-
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโดยรวมกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยรายงานผลประกอบการที่ทยอยออกมาดีกว่าคาด และมุมมองของตลาดที่คลายกังวลโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมีนาคม
-
ติดตามรายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) และรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในสัปดาห์นี้ได้
-
ระวังตลาดพลิกกลับมาผันผวน หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ เร่งขึ้นมากกว่าคาด ทำให้ตลาดกลับมากังวลโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยเยอะกว่าคาด ซึ่งอาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ ทั้งนี้ ผลประกอบการที่ดีกว่าคาดอาจช่วยลดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงได้ ส่วนเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวตามบรรยากาศการลงทุนในตลาด โดยหากตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่องก็สามารถหนุนให้เงินบาทแข็งค่าสู่แนวรับสำคัญโซน 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ได้แต่เรามองว่า เงินบาทจะยังไม่แข็งค่าหลุดแนวรับดังกล่าวจนกว่าปัจจัยพื้นฐานในประเทศฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจน อนึ่ง เราเริ่มเห็นแรงขายเงินดอลลาร์จากผู้ส่งออกในช่วง 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเป็นแนวต้านสำคัญในระยะนี้
-
มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้
32.80-33.20 บาท/ดอลลาร์ -
ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ (CPI) ในเดือนมกราคมจะเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 7.3% หนุนโดยราคาสินค้าในกลุ่ม Reopening อาทิ ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น และราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงนานกว่าที่เฟดเคยคาดการณ์ไว้ และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น จะส่งผลให้เฟดเตรียมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 5 ครั้งในปีนี้ โดยการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในการประชุมเดือนมีนาคม ทั้งนี้ จุดที่น่าสนใจและอาจกระทบต่อตลาดการเงินได้คือโอกาสการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว ซึ่งตลาดมองว่ามีโอกาสถึง 40% และตลาดอาจเชื่อในมุมมองดังกล่าวมากขึ้นได้ หากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาดและตลาดแรงงานฟื้นตัวแข็งแกร่ง อนึ่ง แนวโน้มสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนที่อาจผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้วอาจช่วยให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (Uof Michigan Consumer Sentiment) เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแตะระดับ 67.5 จุด นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากออกมาดีกว่าคาดก็อาจช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนให้อยู่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อได้
-
ฝั่งยุโรป – ตลาดมองว่า นักลงทุนสถาบันยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปรวมถึงแนวโน้มตลาดหุ้นยุโรป หลังสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนอาจผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้ว และข้อมูลเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมุมมองดังกล่าวจะสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 15.2 จุด อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังและติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและชาติพันธมิตร NATO อย่างใกล้ชิด หลังการเจรจาที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จในการลดความตึงเครียด ขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างเดินหน้าเสริมกำลังทหารในพื้นที่ ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งอาจบานปลายสู่สงครามและกดดันให้ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงได้
-
ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า ผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนในช่วงต้นปีจะกดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะในภาคการบริการชะลอลง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Caixin Services PMI) เดือนมกราคม ที่จะลดลงแตะระดับ 50.5 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ทั้งนี้ในฝั่งอินเดีย ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.00% เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจต่อ แม้ว่าอินเดียอาจไม่ได้เผชิญปัญหาการระบาดของโอมิครอนที่รุนแรงนักก็ตาม เช่นเดียวกันกับฝั่งอินโดนีเซีย ตลาดมองว่า แนวโน้มการทยอยฟื้นตัวเศรษฐกิจจะส่งผลให้ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) เลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.50% จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีหรือเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาก
-
ฝั่งไทย – เรามองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดย กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ทั้งนี้ ควรติดตามว่า กนง. จะมีท่าทีต่อแนวโน้มเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 4 ครั้งอย่างไร หรือ กนง. จะเริ่มแสดงความกังวลแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้นหรือไม่ อนึ่ง ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในช่วงที่ผ่านมาและราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจกดดันให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ในเดือนมกราคม ย่อตัวลงเล็กน้อยแตะระดับ 46 จุด ได้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก