ถึงแม้ว่าสัปดาห์ที่แล้วจะเป็นขาลงที่รุนแรงที่สุดของราคาน้ำมันตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2020 แต่จนถึงตอนนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนพึ่งจะออกมาเรียกความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดใหม่เมื่อคืน ตลาดลงทุนก็ยังไม่อาจฟันธงได้ว่าทิศทางการลงทุนในสัปดาห์นี้ควรจะเป็นเช่นไร
การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนากลับมาเป็นประเด็นให้ต้องจับตามองอีกครั้ง เมื่อมีการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่แอฟริกา นำไปสู่การสั่งเพิ่มมาตรการคุมเข้มในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก บ้างก็ว่านี่คือสภาวะกระต่ายตื่นตูม บ้างก็ว่านี่อาจจะทำให้มนุษยชาติต้องกลับไปเริ่มนับศูนย์กับการสู้โควิดรอบใหม่ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครที่สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับการระบาดใหม่ได้อย่างแม่นยำ จนกว่าเราจะได้เห็นยอดผู้ติดเชื้อ ยอดผู้เสียชีวิตระลอกใหม่ ข้อมูลเหล่านั้นน่าจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุด
การกลับมาเป็นกระแสของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ถือว่าเลือกเวลากลับมาได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ เพราะการระบาดของโอไมครอนจะยิ่งทำให้การประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและชาติพันธมิตร (OPEC+) ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้กลายเป็นที่จับตามองมากยิ่งขึ้น ก่อนหน้านี้พวกเขาก็มีประเด็นกับสหรัฐอเมริกาในเรื่องที่ไม่ยอมเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อต่อสู้กับภาวะน้ำมันแพงทั่วโลก
การระบาดระลอกนี้อาจจะทำให้ OPEC+ ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาดุลยภาพของตลาดน้ำมัน ที่สำคัญการประชุมครั้งนี้ถึงจะเป็นออนไลน์ แต่ก็มีแต่รัฐมนตรีคนสำคัญเข้าร่วมไม่ว่าจะเป็นท่านอับดุลลาซิส บิล ซัลมาน ของซาอุดิอาระเบีย และนายอเล็กซานเดอร์ โนวาค รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซีย นาย Eamonn Sheridan นักวิเคราะห์จาก ForexLive ให้ความเห็นต่อการลงทุนในสัปดาห์นี้ว่า
“ผลของการประชุมอาจเป็นการต่อเวลาให้ตลาดลงทุนได้สบายใจไปก่อนท่ามกลางความเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่”
ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ ราคาน้ำมันดิบ WTI สามารถปรับตัวกลับขึ้นมาวิ่งอยู่ที่ $71.22 ต่อบาร์เรล คิดเป็นการปรับตัวขึ้นมา 4.5% เทียบกับขาลงเมื่อวันศุกร์ 11% ในขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็สามารถวิ่งกลับขึ้นมาอยู่ที่ $71.31 ต่อบาร์เรล คิดเป็นขาขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับขาลงเมื่อวันศุกร์ 12%
การฟื้นตัวกลับมาของราคาน้ำมันเชื่อถือได้มากเพียงใด?
