ในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังวิจารณ์การทำงานของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และนางคริสตีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) อย่างสนุกปาก เกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมทั้งสองธนาคารกลางถึงลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ช้ากว่าธนาคารกลางอื่นๆ แต่เมื่อมองอย่างเป็นธรรม อาจเป็นไปได้ว่าทั้งสองอาจมองเกมขาดมากกว่าธนาคารกลางอื่นๆ หรือแท้จริงแล้วกำลังพยายามปฏิเสธความจริงว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับการสร้างภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกครั้งนี้ขึ้นมา
ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เคยประกาศว่าพร้อมขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ ถึงแม้ว่าการประกาศอย่างเป็นทางการอาจต้องรอการประชุมภายในสัปดาห์นี้ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ประกาศเลิกตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลฯ คืน ส่งสัญญาณว่าพวกเขาพร้อมทิ้งการทำ QE ไปแล้วเพราะต้องการสกัดกั้นเงินเฟ้อ ส่วนธนาคารกลางแคนาดา (BoC) ผู้ที่นำร่องเปลี่ยนนโยบายการเงินเร็วที่สุด ตัดสินใจยุติแผนการใช้ QE ไปแล้ว และพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีหน้า
ถึงแม้ว่าทุกคนจะสัมผัสได้ว่าภาวะเงินเฟ้อกำลังส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตจริงๆ และนักวิเคราะห์หลายฝ่ายก็เชื่อว่าการประชุมในวันที่ 2-3 พฤศจิกายนนี้จะเป็นจุดเริ่มการลด QE แต่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ยังคงเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อในตอนนี้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว และไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย คริสตีน ลาการ์ด ประธาน ECB เองก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน เธอยังคงมองว่าไม่จำเป็นต้องรีบร้อนขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นปี 2022
การประกาศหยุดใช้ยากระตุ้นช่วยเหลือเศรษฐกิจไปเลย ประกอบกับความเป็นไปได้ที่อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วที่สุดเดือนเมษายนปี 2022 ของธนาคารกลางแคนาดาทำให้ตลาดลงทุนประหลาดใจได้พอสมควร ถึงกระนั้น BoC ก็ยังยอมรับว่าภาคการผลิตยังต้องการเงินสนับสนุนจากนโยบายของภาครัฐอยู่พอสมควร ตามการคาดการณ์ของ BoC สถานการณ์จะเริ่มเข้าสู่ปกติภายในช่วงกลางปี 2022
การประชุมของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ถือว่าต้องจับตาดูมากกว่าทุกครั้ง หลังจากที่ธนาคารกลางฯ ประกาศระงับแผนปรับขึ้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในเดือนเมษายนปี 2024 ตอนนี้นักลงทุนกำลังกังวลว่าการระงับครั้งนี้จะนำไปสู่การปรับลดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอย่างเป็นทางการเลยหรือไม่ ตลาดหวังว่าจะได้เห็นข้อสรุปของประเด็นนี้ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันพรุ่งนี้ตามเวลาประเทศไทย
สภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาคือสิ่งที่ควรเป็นกังวลอย่างจริงจัง ล่าสุดตัวเลขการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ปรับตัวขึ้นเป็น 4.4% YoY สูงที่สุดในรอบสามสิบปี ในขณะที่ตัวเลขการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน ที่ไม่คำนวณราคาอาหารและพลังงาน ยังทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่พฤษภาคม 1991 ด้วยตัวเลข 3.6% อนึ่ง ทั้งสองตัวเลขนี้ถือเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ
โจ ไบเดนอาจกำลังทำลายพาวเวลล์ทางอ้อม
บิล แอคแมน ผู้จัดการกองทุนหลักพันล้านดอลลาร์กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าได้เข้าพบกับผู้ว่าการธนาคารกลางสาขานิวยอร์ก และได้บอกกับเขาว่าธนาคารกลางต้องรีบลดวงเงิน QE ให้เร็วที่สุด และถ้าเป็นไปได้ ก็ต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วย ธนาคารกลางสาขานิวยอร์กถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะผู้ว่าการของธนาคารกลางภูมิภาคนี้มีสิทธิ์ในการออกเสียงวางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ
ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดนก็ได้เลื่อนวันประกาศผู้ที่มีสิทธิ์ลงแข่งขันในการเป็นประธานเฟดคนต่อไปออกไปก่อน สร้างความกังขาให้กับคนในแวดวงการเงินเป็นอย่างมาก ก่อนหน้านี้ประธานเฟดคนปัจจุบันก็มีประเด็นกับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังนางเจเน็ต เยลเลนที่ว่าอาจเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกันทำให้เกิดเงินเฟ้อในตอนนี้อยู่แล้ว
การกระทำเช่นนี้ของไบเดนยิ่งสร้างความเคลือบแคลงให้กับผู้ที่เฝ้าดูสถานการณ์ เพราะแม้แต่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก็ยังประกาศช้าสุดคือวันที่ 2 พฤศจิกายน และยิ่งเลื่อนนานเท่าไหร่ ความชอบธรรมในการครองบัลลังก์สมัยที่สองของพาวเวลล์ก็ยิ่งน้อยลง แต่แม้ว่าพาวเวลล์จะได้เป็นประธานเฟดสมัยที่สอง หรือเลล เบรนาร์ด จะได้ขึ้นมาแทนที่ นโยบายการเงินก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้แบบฉับพลันอยู่ดี
หากจะเรียกว่าตอนนี้พายุมรสุมกำลังล้อมหน้าล้อมหลังเจอโรม พาวเวลล์ก็คงจะไม่ผิดนัก อลิซาเบธ วอร์เรน สมาชิกวุฒิสภาสูงพรรคเดโมแครตของอเมริกาถึงกับกล่าวว่า “เจอโรม พาวเวลล์เป็นบุคคลอันตราย” พร้อมทั้งประกาศกร้าวว่าเธอจะไม่ลงชื่อเลือกพาวเวลล์เป็นประธานเฟดสมัยที่สองอย่างแน่นอน อลิซาเบธให้เหตุผลว่าพาวเวลล์ประมาทเกินไปในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน
ไม่ใช่แค่เฉพาะนางอลิซาเบธเท่านั้น แต่ริก สกอตต์ สมาชิกวุฒิสภาสูงพรรครีพลับลิกันกล่าวว่าเขาเองก็จะไม่สนับสนุนพาวเวลล์ด้วยเช่นกัน การที่วุฒิสภาสองท่านจากทั้งสองพรรคมีความเห็นเหมือนกัน ดูเหมือนว่าเจอโรม พาวเวลล์จะตกที่นั่งลำบากในการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาแล้ว