ไม่มีอะไรที่จะทำให้คนศรัทธาได้มากไปกว่าสิ่งที่มีเรื่องเล่า มีตำนาน มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน เมื่อชุดความคิดนี้ถูกนำไปผูกโยงเอาไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน จากสิ่งที่ไม่มีค่าอะไรก็อาจจะกลายเป็นสิ่งที่มีค่าขึ้นมาได้ ผมเห็นสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นมาตลอดชีวิตของผม แต่ไม่เคยเห็นสิ่งไหนที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วอย่างเช่นบิทคอยน์มาก่อน จากปี 2010 ที่บิทคอยน์มีมูลค่าเพียง 5 เซนต์ มาวันนี้เคยขึ้นไปมีมูลค่าเกือบถึง $70,000 แล้วก่อนที่เหลือเพียง $40,000 ในขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่
ความสำเร็จของบิทคอยน์ที่ต้องการดึงอำนาจการเงินออกจากภาครัฐ ก่อให้เกิดหัวขบถสร้างสกุลเงินดิจิทัลอื่นต่างๆ มากมาย หนึ่งในสกุลเงินที่โดดเด่นที่สุดคืออีเธอเรียม จากวันที่อีเธอเรียมเคยได้แต่ตามบิทคอยน์เป็นเงา มาวันนี้ (ในปี 2021) เป็นครั้งแรกที่อีเธอเรียมสามารถเอาชนะบิทคอยน์ในแง่ของการเติบโตตลอดปี สะท้อนให้เห็นถึงการเติบใหญ่ของวงการสกุลเงินดิจิทัล และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตอนนี้เราจะได้เห็นจำนวนสกุลเงินดิจิทัลทั้งหมดมีมากถึง 16,540 เหรียญ
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าตั้งแต่เริ่มต้นปี 2022 มาจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ของตลาดสกุลเงินดิจิทัลกำลังอยู่บนเส้นด้ายอีกครั้ง การถูกแบนจากภาครัฐในหลายๆ มิติ ความเป็นไปได้ที่จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 สถานการณ์ในคาซัคสถานที่ส่งผลกระทบถึงเหมืองบิทคอยน์ ที่ว่ากันว่าเป็นเหมืองบิทคอยน์อันดับสองของโลก ปัจจัยเหล่านี้กำลังกดดันตลาดสกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะบิทคอยน์ที่โดนต้อนให้ถอยมาจนถึงแนวรับ $40,000 แล้ว
สถานการณ์ของบิทคอยน์และอีเธอเรียมในปัจจุบัน
อย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้ว่าปีที่ผ่านมาเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของตลาดสกุลเงินดิจิทัล เมื่อมูลค่าขาขึ้นของอีเธอเรียมสามารถเอาชนะบิทคอยน์ได้ ปี 2021 บิทคอยน์สามารถปรับตัวขึ้นได้ 57.81% ในขณะที่อีเธอเรียมทำขาขึ้นได้มากถึง 391.75% ถึงอย่างนั้น ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ทั้งสองสกุลเงินต่างก็สามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลได้เหมือนกัน ก่อนที่จะร่วงลงมาจนถึงปัจจุบันเหมือนกัน
ที่มา: CQG
รูปด้านบนนี้คือกราฟบิทคอยน์ฟิวเจอร์สที่มีจุดสูงสุดและต่ำสุดในปี 2021 อยู่ที่ $69,355 และ $28,440 ในวันที่ 31 ธันวาคม บิทคอยน์ฟิวเจอร์สมีราคาปิดอยู่ที่ $47,175 ต่ำกว่าจุดกึ่งกลางตลอดทั้งปี 2021
ที่มา: Barchart
เช่นกัน รูปด้านบนนี้คือกราฟอีเธอเรียมในปี 2021 ที่มีจุดต่ำสุดและจุดสูงสุดอยู่ที่ $716.919 และ $4,865.426 ในวันที่ 31 ธันวาคม มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $3,688.877 ยังสามารถยืนอยู่เหนือเส้นกึ่งกลางของปีได้ แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2022 ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้ายลง
ที่มา: CQG
