ในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นวอลล์ สตรีท เดือนเมษายนมักจะเป็นเดือนที่หุ้นบริษัทจดทะเบียนปรับตัวขึ้นได้ดีที่สุดเดือนหนึ่ง แต่ในปีนี้ ในปีที่มีแต่ปัจจัยกดดันและผันผวนมากมายไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ สงคราม โรคระบาด เราต้องมาดูกันว่าเดือนเมษายนปี 2022 ตลาดหุ้นอเมริกาจะยังคงรักษาสถิตินี้เอาไว้ได้หรือไม่
สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียยูเครนยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาดูกันต่อ ล่าสุดมีข่าวออกมาจากฝั่งยูเครนว่าพวกเขาสามารถยึดพื้นที่รอบๆ กรุงเคียฟกลับคืนมาได้แล้ว ด้วยสถานการณ์ที่ค่อนไปในทิศทางบวก หนังสือพิมพ์จึงหันไปเล่นข่าวสถานการณ์โควิดในประเทศจีนมากขึ้น การล็อกดาวน์ ณ กรุงเซี่ยงไฮ้ทำท่าว่าจะต้องยืดเยื้อกันต่อไป เมื่อยอดการระบาดยังเพิ่มสูงขึ้นไม่หยุดหย่อน การระบาดระลอกนี้ที่จีนทำให้ยุโรปและอเมริกาเริ่มกังวลว่าจะต้องงัดเอามาตรการควบคุมในสถานการณ์ฉุกเฉินออกมาใช้
นอกเหนือจากนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับข่าวความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ มากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เห็นข้อมูลตัวเลขเงินเฟ้อ ที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงเลย จึงทำให้นักลงเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการประชุมครั้งหน้ามีโอกาสสูงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 0.25% เป็นครั้งแรกของปี 2022 ถ้าประเด็นนี้ยังไม่มากพอ ให้จับตาดูสถานการณ์ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอายุ 2 ปี และระยะกลางอายุ 10 ปีเอาไว้ด้วย เพราะตอนนี้ระยะห่างของเส้นทั้งสองแทบจะเป็นระนาบเดียวกัน สร้างความกังวลว่าเศรษฐกิจอเมริกากำลังจะถดถอยมากขึ้น
แม้ว่านักลงทุนจะไม่สนใจความเสี่ยงที่ได้กล่าวถึงไป และมองว่าอาจจะเป็นเหตุผลที่นักวิเคราะห์คิดกันไปเอง ถ้าอย่างนั้น เรามาดูความเป็นจริงกันก็ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับดัชนีหลักของอเมริกาในไตรมาสที่ 1 ปี 2022 ที่พึ่งผ่านกันไปสดๆ ร้อนๆ ตลอดระยะเวลาสามเดือนที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ปิดติดลบ 4.6% ในขณะที่เอสแอนด์พี 500 ปรับตัวลดลง 5%
ถึงกระนั้นก็ต้องขอชมเชยว่าในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่มีความผันผวนเกิดขึ้นอย่างมาก นักลงทุนถือว่าช่วยกันดันตลาดหุ้นจนสามารถปิดเดือนมีนาคมเป็นบวกได้ และขาขึ้นนั้นอาจจะทรงตัวต่อไปในเดือนเมษายนนี้ เดือนที่ว่ากันว่าเป็นเดือนแห่งขาขึ้นที่ดีเดือนหนึ่งในตลาดหุ้น ท่ามกลางแรงกดดันที่ได้พูดถึงไปก่อนหน้านี้ก็ตาม
จากการวิเคราะห์ทางเทคนิค ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ได้วิ่งไซด์เวย์มาตลอดทั้งไตรมาสที่ 1 หลังจากที่สร้าง peak & trough ในแนวโน้มขาลงมาตลอดทั้งไตรมาส สิ่งที่น่าสังเกตก็คือจุด peak ของเดือนมีนาคมกลับสามารถยกสูงได้มากกว่าของเดือนกุมภาพันธ์ และราคาก็สามารถขึ้นมายืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันได้แล้ว เหตุการณ์เช่นนี้ถือเป็นสัญญาณขาขึ้นได้หรือไม่?
