ๆ ต่อนั่นเอง โดยมิจฉาชีพจะมีกลโกงสารพัดรูปแบบมาใช้หลอกเหล่านักลงทุน อาทิ การหลอกระดุมทุนผ่านโปรเจกต์ ICO (Initial Coin Offering) ซึ่งเป็นการเสนอขายเหรียญครั้งแรก มิจฉาชีพจะกดดันให้เหยื่อที่ลงทุนอยู่แล้วต้องเชิญผู้อื่นมาร่วมลงทุนด้วยเยอะ ๆ เพื่อให้บริษัทมีทุนไปพัฒนาเหรียญต่อ หรืออาจหลอกเหยื่อว่าหากชวนเพื่อนมาจะได้ผลตอบแทนเพิ่ม แต่เมื่อได้เงินมากพอตามที่ต้องการก็ชิ่งปิดโปรเจกต์หนีไปดื้อ ๆ เลยก็มี ดังนั้นก่อนลงทุนใด ๆ ควรตรวจสอบให้ดีอย่างถี่ถ้วน สำหรับการระดมทุนผ่านโปรเจกต์ ICO ในประเทศไทยนั้น ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทได้โดยตรงผ่านเว็บไซต์ของ ก.ล.ต.
4. ข้อมูลและเอกสารบริษัท ไม่มีความชัดเจน
พวกมิจฉาชีพจะพยายามสร้างโปรไฟล์บริษัทตนให้ดูสวยหรูและน่าเชื่อถือ แต่เมื่อถามหาเอกสารยืนยันอย่างอื่น เช่น งบการเงิน ใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือเอกสารว่าใครเป็นเจ้าของมักไม่สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงมีความคลุมเครือ เพราะบริษัทเหล่านี้สร้างตัวตนปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกเรานั่นเอง นักลงทุนทุกคนจึงควรตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของบริษัทที่ตนสนใจให้แน่นอนก่อนเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพอีกราย
5.เร่งให้ตัดสินใจลงทุนก่อนเสียโอกาส
เทคนิคยอดนิยมที่มิจฉาชีพใช้เพื่อดึงเงินออกจากกระเป๋าของเราให้เร็วที่สุดก็คือการกดดัน เร่งรัด พูดหว่านล้อมให้รีบตัดสินใจลงทุนก่อนพลาดโอกาสรวย หรือเรียกอีกอย่างว่าเทคนิคการขายแบบ FOMO (Fear of Missing Out) ตัวอย่างคีย์เวิร์ดยอดฮิตที่ขาดไม่ได้ อาทิ “รับจำนวนจำกัด รีบสมัครด่วน ๆ ” หรือ “สมัครรอบหน้าได้ผลตอบแทนลดลง” ซึ่งถือเป็นการฉวยโอกาสจากความไม่รู้ของคนเพื่อตัดโอกาสไม่ให้เหยื่อไปหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาคนรอบข้างให้ดีเสียก่อนนั่นเอง
6.ใช้โฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง
พวกโฆษณาที่เอาคนมาถ่ายรูปคู่บ้านหรูหรือรถสปอร์ตคาร์สุดแพง พร้อมคำขอบคุณที่ได้รับการชวนมาลงทุน การระบุว่าที่ใช้เงินเพียงเล็กน้อยแต่กลับให้ผลตอบแทนมหาศาลขนาดขนาดที่ว่ามีเงินไปซื้อบ้าน ซื้อรถได้ พร้อมปิดท้ายด้วยสโลแกนเชิญชวน “อยากรวยแบบนี้รีบสมัครเลย” หรือ “ใคร ๆ ก็ลงทุนได้ ไม่จำกัดอายุ” ภาพลวงตาเหล่านี้คือมุกสุดคลาสสิคที่แก๊งมิจฉาชีพชอบใช้เพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งบุคคลในโฆษณาต่างเป็นหน้าม้าทั้งนั้น เผลอ ๆ อาจเป็นใครก็ไม่รู้ที่ถูกนำภาพมาแอบอ้าง ดังนั้นหากพบเจอโฆษณาแบบนี้ที่ไหน ควรหลีกเลี่ยงอย่าไปลงทุนเด็ดขาด
มาถึงตรงนี้ ทุกคนสามารถเข้าใจและรับรู้เกี่ยวกับเทคนิคกลโกงหลายรูปแบบแล้ว อย่าลืมส่งต่อความรู้จากบทความนี้ให้คนรอบข้างที่กำลังลงทุนอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้ใครตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ได้อีกต่อไป
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่ Bitkub Blog
*ข้อมูลนี้ไม่ใช่ข้อเสนอการลงทุนหรือการจัดการใด ๆ ของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล **การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงุทนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้