สำหรับนักลงทุนน้ำมัน การฟื้นตัวกลับมาตอนนี้แม้ว่าจะเล็กน้อย แต่ก็มากพอที่จะเป็นความหวังให้กับพวกเขาได้ ขาขึ้นเล็กๆ นี้เป็นเหมือนกับการต่อรอง โดยมีความหวังว่าผลการประชุมของ OPEC+ จะลงเอยด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน เพื่อต่อสู้กับความเสี่ยงจากโอไมครอน
เจฟฟี่ ฮัลลีย์ นักวิเคราะห์จาก OANDA แสดงความเห็นต่อขาขึ้นเล็กๆ นี้ว่า “หากเทียบว่านี่คือการซื้อของในตลาด ขาขึ้นที่เกิดขึ้นมาคือการเสนอต่อรองราคาครั้งแรก ทีนี้ก็ต้องรอดูแล้วว่าฝั่งคนขายจะยอมรับที่ราคา$70 ต่อบาร์เรลได้หรือไม่”
ฟิล ฟินน์ นักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ Price Futures Group ในชิคาโกให้ความเห็นที่เห็นด้วยกับเจฟฟี่ เขาวิเคราะห์ว่า
“ที่ระดับราคา $72 ต่อบาร์เรลของ WTI ถือว่าเป็นราคาที่ถูกมากแล้ว นี่เทียบได้กับการลดราคาในช่วง Black Friday เลยทีเดียว ถ้าผมจะลองเสี่ยงกับขาขึ้นของน้ำมันดิบ ผมก็จะเลือกที่ระดับราคาบริเวณนี้ สำหรับโอไมครอน ผมก็ไม่อยากให้กลับไปที่จุดล็อกดาวน์อีกครั้ง ถ้าสุดท้ายแล้ว โลกเราได้ข้อสรุปว่าโอไมครอนไม่ได้รุนแรงต่างไปจากเดลตา ใครก็ตามที่เข้าซื้อ WTI ตอนนี้ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ยอดเยี่ยมมากๆ”
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นว่าตอนนี้คือจุดต่ำสุดของราคาน้ำมัน WTI นายซาเมียร์ มาดินี่ นักวิเคราะห์ผู้ติดตามราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดมองว่าขาขึ้นตอนนี้เป็น “ขาขึ้นหลอกๆ”
“ส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าประเทศจีนยังไม่ยอมซื้อน้ำมันที่ราคานี้แน่ อาจจะต้องรอให้ราคาน้ำมันลงไปอีกสักรอบสอบรอบ ถึงจะเป็นราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับโอไมครอนแล้วว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด สัปดาห์นี้เราน่าจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับโอไมครอนมากขึ้น”
ทองคำอาจกลับมาเป็นที่หมายปองในฐานะสินทรัพย์สำรองปลอดภัย
ความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนทำให้ทองคำก่อนเปิดตลาดนิวยอร์กเมื่อวานนี้วิ่งขึ้นมาประมาณ 0.5%
เจฟฟี่ ฮัลลีย์ นักวิเคราะห์คนเดิมจาก OANDA ให้ความเห็นเกี่ยวกับราคาทองคำว่า
“จากจุดเปิดตลาดของทองคำที่ $1,770 สัปดาห์นี้เราจึงให้แนวต้านของทองคำเอาไว้ที่ $1,800 - $1,815 ในระหว่างนั้น มีความเป็นไปได้ที่ขาขึ้นของทองคำจะต้องติดแนวต้านที่ $1,780 และหากไม่สามารถยืนเหนือ $1,770 ได้ มีโอกาสที่จะได้เห็นราคาทองคำวิ่งกลับลงไปทดสอบ $1,760 และ $1,740”
การถือกำเนิดขึ้นของโอไมครอนอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจเกี่ยวกับการร่นระยะเวลาการลด QE ลง ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจอเมริกายังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ที่สำคัญ สัปดาห์นี้มีเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจมากมายที่อาจทำให้ราคาทองคำผันผวนได้ ไม่ว่าจะเป็นแถลงการณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ และรัฐมนตรีกระทรวงการคลังต่อสภาคองเกรสในวันนี้ และการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ในวันพฤหัสบดี
สำหรับหัวข้อในแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสครั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดที่พึ่งจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในสมัยที่สองจะต้องชี้แจงการใช้งบประมาณในโครงการเงินเยียวยาสถานการณ์การแพร่ระบาด (CARES) ต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาด้านการธนาคารก่อนในวันนี้ และแถลงต่อคณะกรรมการสภาบริการทางการเงินของสหรัฐอเมริกาในวันพรุ่งนี้ ร่วมกันกับนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ
ที่สำคัญ อย่าลืมว่าวันศุกร์นี้จะมีการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ประจำเดือนพฤศจิกายน นักวิเคราะห์คาดว่าครั้งนี้ตัวเลขการจ้างงานจะออกมาอยู่ที่ 550,000 ตำแหน่ง และมีอัตราการว่างงานที่ลดลงมาเป็น 4.5% ความสำคัญของตัวเลขการจ้างงานฯ ในวันศุกร์นี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะมีการประชุมกันในช่วงกลางเดือนธันวาคม เป็นรอบสุดท้ายของปี 2021 นักวิเคราะห์เชื่อว่าตัวเลขการจ้างงานฯ ที่ประกาศออกมา จะมีผลต่อการเพิ่มหรือลด QE ด้วย