ตลาดลงทุนสหรัฐฯ จบเดือนสิงหาคมได้ด้วยการทำขาขึ้นอย่างสวยงาม แม้ว่าตลอดทั้งเดือนจะเต็มไปด้วยพาดหัวข่าวเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นการถอนกำลังทหารออกจากประเทศอัฟกานิสถาน จนเป็นเหตุให้ผู้ก่อการร้ายสามารถขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้ การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และการถล่มของพายุเฮอริเคนไอดาที่นิวออลีนและหลุยส์เซียนา
แน่นอนว่าเราไม่ได้ลืมการประชุมประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่แจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง ซึ่งผลการประชุมก็ยังคงเป็นความพยายามนวดตลาดจากนายเจอโรม พาวเวลล์อีกเช่นเคย แม้ว่าจะเหลือเวลาอีกแค่สี่เดือน เขาก็ยังเลือกที่จะไม่บอกกรอบระยะเวลาการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หรือการขึ้นอัตราดอกเบี้ย (บอกเพียงแต่ไม่ใช่ภายในปีนี้อย่างแน่นอน) ปล่อยให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์ในตลาดเดากันต่อไป
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้ตลาดลงทุนในเดือนสิงหาคมได้บทสรุปว่าดัชนีหลักของสหรัฐฯ อย่างเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้นมาตลอดทั้งเดือน 2.9% และตั้งแต่ต้นปี 2021 มาจนถึงปัจจุบัน ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น 20.4% ทำสถิติขาขึ้นเจ็ดเดือนติดต่อกัน นับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดตั้งแต่ขาขึ้น 10 เดือนติดในเดือนเมษายนปี 2017 ถึงมกราคมปี 2018
นอกจากเอสแอนด์พี 500 ดัชนีแนสแด็กตลอดทั้งเดือนสิงหาคมปรับตัวขึ้นมา 4% กลายเป็นหนึ่งในสามเดือนที่แนสแด็กทำขาขึ้นได้มากที่สุด และแนสแด็ก 100 ปรับตัวขึ้นมา 4.2% หากพิจารณาผลงานการวิ่งตลอดทั้งปีจะพบว่าดัชนีทั้งสองตัวปรับตัวขึ้นมาแล้วทั้งหมดตัวละ 18.4% และ 20.9% ตามลำดับ ส่วนดาวโจนส์ตลอดทั้งปี 2021 ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 15.3% และเฉพาะเดือนสิงหาคมปรับตัวขึ้นมาทั้งหมด 1.2%
แรงกดดันกับการเปลี่ยนแปลงการลงทุนในกลุ่มหุ้น
ปัจจัยกดดันที่ส่งผลกระทบต่อตลาดในเดือนสิงหาคมมีดังต่อไปนี้
1.) ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อว่าจะไม่สามารถควบคุมอยู่ในตอนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่
2.) การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เดลตาที่รุนแรงกว่าโควิดรุ่นแรกในปี 2020 จนทำให้หลายๆ ประเทศทั่วโลกต้องกลับมาล็อคดาวน์กันใหม่อีกครั้ง
3.) แรงกดดันจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันออกกลางและอัฟกานิสถาน
การปรับตัวขึ้นของตลาดโดยรวมได้สะท้อนถึงขาขึ้นของหุ้นกลุ่มใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุด ในขณะที่กำไรสำหรับบริษัทขนาดกลางและเล็กได้ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามรัสเซล 2000 ดัชนีสำหรับบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กถึงกลางสามารถทำจุดสูงสุดในรอบ 52 สัปดาห์ได้ในวันที่ 15 มีนาคม
ในไตรมาสแรกดัชนีรัสเซล 2000 ปรับตัวขึ้นมา 12.4% ในขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 400 และเอสแอนด์พี 600 ปรับตัวขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน 13.1% และ 18% ตามลำดับ
ขาขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในไตรมาสนี้ได้แรงสนับสนุนหลายประการ หนึ่งคือการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐฯ สองคือราคาน้ำมันดิบที่แม้จะปรับตัวลดลงเกือบ 10% แต่ก็ยังสามารถพาตัวเองกลับขึ้นมาได้ สามคือการซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัยของชาวอเมริกันเนื่องจากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และสี่คือรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของหุ้นกลุ่มเทคฯ หุ้นสิบอันดับแรกบนเอสแอนด์พี 500 ที่มาจากกลุ่มเทคฯ คิดเป็น 28% ของ market cap ในดัชนี
ปัจจัยเสี่ยงที่รอตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในอนาคตอันใกล้
ไม่ว่างานเลี้ยงจะสนุกสนานเพียงใด สุดท้ายแล้วก็ต้องมีวันเลิกรา เช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีกลุ่มเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ล่าสุดบริษัทเจ้าของแอปพลิเคชั่นวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่ปี 2020 เคยเติบโตมากถึง 400% มาถึงไตรมาสที่สองปี 2021 หุ้นของซูม (NASDAQ:ZM) ปรับตัวลดลง 16.7% ทันทีที่บริษัทออกมาคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตในไตรมาสที่สามอาจปรับตัวลดลง
