นักลงทุนทั้งหลายเตรียมรัดเข็มขัดเอาไว้ให้มั่น เพราะ 24 ชั่วโมงนับจากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ผันผวนที่สุดของตลาดสกุลเงิน!!
นอกจากการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) และธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) นักลงทุนยังต้องจับตาดูรายงานตัวเลขเศรษฐกิจอย่างเช่นตัวเลขการว่างงานและดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเยอรมัน ส่วนฝั่งสหรัฐฯ ก็จะมีตัวเลข GDP ของสหรัฐเมริกา หากถามว่าการประชุมของธนาคารกลางใดสำคัญที่สุด ก็คงต้องตอบว่าเป็น ECB ถึงแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในญี่ปุ่นจะมีการเติบโต แต่ BoJ ไม่ได้มีทางเลือกมากนอกจากต้องคงตัวเลขอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ดังเดิมที่ -0.10% (และก็เป็นไปตามนั้น) ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปเองก็ถูกคาดการณ์เอาไว้ว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ดังเดิม แต่เพราะเมื่อวานนี้ธนาคารกลางแคนาดาได้เซอร์ไพรส์ด้วยการประกาศจบ QE อย่างเป็นทางการ และธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มลดวงเงิน QE ในการประชุมสัปดาห์หน้าแน่นอน ทำให้การประชุม ECB ในวันนี้จะถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าจะมีอะไรเซอร์ไพรส์ตลาดก่อนหรือไม่
ย้อนกลับไปในการประชุมของ ECB เมื่อเดือนกันยายน ตอนนั้น ECB ได้ประกาศลดวงเงินบางส่วนในโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากโรคระบาด (PEPP) เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัวบ้างแล้ว ซึ่ง ECB ก็ได้ออกมาบอกเองว่าการลดวงเงินนั้นจะยังไม่ใช่การลด QE แต่ด้วยสถานการณ์ในตอนนี้ที่อัตราเงินเฟ้อขึ้นทะยานขึ้นสร้างจุดสูงสุดในรอบสิบสามปี และธนาคารกลางอื่นๆ เริ่มพูดแล้วว่าเงินเฟ้ออาจอยู่กับมนุษย์นานกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงมีความเป็นไปได้ที่นางสาวคริสตีน ลาการ์ด ประธาน ECB อาจจะดำเนินการอะไรบางอย่างที่ช่วยผ่อนคลายแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อลง
เพราะตลาดคาดการณ์เอาไว้แล้วว่านโยบายทางการเงินของ ECB วันนี้อาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้บางส่วนประเมินว่าคำพูดของลาการ์ดอาจจะไม่ได้ทำราคาขยับมากนัก หากเธอยังคงยืนยันว่าเงินเฟ้อในตอนนี้เป็นเรื่องชั่วคราว ไม่สนใจว่าราคาสินค้าในยุโรปจะแพงขึ้นมากน้อยเพียงใด สกุลเงินยูโรจะยังคงอ่อนค่าต่อไปเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่หากเธอยอมรับความจริงว่าเงินเฟ้ออาจอยู่กับยุโรปนานกว่าที่ประเมินเอาไว้ตอนแรก หรือยอมรับว่าเงินเฟ้อตอนนี้เป็นภัยต่อเศรษฐกิจยุโรปจริง สกุลเงินยูโรอาจได้โอกาสแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ในช่วงเวลาที่ลาการ์ดกำลังแถลงเกี่ยวกับการประชุมของ ECB บังเอิญเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่สหรัฐอเมริกาจะประกาศตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 3 พอดี ในตอนแรกนักวิเคราะห์ประเมินว่าตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 3 ของสหรัฐฯ จะเติบโตไปพร้อมๆ กับภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อได้เห็นตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของธนาคารกลางแห่งแอตแลนต้า จึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าตัวเลขที่จะออกมาในวันนี้ว่าอาจจะหดตัวลดลงจาก 6.7% เป็น 3% เท่านั้น
ถึงแม้ว่ารายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ จะแสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจมีความสุขดีกับการภาพการฟื้นตัว แต่ตัวเลขยอดค้าปลีกและดุลบัญชีการค้าในไตรมาสที่ 3 กลับอ่อนแอ กราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีเมื่อคืนนี้ปรับตัวลดลงมากที่สุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม โดยมีสาเหตุมาจากการหดตัวของตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เช่นเดียวกับดาวโจนส์ที่ปรับตัวลดลงมากกว่า 200 จุดทั้งๆ ที่รายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ตลอดทั้งสัปดาห์ออกมาดี ดอลลาร์สหรัฐจึงกลับมาแข็งค่าในฐานะสกุลเงินสำรองอันดับหนึ่งอีกครั้ง
แน่นอนว่าจะไม่พูดถึงเหตุการณ์เซอร์ไพรส์ที่สุดเมื่อคืนนี้ที่แคนาดาก็คงจะไม่ได้ เมื่อนายทิฟฟ์ แม็คเล็ม ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดาประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า “การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศใกล้จะกลับมาเหมือนเดิมแล้ว ดังนั้นพวกเรา (ประเทศแคนาดา) จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพา QE อีกต่อไป” นอกจากนี้ ธนาคารกลางแคนาดายังพูดถึงอัตราดอกเบี้ยด้วยว่าจะคงเอาไว้ที่ 0.25% ไปจนถึงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2022 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าคาดการณ์เดิมที่เชื่อว่าจะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ข่าวดีนี้จึงทำให้ดอลลาร์แคนาดาแข็งค่า่ และกราฟ USDCAD จึงวิ่งกลับลงไปทดสอบจุดต่ำสุดเดิมที่ 1.2315 อีกครั้ง