-
สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงเติบโตดีกว่าคาด ได้ช่วยหนุนให้ตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อ
-
ตลาดจะจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป โดยเฉพาะแนวโน้มการปรับมาตรการคิวอี และยังคงติดตามรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก
-
เงินดอลลาร์ มีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways แต่อาจอ่อนค่าลงตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้ ทั้งนี้ ปัญหาเงินเฟ้อที่ทำให้ตลาดคาดหวังว่าเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วกว่าคาด จะช่วยพยุงให้เงินดอลลาร์ไม่อ่อนค่าไปมาก นอกจากนี้ หาก ECB ยังไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดก็อาจกดดันเงินยูโรและช่วยพยุงเงินดอลลาร์ได้ ส่วนเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น ตามฟันด์โฟลว์ไหลเข้าหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงแรงขายทำกำไรทองคำหากราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก เนื่องจากเราเริ่มเห็นผู้นำเข้าทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน โดยแนวรับเงินบาทอยู่ในโซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์
-
มองกรอบเงินบาท สัปดาห์นี้
33.00-33.45 บาท/ดอลลาร์
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
-
ฝั่งสหรัฐฯ – รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนช่วยให้ตลาดสามารถเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อได้ นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะโตเพียง +2.8% จากที่โตกว่า +6.7% ในไตรมาสที่ 2 โดยการชะลอลงของเศรษฐกิจมาจากปัญหาการระบาดที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตลาดก็คาดว่า เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังสถานการณ์ระบาดเริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ โดยตลาดจะรอจับตาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ (PCE) ในเดือนกันยายน ว่าจะมีการเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามากน้อยเพียงใด ซึ่งหากเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและสินค้าพลังงาน (Core PCE) พุ่งขึ้นมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ที่ระดับ +0.2% จากเดือนก่อนหน้า ก็อาจทำให้ตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและคาดหวังว่า เฟดอาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดได้เร็วกว่าคาด
-
ฝั่งยุโรป – ตลาดประเมินว่าผลกระทบจากการระบาดของเดลต้าในช่วงไตรมาสที่ 3 จะกดดันให้ การเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอลงเหลือ +3.5%y/y จากที่โตได้กว่า +14.3% ในไตรมาสที่ 2 ทั้งนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนที่ปัจจุบันยังเผชิญปัญหาด้าน Supply Chain ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงอีกด้วย โดยหากระดับเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง อาจกดดันให้การบริโภคชะลอลงและกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ได้ ทั้งนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มเงินเฟ้อผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนตุลาคม ซึ่งคาดว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 3.7% หนุนโดยราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้นแรง รวมถึงการฟื้นตัวของการใช้จ่ายหลังสถานการณ์การระบาดไม่ได้น่ากังวลมากนัก นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยในการประชุมครั้งนี้ ตลาดมองว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ไว้ที่ระดับ -0.50% และคงปริมาณการทำคิวอีตามเดิม เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ตลาดจะจับตามุมมองของ ECB ต่อภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงอย่างปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและอาจอยู่ในระดับสูงได้นานกว่าคาด ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองว่า ECB จะประกาศแผนปรับการทำคิวอีอย่างชัดเจนในการประชุมเดือนธันวาคม หลังรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจใหม่ก่อน โดย ECB อาจจะพยายามปรับให้การทำคิวอีทยอยลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม
-
ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังจากที่สถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้นต่อเนื่องจากการเร่งแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งตลาดคาดว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกันยายน จะขยายตัว +1.5% จากเดือนก่อนหน้า หลังจากที่หดตัวกว่า -4.1% ในช่วงที่ญี่ปุ่นเผชิญการระบาดหนัก นอกจากนี้ การทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจะช่วยหนุนแนวโน้มการขยายตัวของการบริโภค อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป เพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.10% พร้อมคงการทำคิวอีและตรึงบอนด์ยีลด์ 10ปี ไว้ที่ระดับ 0.00% ทั้งนี้ นโยบายการเงินของ BOJ ที่ดูจะผ่อนคลายมากกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เริ่มจะทยอยลดคิวอี จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ค่าเงินเยน (JPY) ทรงตัวในกรอบ 113 เยนต่อดอลลาร์ได้ แม้เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงมาบ้าง
-
ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่า ดุลการค้าในเดือนกันยายนมีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่องราว 1 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากยอดการนำเข้า (Imports) ยังคงอยู่ในระดับสูงและโตได้กว่า +35%y/y หนุนโดยราคาสินค้าต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหา Supply chain disruption รวมถึงราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในเดือนกันยายน ขณะที่ ยอดการส่งออก (Exports) จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวและขยายตัวราว +12%y/y ตามการฟื้นตัวทั่วโลกหลังสถานการณ์ COVID-19 เริ่มสงบลงและหลายประเทศก็เริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown