โดยปกติแล้วเดือนตุลาคมจะได้ชื่อว่าเป็นเดือนหนึ่งที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง ส่วนตัวเชื่อว่าในสองสามวันที่ผ่านมา นักลงทุนทุกท่านน่าจะได้สัมผัสกันมาบ้างแล้วกับภาพที่เราได้เห็นดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์สปรับตัวลดลงมากกว่า 300 จุด ก่อนที่จะวิ่งกลับขึ้นมาปิดเป็นบวกได้มากกว่า 100 จุดก่อนปิดตลาด เพราะมีข่าวดีรายงานเข้ามาว่าผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาสูงนายมิตต์ แมคคอร์นเนลได้ยื่นข้อเสนอขยายเพดานหนี้ระยะสั้นให้กับพรรคเดโมแครต ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีเงินใช้ไปจนถึงเดือนธันวาคมปี 2021
ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ต้องใช้คำว่านี่คือข่าวดีสำหรับตลาดลงทุน นักลงทุนตอนนี้เหมือนคนที่เดินหลงทางอยู่ในทะเลทราย ขอเพียงเห็นแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นของจริงหรือภาพลวงตาก็พร้อมที่จะกระโจนเข้าไปหาอย่างไม่ต้องคิดมาก ส่วนตัวแล้วเราไม่เชื่อขาขึ้นในตอนนี้เพราะสิ่งที่แมคคอร์นเนลยื่นให้เป็นเพียงตัวช่วยต่อลมหายใจในระยะสั้น พรรครีพับลิกันยังคงปฏิเสธที่จะให้ขยายเพดานหนี้ในระยะยาว และยังคงค้านเสียงแข็งกับร่างกฎหมายปรับโครงสร้างพื้นฐานประเทศของโจ ไบเดน เชื่อว่าประเด็นนี้จะยังเป็นธีมให้ถกเถียงกันต่อไปจนถึงสิ้นปี 2021
ดราม่าทางการเมือง และการถอนคันเร่งของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนหน้า ทำให้นักลงทุนหลายคนเริ่มปิดคำสั่งซื้อขายในตลาดหุ้น ทยอยทำกำไรกันออกมาบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ อีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาก็ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกไม่นาน ประเด็นนี้ก็จะกลายเป็นธีมหลักในตลาดลงทุนด้วยเช่นกัน ตลาดลงทุนอาจจะพอเบาใจได้บ้างหากสหรัฐฯ ตัดสินใจยอมให้มีการใช้น้ำมันจากคลังน้ำมันสำรองฉุกเฉิน แต่รายงานจากกระทรวงพลังงานล่าสุดเปิดเผยว่าข้อเสนอนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน ดอลลาร์สหรัฐอาจกลับมาแข็งค่าอีกครั้งก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานในวันศุกร์ รายงานตัวเลขการจ้างงานจากภาคเอกชนโดย ADP ประจำเดือนกันยายนฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ นักเศรษฐศาสตร์จึงเริ่มหวังว่าจะเห็นตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่จะประกาศในวันพรุ่งนี้เพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานลดลง ถึงแม้ว่าดัชนี PMI ภาคการบริการในเดือนกันยายนจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่กิจกรรมในภาคการบริการก็ยังขยายตัวได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับเดือนก่อน
เมื่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า สกุลเงินอื่นจึงพากันปรับตัวลดลง ไม่เว้นแม้แต่สกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ ถึงแม้ว่าธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) จะเป็นธนาคารกลางแรกที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่การปรับขึ้นเพียง 25 จุดเบสิสก็ถือว่าน้อยกว่าที่ตลาดลงทุนหวังเอาไว้ ที่จริงแล้วสิ่งที่นักลงทุนต้องการเห็นจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยคือความมั่นใจของธนาคารกลาง ไม่ว่า RBNZ จะปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเจ็ดปี หรือจะดึงสภาพคล่องออกจากตลาด สิ่งที่นักลงทุนต้องการเห็นมากที่สุดคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่านี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า RBNZ มีความมั่นใจว่าการระบาดชองเชื้อไวรัสโควิด-19 จะไม่เป็นภัยคุกคามนิวซีแลนด์อีกต่อไป