ก่อนที่สิ้นปี 2021 จะมาถึง ตอนนี้การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ เหลืออีกเพียงสามรอบเท่านั้น ถ้าหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องการให้เวลากับตลาดได้เตรียมตัวรองรับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) พวกเขาจำเป็นต้องประกาศอะไรสักอย่างในการประชุมคืนนี้ และคำถามที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดจะต้องเจอมากที่สุดในการแถลงคืนนี้ก็คงหนีไม่พ้น “เมื่อไหร่ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มลดวงเงิน QE?”
สิ่งเดียวที่นักลงทุนในตลาดต้องการทราบจากการประชุมครั้งนี้คือการบอกวันเวลาที่จะเริ่มปรับลด QE อย่างชัดเจน เป็นเวลานานหลายเดือนแล้วที่นักลงทุนรอคอยกับคำตอบนี้ ซึ่งเฟดก็เอาแต่นวดตลาดมาโดยตลอด เหมือนจะให้คำตอบ แต่ก็เป็นคำตอบที่ไม่ชัดเจน จนทำให้นักวิเคราะห์บางกลุ่มเชื่อว่าเฟดมีเวลาที่จะลด QE อยู่ในใจแล้ว และคาดว่าจะเป็นการประชุมในค่ำคืนนี้ การประชุมครั้งก่อนหน้าที่แจ็คสัน โฮล ประธานเฟดเคยพูดว่าจะเริ่มปรับลดวงเงิน QE ก่อนสิ้นปี 2021 แต่ตัวเลขในตลาดแรงงานยังคงต้องปรับปรุง การประชุมก่อนหน้านั้นในเดือนกรกฎาคม ธนาคารกลางก็ออกมาพูดว่า KPI หลายๆ ตัวของพวกเขายังขึ้นไม่ถึงเป้า
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนก็เชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะไม่มีอะไรต่างไปจากเดิม พวกเขาให้เหตุผลว่าท่าทีของเฟดเริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ตั้งแต่ได้เห็นตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของเดือนล่าสุด ที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ความผันผวนในตลาด (โดยเฉพาะเดือนกันยายน) ก็เพิ่มสูงขึ้น การระบาดของเดลตาก็ยังไม่จบ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าการประชุมวันนี้จะลงเอยด้วยการไม่ให้กรอบระยะเวลาลด QE ที่ชัดเจนเหมือนเดิม แต่เฟดอาจจะพูดว่าเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ก็ยังมั่นใจว่าสามารถฟื้นกลับขึ้นมาได้ และเช่นเคย ประโยคคลาสสิค เจอโรม พาวเวลล์จะพูดว่า “การปรับลด QE จะเกิดขึ้นภายในปีนี้แน่นอน”
จะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับผลการประชุม FOMC ในคืนนี้?
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าข้อมูลเกี่ยวกับ dot-plot และการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจจะเป็นคำใบ้แรกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ เลือกที่จะอยู่ฝั่งใดระหว่างนโยบายการเงินแบบตึงตัว (hawkish) หรือผ่อนคลาย (dovish) ครั้งล่าสุดที่มีการประชุม FOMC คณะกรรมการนโยบายการเงิน 7 คนเห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีหน้า และจากสองในเจ็ดคนนั้นเชื่อว่าจะมีการปรับชึ้นดอกเบี้ยภายในปีหน้ามากกว่าหนึ่งครั้ง
ถ้าหากตัวเลขจำนวนคณะกรรมการที่เห็นกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีหน้าเพิ่มขึ้น หรือมีการคาดการณ์ใหม่ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าหนึ่งครั้ง ดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่า แต่การแข็งค่านั้นอาจจะเกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เพราะตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเงินเฟ้ออาจคงเดิม
ถัดมาคือไฮไลท์สำคัญที่นักวิเคราะห์บางคนถอดใจไปแล้ว “ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ” ความเป็นไปได้ของคำพูดเจอโรม พาวเวลล์ในวันนี้มีหลากหลายมาก แต่ไม่ว่าเขาจะพูดอะไร สิ่งเดียวที่จะทำให้นักลงทุนผิดหวังก็คือการไม่บอกกรอบระยะเวลาการลด QE ที่ชัดเจน ซึ่งหากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง ดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลง ก่อนที่เขาจะตบท้ายด้วยประโยคว่า “การลด QE จะเกิดขึ้นภายในปี 2021 แน่นอน” และถ้าเลื่อนไปเป็นเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ในมุมมองของนักลงทุนนั้นถือว่าไม่ต่างกัน และไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์แล้ว
การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อเช้านี้ผลที่ออกมาก็เป็นไปตามคาดการณ์ คงนโยบายอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ดังเดิมที่ -0.10% มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเล็กน้อย แต่อัตราเงินเฟ้อยังคงวิ่งอยู่ในระดับต่ำ ดอลลาร์ออสเตรเลียยังคงถูกกดดันจากรายงานการประชุมของธนาคารกลางออสเตรเลียเมื่อวาน ซึ่งยืนยันว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2024 หากเป็นเช่นนั้นจริง ธนาคารกลางออสเตรเลียจะเป็นธนาคารกลางที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าที่สุด ตามหลังสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดาและนิวซีแลนด์