โดยปกติแล้วทุกครั้งที่เกิดสภาวะ Inverted Yield Curve หรือเส้นอัตราผลตอบแทนระยะสั้น (2 ปี) ให้ผลตอบแทนมากกว่าเส้นอัตราผลตอบแทนระยะกลางถึงยาว (10 ปี) มักจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึง แต่ครั้งนี้ นักวิเคราะห์บางกลุ่มเชื่อว่านี่อาจจะเป็นแค่สัญญาเตือนเท่านั้น
ตอนนี้นักวิเคราะห์กำลังเสียงแตกกันว่าทำไมการพลิกคว่ำของเส้นเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนระยะสั้นและยาว จึงสมควรและไม่สมควรที่จะเป็นปัญหา กลุ่มหนึ่งบอกว่าปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเดินรอยซ้ำประวัติศาสตร์เสมอไป บางคนก็หยิบยกตัวเลขทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักฐาน ทั้งตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานที่ลดลง
นับเป็นวันที่สามติดต่อกันแล้วที่เส้นอัตราผลตอบแทนระยะสั้นอายุ 2 ปีวิ่งอยู่สูงกว่าเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เมื่อวานนี้เส้นผลตอบแทน 2 ปีปรับตัวลดลงไปที่ 2.42% แต่ถึงกระนั้นก็ยังสูงกว่าเส้นอัตราผลตอบแทนอายุ 10 ปีที่วิ่งอยู่ที่ 2.41% ความจริงที่เกี่ยวข้องกับการคาดการณ์ก็คือนักวิเคราะห์เหล่านี้ไม่เคยออกมาให้คำตอบว่าจะรู้อนาคตไปทำไม ทำไปเพื่อตลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด หรือทำไปเพื่อจะบอกให้โลกรู้ว่าสามารถพยากรณ์อนาคตได้ คนที่เชื่อว่าเศรษฐกิจถดถอยจริงๆ ก็จะหาข้อมูลมาเพื่อสนับสนุนสิ่งที่เขาคิดเท่านั้น
เพราะถ้าหากได้ลองเปิดดูกราฟอัตราผลตอบแทนทุกช่วงอายุจริงๆ จะเห็นว่ายังมีช่วงอายุ 3 เดือนที่ยังเป็นบวกอยู่อย่างมาก และไม่ได้ส่งสัญญาณถึงภาวะถดถอย ยิ่งไปกว่านั้นกราฟอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงก็ยังคงอยู่ในระดับติดลบ ถ้ามองจากมุมนี้ก็ยังไม่ถือว่าเศรษฐกิจอเมริกาถดถอย หรือชะลอตัวแต่อย่างใด
แต่สิ่งที่เหล่าบรรดาคนตั้งข้อสงสัยชี้ให้เห็นก็อาจจะเป็นสิ่งควรระวัง เพราะความเป็นจริงก็คือการคร่อมกันระหว่างอัตราผลตอบแทนระยะสั้นและยาวได้เกิดขึ้นจริงแล้ว บิลล์ ดัดลีย์ อดีตรองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ และอดีตประธานเฟดสาขานิวยอร์กได้ออกมาตำหนินโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปัจจุบันอย่างรุนแรง และตอนนี้เขาก็เชื่อว่าการถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้แล้ว
ดัดลีย์ยกทฤษฎีที่มีชื่อว่า “Sahm Rule” ขึ้นมาอ้างอิง คร่าวๆ แล้วกฎนี้ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นเมื่อเส้นค่าเฉลี่ยของอัตราการว่างงานอายุ 3 เดือนปรับตัวขึ้นมากกว่า 0.50% จากจุดต่ำสุดของปีก่อนหน้า ดัดลีย์บอกว่าเฟดต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้มากพอที่จะกดเส้นกราฟนี้ลงได้ ถ้าหากเฟดทำตามที่ดัดลีย์บอกจริง จะหมายความว่าพวกเขาต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในช่วงข้ามคืนมากกว่า 2% ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ฺคาดการณ์ไปมาก
Mohamed El-Erian อดีต CEO ของกองทุนพันธบัตรยักษ์ใหญ่ PIMCO ได้ออกมาวิจารณ์นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่าการพยายามที่จะไล่จับเงินเฟ้อตอนนี้ให้ทันอาจจะยิ่งส่งให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยได้เร็วขึ้น ผู้บริโภคชาวอเมริกันยังคงต้องรับผลกระทบจากเงินเฟ้อแบบเต็มๆ กันต่อไป
ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่ารายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่จะออกมาในวันพรุ่งนี้จะช่วยทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตร 10 ปีปรับตัวขึ้น และพวกเขาจะรอดูรายละเอียดของแผนการวางนโยบายการเงินครั้งต่อไปของเฟด เมื่อเลิกซื้อพันธบัตรรัฐบาลแล้ว อันที่จริงการเลิกซื้อพันธบัตรในช่วงนี้ไม่ได้ทำให้เฟดหลุดออกมาจากบ่วงที่ต้องรับผิดชอบเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ ถ้าหากยังไม่สามารถกดเงินเฟ้อลงมา ภายในอีกสองปีข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจของจริง นี่ยังไม่นับปัจจัยอีกหลายสิ่งหลายอย่าง ที่อาจะเกิดขึ้นได้ในช่วงสองปีนี้