ต้องยอมรับว่านายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ถือว่าเป็นคนที่เก่งในการรักษาเสถียรภาพระหว่างนักลงทุนทั้งสองฝ่ายจริงๆ และถ้อยแถลงหลังจากการประชุมใหญ่ในรอบหนึ่งปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่แจ็คสัน โฮล ก็เป็นการยืนยันว่าเขาเก่งในเรื่องของการให้ความหวัง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ยอมบอกว่าความจริงหมดทุกอย่าง
ในการประชุมวันที่สองของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่แจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง นายเจอโรม พาวเวลล์ได้ประกาศว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มูลค่า $120,000 ล้านเหรียญสหรัฐลงภายในปีนี้ และไม่ใช่อย่างที่หลายๆ คนคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม
“ช่วงระยะเวลาที่จะเกิดการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรฯ จะไม่ใช่ช่วงเวลากันกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย” เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าว
ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้เวลานานมากในการอธิบายว่าทำไมเขาถึงคิดว่าตัวเลขเงินเฟ้อในปัจจุบัน (ที่สูงเกินกว่า 4% ไปแล้ว) ถึงเป็นเพียงแค่ปัจจัยชั่วคราว ในถ้อยแถลงการณ์ของเขานั้นเต็มไปด้วยการชักแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบายถึงความซับซ้อนของการพิจารณาปัญหาเงินเฟ้อ แต่ถึงเขาจะอธิบายอย่างยาวยืดแค่ไหน สำหรับนักลงทุนในตลาด พวกเขาสนใจเพียงแค่ว่า “นี่คือข่าวดี” ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ก็ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์สำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกเป็นในช่วงต้นปี 2023
ประธานเฟดคนนี้อาจพูดถูกเกี่ยวกับเรื่องภาวะเงินเฟ้อในตอนนี้ว่าเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว และตอนนี้ก็อาจจะเป็นช่วงเวลาที่อเมริกายังต้องการเงินกระตุ้นจากการระบาดโควิดระลอกใหม่ แต่ในฐานะนักลงทุนเราก็ไม่อาจจะทำใจให้รู้สึกคุ้นชินได้ที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ มาอยู่ฝ่ายเดียวกับเรา สนับสนุนให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นต่อไปเรื่อยๆ หรือที่จริงแล้ว เขากำลังมีแผนการณ์บางอย่างแอบซ่อนอยู่?
การเดินเกมอย่างมีชั้นเชิงก่อนการประชุมเฟดในรอบถัดไป
ความเป็นไปได้ที่เราพอจะวิเคราะห์ออกในตอนนี้คือเจอโรม พาวเวลล์ยังไม่พร้อมที่จะรับความเสี่ยงใดๆ เพิ่มในช่วงเวลาที่เขาใกล้จะหมดวาระการเป็นประธานธนาคารกลางในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 ถึงแม้ว่าจะมีรายงานจากวงในในทำเนียบขาวหลุดออกมาว่าหน่วยงานในทำเนียบขาวที่ทำหน้าที่ดูแลในการเลือกบุคคลเข้าไปรับตำแหน่งในธนาคารกลางฯ ได้เตรียมเสนอชื่อให้เจอโรม พาวเวลล์ให้รับตำแหน่งเป็นประธานฯ ต่อไปในสมัยที่สอง
ในขณะเดียวกันนางเลอัล ไบรนาร์ด ซึ่งเป็นบอร์ดบริหารที่มาจากพรรคเดโมแครตเพียงคนเดียวก็มีโอกาสถูกแต่งตั้งให้เป็นรองประธานเฟดแทนนายแรนดัล ควาเรส ที่กำลังจะหมดวาระลงในเดือนตุลาคมนี้ การเสนอชื่อของนางไบรนาร์ดเข้ามา น่าจะทำให้การจับตามองทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ สนุกขึ้น เพราะเธออยู่ฝ่ายที่สนับสนุนให้การวางนโยบายเป็นไปตามกลไกทางเศรษฐศาสตร์ (hawkish) มากกว่าการปลอบประโลมตลาด (dovish) แบบที่ประธานเฟดชอบทำ ดังนั้นนักวิเคราะห์จึงมองว่านี่คือความพยายามรักษาสมดุลการเงินของทำเนียบขาว ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หักหน้าประธานเฟดที่มาจากการแต่งตั้งของอดีตประธานาธิบดี
การวิเคราะห์เหล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่ ให้นักลงทุนรอจับตาดูการเปลี่ยนแปลงรองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ อีกหนึ่งคนคือ นายริชาร์ด คาร์ริด้า อีกหนึ่งผู้มีสิทธิ์วางนโยบายจากพรรครีพับลิกันที่จะหมดวาระลงในเดือนมกราคมปี 2022 หากทำเนียบขาว หาคนของตนมาวางในตำแหน่งนี้ได้ เท่ากับว่าจะบอร์ดบริหารที่อยู่สายเหยี่ยว (hawkish) คือให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกเศรษฐศาสตร์อยู่ทั้งหมดสามคน และทำให้จะมีคนคอยขัดแข้งขัดขาการวางนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายของเจอโรม พาวเวลล์มากขึ้น
แลร์รี่ ซัมเมอร์เตือนเงินเฟ้อาจจะไม่ใช่ “ปัจจัยชั่วคราว”
นายแลร์รี่ ซัมเมอร์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังได้ออกเตือนถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ ผ่านคอลัมน์ในวอร์ชิงตัน โพสต์ว่าให้ระวังความอันตรายของการซื้อสินทรัพย์เหล่านี้ (หมายถึงสินทรัพย์ที่เฟดซื้อผ่าน QE) ให้ดี เขาถึงขั้นประเมินให้เห็นแบบช็อตต่อช็อตในระยะสั้นว่ามีความเป็นไปได้อะไรบ้างที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งยกเคสสงครามเวียดนามกับเหตุการณ์ที่อัฟกานิสถานมาเปรียบเทียบ
ซัมเมอร์แย้งด้วยเหตุผลว่าตอนนี้การผ่อนคลายวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ไม่ได้ผลอีกต่อไป และมีแต่จะทำให้รัฐบาลต้องเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และการที่ราคาสินค้ากำลังปรับตัวแพงขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นการส่งสัญญาณฟองสบู่ออกมาแล้ว
นายแลร์รี่ยังคงย้ำว่าเงินเฟ้อคราวนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว มีหลักฐานจากตัวเลขทางเศรษฐกิจมากมายที่กำลังบอกว่าเงินเฟ้อมีแต่จะเร่งตัวขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างในตลาดแรงงาน ราคาที่อยู่อาศัย ที่สำคัญคือปัญหาซัพพลายเชนคอขวดตอนนี้อาจกินเวลานานกว่าที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์