หากพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างทองคำกับเศรษฐกิจโลกที่จริงก็คือละครฉากเดิมๆ ที่ฉายซ้ำวนไป....
ในวันที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดี ดอลลาร์แข็งค่า ทองคำร่วงโรย
ในวันที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ แย่ ดอลลาร์อ่อนค่า ทองคำชะลอตัวหรือไม่ก็ทยอยขึ้น (อย่างยากลำบาก)
ในวันที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ดีไม่แย่ ดอลลาร์ชะลอตัว ทองคำปรับตัวลดลง
ไม่ว่าข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจจะออกมาเป็นแบบไหน ดูเหมือนว่าทองคำก็ไม่เอาอะไรเลยสักอย่าง
แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในทุกวันนี้ที่ได้เห็นราคาทองคำวิ่งขึ้นลงอยู่ในกรอบสวิงประมาณ $30 - $40 และเมื่อไหร่ก็ตามที่คิดจะฟื้นตัวกลับขึ้นมา ราคาทองคำจะขึ้นมาได้เพียงครึ่งเดียว และก็จะกลับไปเป็นขาลงต่อ น้อยครั้งที่จะได้เห็นทองคำฟื้นตัวขึ้นมาเท่ากันกับที่ลงไป หรือฟื้นตัวมาจนสามารถขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้
ที่มา: SK Charting
ที่น่าแปลกใจก็คือตั้งแต่โลกนี้แต่งตั้งให้ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์สำรองอันดับหนึ่งของโลก หรือตัวคานความเสี่ยงกับดอลลาร์ที่ดีที่สุด ไม่มีครั้งไหนเลยที่เราได้เห็นทองคำซบเซาท่ามกลางช่วงเวลาที่ยังไม่สามารถพูดได้ว่าหลุดออกจากวิกฤตแล้ว ขนาดว่าย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว เราก็พึ่งจะได้เห็นทองคำสร้างจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลเหนือ $2,000 ในวันที่ดอลลาร์สหรัฐและพันธบัตรรัฐบาลถูกมองว่าไร้ค่า
ถามว่าปัจจัยสนับสนุนให้ทองคำปรับตัวขึ้นเปลี่ยนแปลงไปงั้นหรือ? คำตอบคือไม่ การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของโลกชะลอตัว นี่คือปัจจัยหนุนของทองคำตัวแรกที่เราทราบกันดี ต่อมาธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ต่อสู่กับวิกฤตโรคระบาดด้วยการอัดฉีดเงินเกือบ $2.2 ล้านล้านเหรียญในการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์อื่นๆ ตลอดระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา นี่ก็เป็นปัจจัยหนุนทองคำให้ปรับตัวขึ้นเป็นอย่างที่สอง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้เข้ามาผสมโรงช่วยธนาคารกลางอีกด้วยการอัดเงินรวมแล้ว $4.5 ล้านล้านเหรียญ เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจอีก นี่คือปัจจัยหนุนประการที่สาม คำถามก็คือแล้วทำไมสภาพของตลาดทองคำถึงได้เป็นเช่นนี้?
จากจุดสูงสุดตลอดกาลในปี 2020...ตอนนี้ทองคำร่วงลงมาแล้วมากกว่า $300
ถึงแม้ว่าในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์จะมองว่าการอัดฉีดเงินของรัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเป็นเรื่องที่ทำเกินความจำเป็น แต่ก็ต้องยอมรับว่าเงินอัดฉีดที่เป็นเหมือนยากระตุ้นนี้ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยติดเตียงกลับมาวิ่งเตะฟุตบอลได้ภายในสองสามวันหลังจากที่รับยาไป นักลงทุนยังเชื่อมั่นในดอลลาร์สหรัฐ และแม้จะรู้ว่าอเมริกายังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภัยโรคระบาดอยู่ แต่ความเชื่อมั่นที่มีในรัฐบาลก็มากพอที่ทำให้คนเลือกเอาเงินมาถือดอลลาร์เป็นสกุลเงินสำรองปลอดภัย แทนที่จะเอาไปถือทองคำ
เมื่อเศรษฐกิจอเมริกาเริ่มฟื้นตัวได้ ราคาทองคำจึงค่อยๆ ปรับตัวลดลงมาจากจุดสูงสุดตลอดกาลในปี 2020 และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง (ที่แม้ว่าจะยังไม่กลับไปเหมือนกับช่วงก่อนโควิด) ก็ทำให้ทองคำร่วงลงมาอย่างต่อเนื่อง หากนับดูดีๆ ตอนนี้ทองคำลงมาจากจุดสูงสุดนั้นมากกว่า $300 เป็นที่เรียบร้อย และอาจจะร่วงลงไปวิ่งต่ำกว่า $1,600 ได้หากยังมีสภาพเป็นเช่นนี้อยู่ หากว่าทองคำลงไปต่ำกว่า $1,600 จริง จะเท่ากับว่าขาขึ้นที่ทำมาในปีที่แล้วกำลังจะกลายเป็นศูนย์
อีกหนึ่งตัวแปรที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นตัวการที่ทำให้ทองคำถูกลืมคือการมาของราชาสกุลเงินดิจิทัลที่มีชื่อว่า...บิทคอยน์
การถือกำเนิดขึ้นของบิทคอยน์ได้เปลี่ยนนิยามของการซื้อขายแลกเปลี่ยนผ่านตัวกลางอย่างเหรียญเงินหรือธนบัตรที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าบิทคอยน์จะยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่สกุลเงินหลักได้ แต่หลายๆ ประเทศในโลกได้นำเอาแนวคิด และวิธีการทำให้สกุลเงินที่ไม่สามารถจับต้องได้มีมูลค่าขึ้นมาไปปรับใช้ อันที่จริงแล้วทองคำและบิทคอยน์ถูกจัดให้อยู่ในประเภทสินทรัพย์สำรองเหมือนกัน แต่สิ่งที่ทองคำสู้บิทคอยน์ไม่ได้เลยคือความสามารถในการทำธุรกรรมและการใช้งานที่งานกว่า รวดเร็วกว่า และสะดวกกว่า
ในขณะที่ทองคำสร้างจุดสูงสุดเหนือ $2,000 เมื่อปีที่แล้ว บิทคอยน์ก็ได้สร้างจุดสูงสุดใหม่เหนือ $60,000 เหรียญเช่นกัน แต่การปรับตัวขึ้นจาก $1,650 โดยประมาณไปยัง $2,000 ของทองคำนั้นเทียบอะไรไม่ได้เลยกับการวิ่งขึ้นจาก $4,000 ขึ้นไปยัง $60,000 โดยประมาณของบิทคอยน์ ความแตกต่างของขาขึ้นทั้งสองตลาด ทั้งๆ ที่เป็นสินทรัพย์สำรองเหมือนกันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านักลงทุนในยุคนี้มีความสนใจตลาดสกุลเงินดิจิทัลมากกว่าทองคำ ทั้งๆ ที่สกุลเงินดิจิทัลนั้นพวกเขาไม่เคยจับต้องมันได้เลยสักครั้งไม่ว่าจะเป็นเหรียญอะไรก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีการตั้งทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมาเกี่ยวกับทองคำด้วย (ในส่วนนี้ควรจะฟังหูไว้หู) มีการตั้งสมมุติฐานขึ้นมาว่าการที่ราคาทองคำเป็นเช่นนี้เป็นความตั้งใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะกดราคาทองคำเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็พยายามทำให้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐมีตัวเลขอยู่สูงกว่า 90 จุด วิธีการก็คือธนาคารกลางได้มีคำสั่งลงไปยังธนาคารพาณิชย์ให้รวมหัวกันตุนดอลลาร์แทนที่จะเป็นทองคำ
อีกหนึ่งทฤษฎีคือธนาคารกลางสหรัฐฯ พยายามเลี้ยงไข้เรื่องภาวะเงินเฟ้อเอาไว้เพื่อรัฐบาลได้ใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม พวกเขาก็เพียงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือลดวงเงิน QE เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ถ้าเงินเฟ้อที่เราเห็นทุกวันนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในการควบคุมของเฟดอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องถือทองคำไว้เพื่อเก็งความเสี่ยงเลย...หรือไม่งั้นเรื่องทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงแค่ความตระหนกของนักลงทุนหัวโบราณในเอสแอนด์พี 500 หรือตลาดหุ้นวอลล์ สตรีทไปเอง
ตลาดลงทุนที่ขับเคลื่อนด้วย “คนรุ่นใหม่”