กราฟด้านบนนี้คือบิทคอยน์ฟิวเจอร์สที่จะส่งมอบในเดือนมกราคม ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ กราฟกระดานนี้ได้ลงมาวิ่งต่ำกว่า $41,800 คิดเป็นการปรับตัวตั้งแต่จุดเปิดในช่วงต้นปี 2022 ที่ $46,275 ลงมาแล้ว 9.7%
ที่มา: CQG
ถ้าหากสถานการณ์ของบิทคอยน์ย่ำแย่ ต่อให้อีเธอเรียมจะเป็นอนาคตมากแค่ไหน ก็ไม่อาจหนีผลกระทบดังกล่าวพ้นไปได้ กราฟอีเธอเรียมฟิวเจอร์สที่จะส่งมอบในเดือนมกราคมมีราคาปิดล่าสุดในวันที่ 9 มกราคมอยู่ที่ $3,198 ร่วงลงมาจากจุดปิดในวันที่ 31 ธันวาคมที่ $3,685 คิดเป็น 13.2%
ถึงแม้ว่าบิทคอยน์และอีเธอเรียมจะปรับตัวลดลงด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ผมก็ยังมีเหตุผล 3 ประการที่เชื่อได้ว่าขาลงของทั้งสองสกุลเงินจะจบลง และสามารถปรับตัวกลับขึ้นมาได้ในปี 2022
เหตุผลข้อที่ 1: เงินเฟ้อ
ในขณะที่สื่อหลายสำนักกำลังทำนายกันอย่างออกรสว่าปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยกี่ครั้งดี เท่าที่ได้เห็นในข่าว ผมเห็นตั้งแต่สองครั้งไปจนถึงมากที่สุดคือห้าครั้งภายในปี 2022 จากการคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในเดือนธันวาคมคาดว่าดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐปล่อยกู้เงินสำรองให้ซึ่งกันและกัน (Fed Fund Rate) จะเพิ่มขึ้นเป็น 0.90% ในปี 2022 และ 1.60% ในปี 2023 แต่สิ่งที่สำนักข่าวไม่บอกก็คือต่อให้สามารถลดระดับเงินเฟ้อได้แล้ว แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของปี 2022 จะยังคงอยู่ในระดับติดลบ ซึ่งก็หมายถึงเงินเฟ้ออยู่ดี
ถ้าหากคริปโตฯ ได้ชื่อว่าเป็นสินทรัพย์คานเงินเฟ้อของคนยุคใหม่ ปี 2022 จะเป็นปีที่สกุลเงินดิจิทัลได้พิสูจน์คำกล่าวนั้นอีกครั้ง เงินเฟ้อจะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาถือคริปโตฯ มากขึ้น ในขณะที่เงินเฟ้อกัดกินมูลค่าของสกุลเงินปกติ แต่ด้วยสกุลเงินที่มีจำนวนจำกัเ นั่นจะทำให้มูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เหตุผลข้อที่ 2: ความเชื่อมั่นต่อสกุลเงินปกติที่ค่อยๆ หดหาย
มูลค่าของเงินที่อยู่ในมือเรานั้นมาจากรัฐบาลกลางที่เป็นผู้สร้าง และเป็นผู้กำหนดให้กระดาษหลากสีเหล่านี้มีมูลค่าขึ้นมา แต่การมีอยู่ของสกุลเงินดิจิทัลได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ต้องมีกระดาษ เราก็ยังสามารถแลกเปลี่ยนมูลค่ากันได้ ยิ่งการตัดสินใจเทเงินเข้ามาในตลาดเพื่อโอบอุ้มเศรษฐกิจเอาไว้ในวันที่มีโรคระบาด ยิ่งดูเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบในสายตาของคนรุ่นใหม่มากไปเรื่อยๆ และสิ่งที่กำลังทำลายความศรัทธาต่อระบบการเงินยุคเก่าและรัฐบาล
เรื่องมูลค่าของสกุลเงิน ความเชื่อมั่นถือเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด แม้เราจะเห็นว่าดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แต่นั่นก็เป็นเพียงการแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ อย่างเช่นยูโร เยน ปอนด์ เท่านั้น ถ้าดูจริงๆ แล้ว ก่อนที่โควิดจะระบาด ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเคยอยู่สูงกว่าในปัจจุบันด้วยซ้ำ แม้แต่สกุลเงินสำรองอันดับหนึ่งของโลกก็ยังเสื่อมมูลค่าตามการใช้เงินอย่างไม่คิดของผู้มีอำนาจด้วย