อีกหนึ่งความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องจับตาในวันพรุ่งนี้คือการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนสิงหาคมที่จะประกาศเวลา 19:30 น. ตามเวลาประเทศไทย เพราะตัวเลขการจ้างงานฯ ในเดือนกรกฎาคมออกมาสูงมาก (943,000 ตำแหน่ง) จึงทำให้ครั้งนี้หลายสำนักต่างพากันวิเคราะห์ว่าตัวเลขที่จะออกมาอาจจะสูงไม่เท่ากับเดือนกรกฎาคม โดยตัวเลขที่คาดว่าจะออกมามีตัวเลขอยู่ที่ 750,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการว่างงานคาดว่าจะลดลงจากครั้งก่อน 5.4% เป็น 5.2% นี่คือตัวเลขที่ลดลงจากปีที่แล้ว 14.5%
แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเงินเฟ้อมากแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ธนาคารกลางและนักวิเคราะห์เห็นตรงกันคือต้องการให้ตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอัตราการว่างงานปรับตัวลดลง นักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะประกาศระยะเวลาที่แน่นอนสำหรับการลด QE หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการรายงานตัวเลขการจ้างงานในวันศุกร์นี้ หากออกมามากกว่า 900,000 ตำแหน่ง ตลาดจะเชื่อว่าเฟดต้องประกาศระยะเวลาที่แน่นอนสำหรับการลด QE ในการประชุมของธนาคารกลางประจำเดือนกันยายน
อย่างไรก็ตาม การประกาศคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของเฟดเมื่อวันศุกร์ที่แล้วทำให้ดัชนีหลักของสหรัฐฯ ยกเว้นรัสเซล 2000 ทะยานทำจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ได้ทั้งหมด ตั้งแต่สัปดาห์วันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นมา ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เรียกได้ว่าทำจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ส่วนแนสแด็ก 100 สร้างจุดสูงสุดใหม่ประมาณ 20 ครั้งนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน
จากเหตุการณ์ขาขึ้นที่เกิดตลอดทั้งปี 2021 จุดที่น่าสนใจก็คือขาขึ้นนั้นพึ่งพาเพียงเฉพาะหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เพียงแต่สลับกันไปตามช่วงเวลา และยิ่งตลาดหุ้นทั้งกระดานพึ่งพาหุ้นเพียงไม่กี่ตัวมากเท่าไหร่ โอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงมา เพราะหุ้นหรือกลุ่มความหวังนั้นไปต่อไม่ได้ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นเดือนกันยายนนี้อาจจะเป็นเดือนที่ตลาดเกิดความผันผวน จากสถิติของเดือนกันยายนปี 2008 เอสแอนด์พี 500 ปรับตัวลดลง 9.1% ไม่ใช่แค่ปีเดียวเท่านั้น แต่ในปี 2011 2015 และ ปี 2020 ก็มักจะเป็นปีที่ขาขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง
หุ้นบนดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ปรับตัวขึ้นและลงมากที่สุดในเดือนสิงหาคม
หุ้นที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุด
- หุ้นในกลุ่มการเงินอย่างเช่นธนาคาร Goldman Sachs (NYSE:GS) ปรับตัวขึ้น 10.3% ถือเป็นหนึ่งในตัวท๊อปของดัชนีดาวโจนส์ในเดือนสิงหาคมด้วย
- หุ้นในกลุ่มโทรคมนาคมเช่น Facebook (NASDAQ:FB), Alphabet (NASDAQ:GOOGL), Netflix (NASDAQ:NFLX) และ Walt Disney (NYSE:DIS)
- หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี Apple (NASDAQ:AAPL), Microsoft (NASDAQ:MSFT) NVIDIA (NASDAQ:NVDA) และ Amazon (NASDAQ:AMZN)
- หุ้น NVIDIA ปรับตัวขึ้นมา 15% และตลอดทั้งปีจนถึงปัจจุบันปรับตัวขึ้นมาแล้ว 70%
- หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค ได้ความนิยมเพราะความสามารถในการปันผลสม่ำเสมอ
หุ้นที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด
- หุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้างเช่นNewmont Mining (NYSE:NEM) และ FMC (NYSE:FMC)
- หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยเช่น Starbucks (NASDAQ:SBUX) และ Target (NYSE:TGT)
- หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเช่น General Motors (NYSE:GM) และ Boeing (NYSE:BA).
- หุ้นกลุ่มสินค้าจำเป็นเช่น Clorox (NYSE:CLX) และ McDonald's (NYSE:MCD)
- หุ้่นกลุ่มพลังงานเช่น Halliburton (NYSE:HAL) และ Chevron (NYSE:CVX)
นอกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ แล้วสินทรัพย์อื่นที่ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นที่สุดในเดือนสิงหาคม และไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือบิทคอยน์ ในเดือนที่ผ่านมาบิทคอยน์ปรับตัวขึ้นมาทั้งหมด 13.2% ราคาปิดสุดท้ายของเดือนสิงหาคมอยู่ที่ $46,996 ห่างจากจุดสูงสุดตลอดกาลที่สร้างเอาไว้ ณ $64,788 ในวันที่ 14 เมษายน $17,792
ส่วนสินทรัพย์อื่นที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดเราขอยกตำแหน่งนี้ให้กับไม้แปรรูป ที่เคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดในเดือนพฤษภาคมที่ $1.733.50 ต่อหนึ่งพันบอร์ดฟุต ก่อนที่จะลงมาจบวันสุดท้ายของเดือนสิงหาคมที่ $482.80 คิดเป็นการปรับตัวลดลงมาประมาณ 72%