Lance Roberts นักวิเคราะห์จากสถานบันการลงทุน RIA ในฮูสตัน วิเคราะห์ประเด็นหนึ่งเอาไว้ได้น่าสนใจ เขาให้ความเห็นว่าสิ่งที่ทำให้ทองคำมีสภาพเป็นเหมือนผู้ป่วยติดเตียงเช่นนี้เป็นเพราะช่วงอายุของนักลงทุนที่มีในตลาดนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป นักลงทุนยุคนี้ยังไม่เคยได้เจอช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นล้มครืนลงมา (ถ้าไม่นับขาลงในเดือนมีนาคมปี 2020) แบบที่ไม่มีธนาคารกลางเข้ามาอุ้ม การที่รัฐบาลและธนาคารกลางยังแจกเงินเหมือนเป็นเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนรุ่นใหม่รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้สูญเสียอะไร เพราะถึงอย่างไรก็เป็นเงินฟรีจากรัฐบาลอยู่แล้ว
“ในสายตาของคนรุ่นใหม่ สถานภาพของทองคำในตอนนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางการแลกเปลี่ยนอีกต่อไปแล้ว ในทางกลับกันพวกเขาหันไปสนใจเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้นในเชิงของการทำธุรกรรม เพราะทองคำมีจุดอ่อนในเรื่องของขั้นตอนการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ใช้เวลามากกว่า นานกว่า นั่นจึงเป็นเหตุผลที่สกุลเงินดิจิทัลเข้ามาปิดจุดอ่อนนี้ของทองคำ และทำให้ทองคำถูกลดบทบาทไปเป็น “มาตรวัดความกลัว” ของตลาดลงทุนอีกตัวหนึ่งเท่านั้น”
Lance ปิดท้ายว่าถึงแม้นักลงทุนยุคก่อนจะไม่สามารถทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ แต่โลกก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว และสุดท้ายคนรุ่นก่อนก็ต้องจากโลกนี้ไปก่อนคนรุ่นใหม่ และทิ้งโลกการเงินแบบนี้ไว้ให้พวกคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เอง ลองผิดลองถูกเอง ซึ่งอาจจะหมายถึงการยอมรับความจริงว่าทองคำกำลังจะถูกลดบทบาทลงอีกในอนาคต
ความเป็นไปได้ของราคาทองคำในอนาคตอันใกล้
ไม่มีใครในตอนนี้ตอบได้ว่าสิ่งที่คนรุ่นก่อนมองหรือคนรุ่นใหม่เชื่อ อะไรจะเป็นความจริงก่อนกัน แต่อย่างไรก็ตามเราก็ยังต้องอยู่กับปัจจุบันต่อไป คำถามสำคัญก็คือในอนาคตอันใกล้ (อย่างเช่นสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้า) ราคาทองคำจะวิ่งไปทางไหนต่อ?
แน่นอนว่า Investing.com ได้รับเกียรติ์จากคุณ Sunil Kumar Dixit นักวิเคราะห์จาก SK Charting ประเทศอินเดียอีกเช่นเคย สำหรับนักวิเคราะห์ทางเทคนิค ต้องตั้งใจอ่านการวิเคราะห์ต่อไปนี้ให้ดี
“การร่วงลงอย่างรุนแรงของทองคำเมื่อวานนี้ทำให้ราคาได้หลุดแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย EMA 100 สัปดาห์ลงมาด้วย หลังจากราคาทองคำลงมาสร้างจุดต่ำสุดที่ $1,754 ตอนนี้ราคาทองคำสปอตกำลังพยายามฟื้นตัวกลับขึ้นไป จากการวิเคราะห์กราฟ 4 ชั่วโมง อินดิเคเตอร์ RSI ได้ลงไปอยู่ในโซน oversold แล้ว จึงมีโอกาสที่ทองคำจะกลับขึ้นไปทดสอบจุดที่ตัวเองหลุดลงมาที่ $1,775 ณ จุดๆ นี้ถ้าได้แรงหนุนขาขึ้นเข้ามาเสริม มีโอกาสที่เราจะได้เห็นการปรับตัวขึ้นต่อไปยัง $1,795 - $1,805”
“อย่างไรก็ตาม” เขากล่าวต่อ “ถ้าการกลับขึ้นมาครั้งนี้ไม่สามารถขึ้นไปถึง $1,800 ได้ ขาขึ้นครั้งนี้อาจจะทรงตัวอยู่ได้ไม่นาน แต่ตราบใดที่แนวรับ $1,755 ยังรับไหว นักลงทุนก็อย่างพึ่งตกใจ ให้รอดูจุดที่อาจจะเป็นตัวตัดสินว่าราคาทองคำจะเปลี่ยนเทรนด์กลับเป็นขาลงหรือไม่ที่โซนกลับตัว ”$1,777 - $1,787 - $1,790 - $1,797 จุดเดียวที่ผมจะเชื่อว่าราคาทองคำกลับไปเป็นขาขึ้นแล้วจริงคือการขึ้นยืนเหนือ $1,835 ซึ่งนับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน ทองคำไม่เคยผ่านแนวต้านนี้ได้เลยสักครั้ง”