จากตอนแรก ใครใครก็ต่างพากันคิดว่าถึงเวลาที่หุ้นสายการบินจะกลับมาเปล่งประกายได้เสียที แต่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” กลายเป็นการดับความฝันนั้น หุ้นกลุ่มสายการบินกำลังจะจบปี 2021 ด้วยความไม่ชัดเจนอีกหนึ่งปี และเป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวร่วงลงมามากที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นโลก
กองทุน ETF ที่ใช้วัดสภาวะของตลาดสายการบินทั่วโลก Global Jets ETF (NYSE:JETS) ปรับตัวลดลงมากกว่า 12% ภายในช่วงเวลาเพียงแค่หนึ่งเดือน การร่วงลงครั้งนี้ได้พาหุ้นของบริษัทสายการบินที่ใหญ่ที่สุดอย่างเดลตา แอร์ไลน์ (NYSE:DAL) กลับเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งขาลงอีกครั้ง ด้วยการร่วงลงมา 27% จากจุดสูงสุดในรอบ 52 สัปดาห์ จนกว่านักวิทยาศาสตร์จะสามารถระบุความรุนแรงของโอมิครอนได้อย่างชัดเจน เชื่อว่านักลงทุนในตลาดจะยังไม่กล้ากลับเข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้
นอกจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าหุ้นสายการบินยังไม่น่าสนใจเป็นเพราะต้นทุนทางด้านพลังงานจากภาวะเงินเฟ้อ ที่บังคับให้สายการบินต้องหารายได้เพิ่มทั้งๆ ที่ผู้โดยสารยังไม่กล้ากลับมาขึ้นเครื่องบินอย่างเต็ม 100%
สายการบินเดลตา แอร์ไลน์ได้ออกมาเตือนในปลายเดือนตุลาคมว่ามีโอกาสที่รายงานผลประกอบการของไตรมาสนี้จะกลับไปเป็นตัวเลขสีแดงอีกครั้ง พวกเขาคาดว่าราคาน้ำมันอาจจะขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ $2.40 ต่อแกลลอน มากกว่าช่วงไตรมาสที่สามที่ $1.94 ต่อแกลลอน กลายเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลให้กับสายการบินได้พอๆ กับการระบาดเลยทีเดียว
สำหรับสายการบิน ต้นทุนที่หนักที่สุดคือราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าแรงของลูกจ้างภายในองค์กร ตราบใดที่ราคาน้ำมันยังสูงอยู่เช่นนี้ ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญขัดขวางการคืนชีพของหุ้นสายการบิน จากการระบาดที่กินเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่
เป็นช่วงเวลาที่ไม่ง่ายเลยสำหรับสายการบิน
สัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารชื่อดังโกลด์แมน แซคส์พึ่งประกาศลดความเชื่อมั่นของหุ้นสายการบินเซาท์เวสต์ แอร์ไลน์ (NYSE:LUV) ลงจาก “ปานกลาง” เป็น “เทขาย” ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ได้ลดระดับราคาเป้าหมายของหุ้นจาก $59 ลงมาเป็น $36 โกลด์แมน แซคส์ให้ความเห็นต่อการตัดสินใจครั้งนี้ว่า
“ปัญหาเงินเฟ้อยิ่งทำให้อุตสาหกรรมสายการบินที่ฟื้นตัวได้ยากอยู่แล้ว ยิ่งฟื้นตัวได้ยากเข้าไปอีก ความสามารถในการทำกำไรของหุ้นสายการบินจะยิ่งทำได้ยาก ภายใต้สภาพแวดล้อมของประเทศที่การจับจ่ายใช้สอยถูกกัดกินมูลค่าด้วยเงินเฟ้อ เราเชื่อว่าการกลับมาทำกำไรได้ดีอย่างเช่นช่วงก่อนโควิดของสายการบินเซาท์เวสต์ จะยิ่งทำได้ยากกว่าเดิม ไม่ใช่แค่เฉพาะสายการบินนี้ แต่รวมถึงสายการบินอื่นๆ ด้วย”
สายการบินเซาท์เวสต์กล่าวกับนักลงทุนในเดือนตุลาคมว่าตั้งแต่ไตรมาสนี้ไปจนถึงตลอดทั้งปี 2022 พวกเขาจะสามารถทำกำไรและปันผลในปี 2023 รวมแล้วได้ $1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะเดียวกัน สายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ (NASDAQ:AAL) ก็ได้ออกมาเตือนนักลงทุนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านต้นทุนราคาพลังงานในไตรมาสนี้ อเมริกัน แอร์ไลน์อาจจะต้องยอมซื้อน้ำมันในราคา $2.48 ต่อแกลอน เพิ่มขึ้นจาก $2.07 ในไตรมาสที่สาม
ท่ามกลางปัจจัยกดดัน ก็ยังพอจะมีข้อมูลเชิงบวกออกมาสนับสนุนหุ้นกลุ่มสายการบินอยู่บ้าง ข้อมูลจากหน่วยงานจากกระทรวงความมั่นคงของสหรัฐฯ ที่มีอำนาจเหนือการรักษาความปลอดภัยของประชาชนที่เดินทางในประเทศสหรัฐอเมริกา (TSA) ระบุว่าแนวโน้มความต้องการเดินทางด้วยสายการบินในปี 2020 ยังมีสูงกว่าตัวเลขในปี 2020 ข้อมูลล่าสุดระบุว่า 85% ของผู้ทำแบบสำรวจยังต้องการเดินทางด้วยเครื่องบิน อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้ออกมาน้อยกว่า 90% ในช่วงก่อนวันขอบคุณพระเจ้า แม้ว่าตัวเลขจะลดลง แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นกับคำว่าตื่นตระหนก
ถึงกระนั้นข้อมูลนี้ไม่ได้ลบความจริงที่ว่าการลงทุนในหุ้นสายการบินไม่ใช่ความคิดที่ดีในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กองทุน ETF JETS ปรับตัวลดลงไปแล้ว 27% ภายในช่วงระยะเวลาห้าปีล่าสุด ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ดัชนีเอสแอนด์พี 500 สามารถปรับตัวขึ้นได้มากกว่าสองเท่า และต่อให้ปีหน้าหุ้นสายการบินสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้จริง ก็มีโอกาสน้อยมากที่จะกลับไปดีเท่ากับช่วงก่อนโควิด นั่นจึงเป็นเหตุผลให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่สรุปกันว่า การเติบโตของหุ้นสายการบินในปี 2022 จะมีอุปสรรคเป็นการระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ และต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น
โดยสรุปแล้ว
หุ้นสายการบินไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีในช่วงนี้ ด้วยปัจจัยกดดันสามประการ การระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ เงินเฟ้อที่ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น กับต้นทุนในการจ้างพนักงานในช่วงที่ไม่สามารถกลับมาทำกำไรได้อย่างเต็มสูบ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ หุ้นสายการบินจะยังไม่สามารถทำกำไรได้อย่างโดดเด่น ถึงแม้ว่าจะอยู่ในปี 2022 แล้วก็ตาม