การรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐฯ ได้ผ่านช่วงครึ่งทางมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือเราได้เห็นความลังเลของนักลงทุนในตลาดทันทีหลังจากที่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยเป็นท่อน้ำเลี้ยงความแข็งแกร่งให้กับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณทำกำไรหดตัวลดลง นักลงทุนกำลังอยู่ในช่วงสับสนว่าจะเสี่ยงมากขึ้นหรือลดความเสี่ยงดี เพราะนอกจากตัวเลขผลประกอบการแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจสร้างผลกระทบได้อีกเช่นเงินเฟ้อและการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์จะให้ความสำคัญมากที่สุดในสัปดาห์นี้จะเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้นอกจากการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ประจำเดือนกรกฎาคมที่จะเกิดขึ้นในวันศุกร์นี้
ธีมการลงทุนแบบโยกกลุ่มหุ้นกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง?
สิ่งที่ทำให้นักลงทุนเสียขวัญมากที่สุดในสัปดาห์ที่แล้วไม่ใช่เงินเฟ้อหรือการระบาดของโควิดเดลต้า แต่กลับเป็นกำไรของบริษัทรีเทลยักษ์ใหญ่อะเมซอน (NASDAQ:AMZN) ที่ไม่สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หุ้นของอะเมซอนร่วงภายในวันเดียว 7.56% สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาดเป็นอย่างมาก ขาลงของหุ้นอะเมซอนครั้งนี้ยังทำให้ดัชนีหลักทั้งสี่ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง แต่ที่มากที่สุดก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเอสแอนด์พี 500 และแนสแด็ก ในขณะที่ดาวโจนส์ร่วงลงเพราะหุ้นไมโครซอฟต์ (NASDAQ:MSFT)
ถือเป็นเรื่องน่าสนใจที่เราได้เห็นหุ้นของบริษัทรีเทลรายใหญ่ปรับตัวลดลง เพราะในรายงานผลประกอบการของเพื่อนร่วมกลุ่ม 5 เทพหุ้นเทค “FAAMG” อย่างเฟซบุ๊ก (NASDAQ:FB) และแอปเปิล (NASDAQ:AAPL) ต่างก็พูดในทำนองเดียวกันว่าธุรกิจโลจิสติกส์ยังคงได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากันอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อยักษ์ใหญ่แห่งเทคโนโลยีทั้งห้าเริ่มส่งสัญญาณเตือน จึงนำมาสู่การตั้งคำถามของนักลงทุนว่าควรจะโยกเงินลงทุนไปถือครองหุ้นกลุ่มอื่นดีหรือไม่ เพราะหุ้นที่พึ่งพาการฟื้นตัวของเทคโนโลยีก็ยังสามารถทำกำไรได้ดีในสัปดาห์ที่แล้ว
หุ้นในกลุ่มวัสดุก่อสร้างเติบโตขึ้น 2.8% ตามมาด้วยกลุ่มพลังงาน 1.8% และการเงิน 0.7% ในขณะเดียวกัน กลุ่มหุ้นที่ติดลบของสัปดาห์ที่แล้วได้แก่กลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคม -1.3% และกลุ่มเทคโนโลยี -0.7% กลุ่มหุ้นที่ช่วงต้นสัปดาห์ติดลบแต่สามารถกลับมาได้อย่างโดดเด่นคือกลุ่มสาธารณูปโภคด้วยตัวเลขปิดบวก 4.3%
นักวิเคราะห์จากแบงก์ ออฟ อเมริกา (BofA) แนะนำว่าให้ถือหุ้นของกลุ่มสายป้องกันเอาไว้ BofA ให้เหตุผลว่าเมื่อคนในวงการเงินเริ่มให้ความเห็นที่ขัดแย้งกัน (แม้กระทั่งภายในเฟด) ทำให้ทิศทางของตลาดจะเริ่มวิ่งไปในทางที่ไม่แน่นอน ขาลงที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์คือภาพสะท้อนของสิ่งที่ BofA กล่าวได้เป็นอย่างดี การที่นักลงทุนกล้าเทขายหุ้นอะเมซอนขนาดนั้น ส่งสัญญาณของการสูญเสียความเชื่อมั่น
แต่ถึงหุ้นอะเมซอนจะปรับตัวลดลงมามากขนาดนั้น แต่สำหรับตัวดัชนีแล้ว กลับยังวิ่งลงมาจากจุดสูงสุดได้ไม่เยอะเท่าไหร่ ในสัปดาห์จึงต้องจับตาดูกันว่าดัชนีหลักของสหรัฐฯ จะเริ่มเปลี่ยนเทรนด์เข้าสู่แนวโน้มขาลงแล้วหรือไม่ สิ่งที่มีโอกาสจะพลิกตลาดกลับขึ้นมาได้คือการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรวัดการเติบโตของภาคแรงงานที่เฟดให้ความสำคัญมากที่สุดตัวหนึ่ง นอกจากนี้นักลงทุนต้องจับตาดูเกมการเมืองระหว่างสหรัฐฯ - จีนที่กำลังทำสงครามการค้ากันผ่านการลิสต์บริษัทขึ้นตลาดหุ้น
ความกังวลของนักลงทุนสะท้อนออกมาเป็นอย่างดีผ่านตลาดพันธบัตรรัฐบาล นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้กราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯ ปรับตัวลดลงเรื่อยๆ
กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีถูกแรงกดดันจากตลาดหุ้นทำให้กราฟปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดในรอบสัปดาห์นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของดัชนีดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณากราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐทางเทคนิค จะเห็นว่าดัชนีดอลลาร์สหรัฐมีแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 93.22 จุด หากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ยังแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจอเมริกา กราฟดังกล่าวอาจจะไม่สามารถผ่านแนวต้านนนี้ไปได้โดยง่าย
ราคาทองคำปรับตัวกลับลงมาจาก $1,830 วิ่งอยู่ที่ $1,815 โดยประมาณ การวิ่งลงครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของแนวต้าน $1,830
หรือความสนใจของตลาดลงทุนจะกลับไปอยู่ที่บิทคอยน์? ขาขึ้นในสัปดาห์ที่แล้วถือเป็นครั้งแรกในรอบสองเดือนกว่าๆ ที่บิทคอยน์สามารถวิ่งกลับขึ้นไปยืนเหนือ $40,000 ได้ ในขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่ บิทคอยน์สามารถขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ $42,000 แต่ยังไม่สามารถผ่านแนวต้านนี้กลับขึ้นไปได้
สุดท้ายราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่สามารถยืนเหนือ $74 ต่อบาร์เรล แต่นักวิเคราะห์ยังคงเชื่อมั่นว่าขาขึ้นของตลาดน้ำมันดิบจะยังคงอยู่ เพราะการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลกับอุปทานของน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับระดับอุปสงค์
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันอาทิตย์
21:45 (ประเทศจีน) ดัชนี PMI ภาคการผลิตจากมหาลัยไซซิน: คาดว่าจะลดลงจาก 51.3 จุดเป็น 51.0 จุด
วันจันทร์
03:55 (เยอรมัน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะคงที่ 65.5 จุด
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะคงที่ 60.4 จุด
10:00 (สหรัฐฯ) ดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก ISM: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 60.6 จุดเป็น 60.9 จุด
วันอังคาร
00:30 (ออสเตรเลีย) การประชุมเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง: คาดว่าจะคงที่ 0.10%
18:45 (นิวซีแลนด์) รายงานตัวเลขอัตราการจ้างงาน: คาดว่าแบบ QoQ จะเพิ่มขึ้นจาก 0.6% เป็น 0.7%
21:30 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: คาดว่าจะลดลงจาก 0.4% เป็น -1.8%
วันพุธ
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการบริการ: คาดว่าจะคงที่ 57.8 จุด
08:15 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานฯ จาก ADP: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 692K เป็น 700K
10:00 (สหรัฐฯ) ดัชนี PMI ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตโดย ISM: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 60.1 เป็น 60.4 จุด
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: ตัวเลขของสัปดาห์ที่แล้วลดลง -4.089 ล้านบาร์เรล
วันพฤหัสบดี
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการก่อสร้าง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 63.3 เป็น 63.8 จุด
07:00 (สหราชอาณาจักร) การประชุมเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง: คาดว่าจะคงที่ 0.10%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงจาก 400K เป็น 380K
วันศุกร์
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 850K เป็น 900K
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขอัตราการว่างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก 5.9% เป็น 5.7%
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลขการจ้างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก 230.7K เป็น 150.0K
10:00 (แคนาดา) ดัชนี PMI จากสถาบัน IVEY: ตัวเลขครั้งก่อนออกมาที่ 71.9 จุด