ตลอดทั้งไตรมาสที่ 1 ดัชนีดาวโจนส์เรียกได้ว่าวิ่งอยู่เทรนด์ขาลงเพียงแนวโน้มเดียวมาตลอดทั้งสามเดือน จุด peak & trough ของดาวโจนส์เรียกได้ว่าปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่มีแตกแถว ที่สำคัญ กราฟราคาได้ลงมาสร้างจุดปิดต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน อินดิเคเตอร์ ROC ก็ได้ร่วงลงมาจากจุดสูงสุดแล้ว ทุกครั้งที่ ROC ลงมาจากจุดสูงสุด กราฟดัชนีก็มีแต่จะปรับตัวลดลงต่อทุกครั้ง
แต่ถึงอย่างนั้น ขาลงของดัชนีทั้งสองก็ยังไม่ถือว่าหนักที่สุดเมื่อเทียบกับดัชนีแนสแด็ก 100 ที่ร่วงลงไปมากถึง 9.1% และดัชนีรัสเซล 2000 ที่ร่วงลงไปมากที่สุด ด้วยสถิติขาลงตลอดทั้งสามเดือน 10% ไม่น่าเชื่อว่าทั้งสองดัชนีนี้ที่เคยปรับตัวขึ้นมากที่สุดในช่วงโรคระบาด จะกลายมาเป็นดัชนีที่สร้างขาลงหนักที่สุดในช่วงนี้
สาเหตุที่ดัชนีที่เคยเป็นดั่งราชาร่วงลงสู่การเป็นยาจกนั้นเพราะสาเหตุหลักๆ คือต้นทุนในการลงทุนหลังจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่สำคัญ หุ้นเทคฯ ขึ้นไปมากจนมีราคาที่แพงเกินไป ในขณะที่หุ้นบริษัทเล็กๆ บนรัสเซล 2000 ก็ได้รับความสนใจน้อยลง เมื่อเงินเฟ้อและจนทุนการลงทุนสูง คนจึงหันไปลงทุนกันหุ้นตัวอื่นที่อย่างน้อยก็มีแนวโน้มว่าจะให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า
กราฟแนสแด็กวิ่งไซด์เวย์ในลักษณะที่คล้ายกับเอสแอนด์พี 500 จุด peak ของเดือนมีนาคมสามารถขึ้นยืนเหนือจุด peak ของเดือนกุมภาพันธ์ได้ แต่สิ่งที่ดัชนีทั้งสองมีไม่เหมือนกันคือแนสแด็กไม่สามารถทำราคาปิดเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันได้ การสร้างจุดปิดที่อยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน และยังวิ่งอยู่ในแนวโน้มขาลงอยู่ด้วย เพิ่มความเสี่ยงให้กับการปรับตัวลงต่อ เมื่อเทียบกับพฤติกรรมของเอสแอนด์พี 500
เช่นเคย รัสเซล 2000 วิ่งไซด์เวย์เหมือนกับดัชนีทั้งสองที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะมีการสร้างจุดต่ำสุดที่ต่ำกว่า หรือจุดสูงสุดที่สูงกว่า แต่เพราะกราฟยังคงวิ่งอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย ดังนั้นจึงต้องวิเคราะห์ว่าเป็นแนวโน้มขาลงเอาไว้ก่อน ที่สำคัญ กราฟดัชนีรัสเซล 2000 ไม่เคยแม้แต่จะวิ่งกลับไปทดสอบเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน หรือแม้กระทั่งขึ้นทดสอบเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน นั่นจึงทำให้ดัชนีรัสเซล 2000 มีโอกาสจมอยู่ในแนวโน้มขาลงมากกว่าดัชนีตัวอื่นๆ
กราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกำลังสะท้อนผลกระทบของเงินเฟ้อ และการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด สัปดาห์ที่แล้วกราฟอัตราผลตอบแทนรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีทะยานขึ้นแตะ 2.55% เทียบกับช่วงต้นไตรมาสที่เคยวิ่งอยู่ที่ 1.51%
จากการวิเคราะห์ทางเทคนิคในกราฟ 4 ชั่วโมง ชัดเจนว่ากราฟอัตราผลตอบแทนฯ 10 ปีกำลังสร้างรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) แต่ความน่าสนใจคืออินดิเดเตอร์ ROC ได้ขึ้นแตะกรอบราคาด้านบน ถ้า ROC วิ่งลงมา ก็จะทำให้กราฟสร้างรูปแบบหัวไหล่เสร็จสมบูรณ์ทันที
สองวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนีดอลลาร์สหรัฐสามารถแข็งค่ากลับขึ้นมาได้ แม้ว่าตลอดทั้งสัปดาห์จะติดลบ
หลังจากที่วิ่งขึ้นมาเพราะรูปแบบหัวไหล่ (Inverted Head & Shoulder) ในเดือนกุมภาพันธ์ จะเห็นว่าตลอดทั้งเดือนมีนาคมนั้น กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐวิ่งอยู่ในกรอบมาโดยตลอด ตั้งแต่ตอนนั้น จนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้น การทะลุกรอบไซด์เวย์ไม่ว่าจะทางไหน จะเป็นจุดเริ่มต้นของการไปต่อ ส่วนตัวแล้วเราเชื่อว่าจะทะลุกรอบขึ้น เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่จะเกิดขึ้นตามกำหนดการแน่นอน และการวิ่งอยู่บนเส้นเทรนด์ไลน์ขาขึ้น ที่บ่งบอกถึงความแข็งแกร่งของเทรนด์
การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้ราคาทองคำเมื่อวันศุกร์ร่วงลง แต่ถ้าหากดูกราฟราคาทองคำรายสัปดาห์ จะเห็นว่าขาลงครั้งนี้อาจจะดูไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น
ขาขึ้นก่อนหน้านี้ได้หลุดกรอบสามเหลี่ยมสมมาตรขึ้นมา และการไซด์เวย์ ณ ตอนนี้ก็ถูกเปรียบให้เป็นรูปแบบธง ซึ่งแสดงถึงการพักตัวเพื่อไปต่อในทิศทางเดิม แต่ความน่าสนใจคือภายในกรอบสามเหลี่ยม กำลังเกิดรูปแบบหัวไหล่เกิดขึ้น ยิ่งถ้าได้พิจารณาอินดิเคเตอร์ร่วม จะยิ่งเห็นความเป็นไปได้ของแนวโน้มขาลง อินดิเคเตอร์ทั้ง RSI แลพ MACD ต่างก็อยู่ในแนวโน้มขาลง ยิ่งถ้าเกิดชุดขาลงของ peak & trough ด้วยแล้ว และดูจาก RSI ไม่มีเหตุผลเลยที่ขาลงจะไม่ไปต่อ
ราชาแห่งสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์สามารถปิดบวกได้เป็นสัปดาห์ที่แล้ว นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่สามารถทำได้
จากจุดต่ำสุดในวันที่ 24 เดือนมกราคม ราคาบิทคอยน์ก็ได้วิ่งอยู่กรอบที่ปรับตัวลู่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในสายตาของเรา ยังคงคิดว่ากราฟบิทคอยน์ในปัจจุบันเป็นหัวไหล่ที่ยังสร้างไหล่ขวาไม่เสร็จ เส้น neckline ที่เรารอดูอยู่คือเส้นสีดำในรูปที่ยาวที่สุด ส่วนเส้นสีแดงก็ถือเป็นเส้น neckline อีกแบบหนึ่ง แล้วแต่ใครจะเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น neckline เส้นไหน บิทคอยน์ก็ควรจะยืนเหนือเส้นทั้งสองให้ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าขาขึ้นตอนนี้มีโอกาสเป็นรูปแบบลิ่ม ซึ่งตามตำราแล้ว ลิ่มขาขึ้น มักจะตามมาด้วยการหลุดกรอบเป็นแนวโน้มขาลง ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็คือการไปต่อในทิศทางเดิม
สุดท้าย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบปิดตลาดด้วยขาลง กลายเป้นสัปดาห์ที่สองติดต่อกันแล้วที่ราคาน้ำมันสร้างแนวโน้มขาลง
แม้จะลงมาอย่างไร แต่กราฟทางเทคนิคของราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงวิ่งอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมสมมาตร ตามตำราแล้ว รูปแบบนี้มีความเป็นไปได้ทั้งการทะลุขึ้นและลง แต่ด้วยสถานการณ์สงครามในปัจจุบันที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ เราวิเคราะห์เอียงไปทางขาขึ้นเอาไว้ก่อน
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันอาทิตย์
21:30 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.6% เป็น 1.8%
วันจันทร์
05:05 (สหราชอาณาจักร) ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลาง
หมายเหตุ: ตลาดหลักทรัพย์จีนหยุดเนื่องในวันเช็งเม้ง
วันอังคาร
00:30 (ออสเตรเลีย) การประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง: คาดว่าจะคงที่ 0.10%
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคบริการ: คาดว่าจะคงที่ 61.0 จุด
10:00 (สหรัฐฯ) ดัชนี PMI ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตจาก ISM: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 56.5 เป็น 58.0
หมายเหตุ: ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและจีนหยุดในวันเช็งเม้ง
วันพุธ
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการก่อสร้าง: คาดว่าจะหดตัวจาก 59.1 เป็น 57.3
10:00 (แคนาดา) ดัชนี PMI จาก IVEY: ตัวเลขครั้งก่อนออกมาอยู่ที่ 60.6
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: สัปดาห์ก่อนลดลง -3.449M
14:00 (สหรัฐฯ) รายงานการประชุมของ FOMC เมื่อวันที่ 15-16 มีนาคม
วันพฤหัสบดี
07:30 (ยูโรโซน) การประชุมนโยบายการเงินที่เปิดเผยได้ของธนาคารกลางยุโรป
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงจาก 202K เป็น 200K
วันศุกร์
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลขอัตราการจ้างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก 336.6K เป็น 80.0K