ความรู้สึกโล่งใจของตลาดลงทุนสามารถแสดงออกมาได้ในหลายรูปแบบ และขาขึ้นในตลาดหุ้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง พฤติกรรมดังกล่าวคือความสบายอกสบายใจ หลังจากได้ทราบรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ว่านโยบายการเงินของเฟดยังคงมีความยืดหยุ่น แม้ว่าก่อนหน้านี้จะประกาศว่าอาจต้องดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปีเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ
ราฟาเอล บอสติค ประธานธนาคารกลางสาขาแอตแลนต้าเป็นคนกล่าวว่าหากจะมีการหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย การตัดสินใจนั้นอาจจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน เขาได้แสดงออกถึงความใจเย็นของเฟดด้วยการเปรียบเปรยกับรถดับเพลิงว่าต่อให้รีบแค่ไหน เมื่อเจอสี่แยกไฟแดงก็ต้องจอด อย่างไรก็ตาม โฆษกของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ออกมาพูดในเวลาต่อมาว่าธนาคารกลางฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในการเร่งควบคุมเงินเฟ้อที่แตะรับดับจุดสูงสุดในรอบสี่สิบปีครั้งนี้
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวเสริมในประเด็นนี้ด้วยวาทะกรรมคล้ายๆ เดิมว่าพวกเขาไม่มีความต้องใจที่จะปล่อยเรื่องเงินเฟ้อให้บานปลาย แต่จำเป็นต้องเห็นหลักฐานที่ชัดเจนจากตัวเลขเศรษฐกิจก่อนจึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งล่าสุดหลักฐานนั้นก็ได้ปรากฎต่อสาธารณะชนแล้ว…
หลักฐานที่ว่านั้นก็คือดัชนีราคาการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE Index) ในเดือนเมษายนที่ปรับตัวลดลงจาก 5.2% ในเดือนมีนาคม ลงมาเหลือ 4.9% ในเดือนที่ผ่านมา สาเหตุที่ตัวเลขนี้มีความสำคัญเพราะเป็นการวัดโดยไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ความผันผวนของ Core PCE Index ไม่ได้บอกว่าเงินเฟ้อที่แท้จริงกำลังวิ่งไปทางไหน
แต่ถ้าคุณเป็นคนที่เชื่อข้อมูลตัวเลขนี้ในทันที เราก็คงต้องบอกว่าคุณเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีเป็นอย่างมาก เพราะเท่ากับว่าคุณกำลังไม่เชื่อว่าราคาพลังงานและอาหารที่แพงขึ้น แรงงานที่หายไป และปัญหาซัพพลายเชนขาดแคลนถูกจัดการไปอย่างหมดสิ้นแล้ว Nouriel Roubini นักเศรษฐศาสตร์ที่เคยคาดการณ์ถูกเกี่ยวกับฟองสบู่ที่อยู่อาศัยสหรัฐฯ ในปี 2006 เชื่อว่าเฟดไม่มีทางนำเครื่องบินเศรษฐกิจของอเมริกาลำนี้ลงจอดได้อย่างนุ่มนวล ใจความหนึ่งจากบทความ “Project Syndicate” ของเขาเขียนว่า
“ความเข้มข้นของการวางนโยบายการเงินที่จำเป็นเพื่อจัดการเงินเฟ้อทำให้เฟดไม่สามารถหลีกหนีชะตาที่ต้อง Hard Landing ได้ มันจะต้องมีผลกระทบบางอย่างตามมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรืออัตราการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น Soft Landing เป็นจริงได้เพียงโลกในอุดมคติเท่านั่น”
ในบทความนั้น Roubini ได้แสดงสถานการณ์จำลองทางเศรษฐกิจด้วย ภายใต้การจำลองของเขา การดำเนินการของเฟดไม่ว่าจะเกิดเป็นฉากทัศน์ไหนล้วนแล้วแต่มีผลกระทบตามมา และหนึ่งในนั้นก็มีภาวะ stagflation เกิดขึ้นด้วย
ECB ขอเลือกที่จะแตกต่าง
ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กลับเลือกเส้นทางการทำนโยบายการเงินที่แตกต่างไปจากเฟด โดยพวกเขาจะไม่เริ่มการขายพันธบัตรออกจากพอร์ตจนกว่าจะถึงปีหน้า คำพูดนี้มาจากประธานธนาคารเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของ ECB นาม Klaas Knot เขากล่าวในงาน World Economic Forum เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า
“การที่ ECB ยังไม่คิดจะขายพันธบัตรในมือออกไปหมายความว่าบาลานซ์ชีทของเรายังมีมากพอที่จะนำไปใช้จ่ายได้”
ในช่วงที่เกิดโรคระบาด แม้ ECB จะปล่อยพันธบัตรในมือออกไปจำนวนมาก แต่พวกเขาก็ซื้อมันกลับมาในจำนวนมากด้วยเช่นกัน เหตุผลที่พวกเขาต้องทำเช่นนี้้เพื่อไม่ใช่ประเทศที่เป็นชาติสมาชิกคนใดมีเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ยกตัวอย่างเช่นหนี้รัฐบาลของอิตาลีที่ตอนนี้สูงถึง 150% ของ GDP จนสหภาพยุโรปต้องจำกัดระดับการกู้ยืมในบางกรณีเอาไว้ที่ 60%
ข้อจำกัดนี้มีส่วนทำให้ ECB ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในทันที ซึ่ง Knot ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เรียกร้องให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ยังมีบางประเทศเรียกร้องให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ภายในเดือนกรกฎาคม กันยายน และธันวาคมด้วย
อนึ่ง ข้อมูลตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนเมษายนของยุโรปปรับตัวลดลงมาที่ 7.4% จากตัวเลขเบื้องต้นก่อนหน้านี้ที่ 7.5% นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมอาจจะได้เห็น 7.7% ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ต้องกดดันการวางนโยบายการเงินของ ECB ต่อไปในอนาคต