แม้ว่าสิ้นปี 2021 กำลังจะมาถึง แต่อัตราเงินเฟ้อก็กลายเป็นเรื่องใหญ่และเร่งด่วนเรื่องหนึ่งสำหรับเศรษฐกิจโลก แน่นอนว่าโควิด เงินเฟ้อและความกังวลที่มีต่อเงินเฟ้อยังคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในตลาดน้ำมัน ในฐานะนักลงทุน มีสาเหตุใดบ้างที่เป็นแรงส่งให้ตลาดน้ำมันขึ้นและลง นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาควรทราบ
ทุกคนทราบดีว่าแรงกดดันที่มีต่อราคาน้ำมันมากที่สุดในตอนนี้คือการกลับมาอยู่หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์อีกครั้งของโรคระบาดโควิดที่มาในสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น (ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนจะถาวรแล้ว) อาจจะเป็นแรงผลักดันที่หนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นได้ อ้างอิงข้อมูลจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ณ ตอนนี้เงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกามีระดับอยู่ที่ 6.8% นี่คือการเติบโตของอัตราเงินเฟ้อที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 1982 ในขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้ผลิตก็ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 9.6% ความกังวลที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อนี้ได้ทำให้มติการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันพุธที่ผ่านมามีความเห็นชอบให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งภายในปี 2022 หากจำเป็น
ถามว่ามีใครบ้างที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ? นอกจากประชาชนอย่างเราที่สามารถสัมผัสได้ทันทีว่าสินค้ามีราคาที่แพงขึ้น บริษัทผู้ผลิตน้ำมันเองก็ได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้มากอยู่พอสมควร การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันทำให้ต้นทุนการดำเนินการของพวกเขาสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็น ค่าการดำเนินการ ค่าจ้างของแรงงาน ต้นทุนการขนส่ง ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น เงินเฟ้อยังทำให้มูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับเป็นกำไรลดลงอีกด้วย หมายความว่าถ้าอยากได้กำไรที่มากขึ้นก็ต้องขายน้ำมันให้ได้มากขึ้น
นับตั้งแต่มีการระบาดเกิดขึ้น ฉันได้เขียนบทความหลายชิ้นที่เตือนถึงการด้อยค่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโจ ไบเดนในวงเงิน $4.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และวันนี้ สิ่งนั้นก็กำลังเกิดขึ้นแล้ว สร้างแรงกดดันให้กับเหล่าบรรดาบริษัทผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลก ให้ต้องขายน้ำมันในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อแลกกับการคงระดับกำไรหรือต้นทุนเอาไว้เท่าเดิม
สำหรับนักลงทุนทั่วไปอาจจะไม่รู้ว่าน้ำมันไม่ได้เป็นเพียงสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีไว้ดูว่าพรุ่งนี้เราจะได้เติมน้ำมันแพงขึ้นหรือไม่ แต่สำหรับผู้ผลิตการขึ้นหรือลงของราคาน้ำมันหมายถึงความเสี่ยงที่เป็นตัวแปรผกผันกับสัญญาที่พวกเขาได้เซ็นเอาไว้กับโรงกลั่น เพื่อที่จะเอากำไรคืนมา ในปี 2022 บริษัทผู้ผลิตน้ำมันจะยินดีมากหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เพราะนั่นคือระดับกำไรที่พวกเขายอมรับได้ แต่สำหรับผู้บริโภค นั่นหมายความว่าต้นทุนการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเราในปีหน้าจะแพงขึ้น
ในอีกด้านหนึ่ง การกลับมาระบาดอีกครั้งของเชื้อไวรัสโควิด-19 นำภาพความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจกลับมาสู่นักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอนที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่ามีความร้ายแรงเพียงใด และความเป็นไปได้ที่จะมีมาตรการคุมเข้มทางสังคมเพิ่มขึ้น มาตรการที่เข้มงวดจะส่งผลต่อการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ และการที่เราต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปิดๆ เปิดๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะได้เห็นผู้คนออกมาประท้วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและสหราชอาณาจักร ที่การระบาดของโอมิครอนกลับมาลดความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจลง
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นักวิเคราะห์บางคนจึงเริ่มมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะลงไปอยู่ที $50 หรือ $40 ต่อบาร์เรล พวกเขายิ่งเชื่อว่าความคิดนี้เป็นไปได้หลังได้เห็นราคาน้ำมันถูกเทขายหลังจากช่วงแบล็ค ฟรายเดย์ แต่สำหรับฉัน ตัวแปรสำคัญของความเป็นไปได้ทั้งสองนี้คือความเร็วในการพัฒนาวัคซีน ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อกรกับไวรัสรุ่นใหม่ๆ นี่คือสิ่งที่ต่างออกไปจากปี 2020 และสถานการณ์ในปี 2022 จะไม่มีทางย่ำแย่ลงไปถึงจุดเดียวกันกับปี 2020 แน่นอน
สรุปสั้นๆ ส่งท้ายบทความนี้ก็คือในปีหน้า สำหรับขาขึ้นของราคาน้ำมันดิบ พวกเขา (นักลงทุน) จะต้องเจอกับแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อ ที่ทำให้ต้นทุนด้านการดำเนินงานทุกอย่างแพงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน หากว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลดลงต่ำกว่า $60 ต่อบาร์เรล พวกเขาจะต้องเจอกับแรงกดดันของข่าวดีที่มีวัคซีนต้านโควิดรุ่นใหม่ๆ ออกมา หากจะเรียกว่าปี 2022 คือภาคต่อ 2.5 ในเฟสของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็คงจะไม่ผิดมากนัก