เหตุผลข้อที่ 3: คริปโตฯ จะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามต่อต้านคริปโตฯ พยายามจำกัดการเติบโตของโลกการเงินแบบใหม่ไปทีละเล็กละน้อย แต่สำหรับภาคเอกชนนั้นพวกเขาเปิดรับคริปโตฯ เป็นอย่างมาก เอกชนรู้ดีว่านี่คืออนาคตของการปฏิวัติฟินเทคฯ ยุคใหม่ เพราะสกุลเงินดิจิทัลเป็นอะไรได้มากกว่าการเป็นเพียงตัวกลางการแลกเปลี่ยนมูลค่า
แจ็ค ดอร์ซีย์ อดีต CEO ของทวิตเตอร์ (NYSE:TWTR) ที่ได้หันมาอุทิศชีวิตให้กับการสร้างกระเป๋าสำหรับสกุลเงินดิจิทัลได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในตอนนี้เขาให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของกระเป๋าเงินดิจิทัลมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีความรู้ด้านคริปโตฯ หรือคนที่ไม่มีความรู้ด้านการเงิน ต้องสามารถใช้กระเป๋าเงินของแจ็ค ดอร์ซีย์ได้ นั่นคือสิ่งที่เขาหวังเอาไว้ และดอร์ซีย์เชื่อเป็นอย่างมากว่าสกุลเงินดิจิทัลจะสามารถ “รวมโลกทั้งใบ” ได้
ความเสี่ยงที่ต้องเจอ
อย่างไรก็ตาม การเติบโตนี้ถือเป็นดาบสองคม เพราะอย่าลืมว่าคริปโตฯ เปรียบเสมือนคู่แข่งของระบบการเงินของรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าภาครัฐย่อมจับตาอย่างใกล้ชิด และพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของพวกเขาเองควบคู่ไปด้วยกัน พวกเขารู้ดีว่าการเติบโตของคริปโตฯ ถือเป็นความเสี่ยงที่จะทำลายระบบการเงินที่พวกเขาสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ แต่การจะเข้าไปสกัดการใช้งานของผู้คนในทันทีก็ถือเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นรัฐจึงต้องควบคุมคริปโตฯ อย่างเป็นระบบด้วยเช่นกัน
ในช่วงสิ้นปี 2020 มูลค่าของตลาดสกุลเงินดิจิทัลทั้งหมดมีอยู่ที่ $767,482 ล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ 31 ธันวาคมปี 2021 มูลค่านั้นเพิ่มขึ้นเป็น $2,223 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นการเติบโตขึ้นเกือบ 2.9 เท่า โดยที่ทั้งบิทคอยน์และอีเธอเรียมมีมูลค่ารวมกันเกือบ $1.34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขยับเข้าใกล้บริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกอย่างแอปเปิล (NASDAQ:AAPL) ที่ $3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเข้าไปเรื่อยๆ
ด้วยมูลค่ารวมทั้งตลาดที่ยังเล็กกว่าบริษัทแอปเปิล ภาครัฐจึงยังไม่มองคริปโตฯ เป็นภัยคุกคามต่อระบบการเงินมากเท่าไหร่ ต่อให้คริปโตฯ จะมีความผันผวนมากแค่ไหน ก็ยังไม่มีพลังทำลายล้างอย่างเช่นที่โควิดทำ และยิ่งคริปโตฯ เติบโตขึ้นอย่างสร้างสรรค์มากขึ้นเรื่อยๆ รัฐก็ยิ่งรู้วิธีที่จะเลียนแบบ และทำสกุลเงินของพวกเขาให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ความเสี่ยงที่นักลงทุนควรจับตาคือ ถ้าหากวงการสกุลเงินดิจิทัลในปี 2022 ยังเติบโตในความเร็วที่เท่ากับปี 2020 หรือ 2021 จนดันให้มูลค่าตลาดแซงบริษัทแอปเปิลได้ ก็มีโอกาสที่เราจะได้เห็นภาครัฐดำเนินการกับโลกคริปโตฯ อย่างจริงจังมากขึ้น
ถ้าหากปีนี้ตลาดคริปโตฯ สามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้จริง ให้จับตาดูอีกครั้งว่าความสามารถในการเติบโตในเชิงของมูลค่าของอีเธอเรียม จะยังสามารถเอาชนะบิทคอยน์ได้อีกปีหรือไม่ สาวกคริปโตฯ หลายคนคาดหวังกับอีเธอเรียม 2.0 ว่าจะเป็นยุคใหม่ของสกุลเงินดิจิทัลอย่างแท้จริง ถ้าหากปีนี้อีเธอเรียมยังโตได้โดดเด่นกว่าบิทคอยน์ ยุคสมัยใหม่ของวงการสกุลเงินดิจิทัลอาจจะมาถึงเร็วกว่าที่เราคิด