แม้ว่าสัปดาห์ที่แล้วหุ้นกลุ่มธนาคารจะประเดิมเปิดฤดูรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2021 ไปได้อย่างสวยงาม แต่ความสนใจของนักลงทุนกลับหันไปอยู่ที่รายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาไม่สวยงามเท่าไหร่ การปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นตัวบ่งชี้ว่านักลงทุนไม่ได้เชื่อว่าการปล่อยนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายต่อไปของเฟดจะสามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ในตอนนี้ได้
ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่เราไม่ได้เห็นดัชนีหลักทั้งสี่ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นเอสแอนด์พี 500 ดาวโจนส์ แนสแด็กและรัสเซล 2000 ถูกเทขายในเวลาเดียวกันเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว แม้ว่าตัวเลขยอดค้าปลีกที่ประกาศออกมาจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อกลับเป็นสิ่งเดียวที่นักลงทุนในตลาดให้ความสนใจ อันที่จริงในช่วงแรกที่ตลาดซื้อขายเปิดทำการเมื่อวันศุกร์ ตลาดหุ้นก็ยังปรับตัวขึ้นได้อย่างไม่มีปัญหา จนกระทั่งได้เห็นดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากมหาลัยมิชิแกนหดตัวลงจาก 85.5 จุดเป็น 80.8 จุด ความผิดหวังนี้ทำให้แนวโน้มการวิ่งของราคาเปลี่ยนไป
ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดตลาดติดลบ 0.75% ความเชื่อที่ว่าเศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวได้เร็วอย่างที่คิดเอาไว้ทำให้นักลงทุนหันหน้าไปหาหุ้นกลุ่มสายป้องกันความเสี่ยงมากขึ้นเช่นกลุ่มอุปโภคบริโภค เฮลท์แคร์ และสินค้าจำเป็น นั่นจึงทำให้หุ้นกลุ่มนี้สามารถปิดบวกส่งท้ายสัปดาห์ก่อนได้ ในขณะหุ้นกลุ่มอื่นที่เคยเติบโตได้ดีในสัปดาห์ก่อนหน้าพากันปิดติดลบ
หุ้นกลุ่มพลังงานปิดติดลบ 2.8% ตามความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ว่ากลุ่ม OPEC+ จะสามารถกลับมาคุยกันได้และตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิต หุ้นกลุ่มที่ปรับตัวลดลงมาถัดจากพลังงานคือกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวลดลง 1.5% กลุ่มการเงินติดลบ 1.4% กลุ่มอุตสาหกรรมติดลบ 0.9% แม้แต่หุ้นกลุ่มเติบโตที่ที่ได้รับประโยชน์จากช่วงล็อคดาวน์โควิดก็ยังหนีไม่รอด กลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลง 1% และกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมก็ปิดติดลบ 0.6%
หากพิจารณาผลงานตลาดหุ้นตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาจะพบว่าดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวลดลง 1% หลังจากสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม หุ้นกลุ่มที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดคือกลุ่มพลังงาน 7.9% ตามมาด้วยกลุ่มวัสดุก่อสร้าง 2.3% กลุ่มการเงิน 1.6% กลุ่มอุตสาหกรรม 1.5% กลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมติดลบน้อยกว่า 1% และกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวลดลง 0.6%
ส่วนดัชนีรัสเซล 2000 เฉพาะวันศุกร์ปรับตัวลดลง 1.3% แต่หากดูตลอดทั้งสัปดาห์แล้วจะเห็นว่ามูลค่าของดัชนีหายไป 5.1% ถือเป็นการปรับตัวลดลงในรอบสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม คิดเป็นห้าเท่าเมื่อเทียบกับแนสแด็ก 100 ที่ปรับตัวลดลงเพียง 1.07% เท่านั้นตลอดทั้งสัปดาห์ แล้วสัปดาห์นี้ตลาดลงทุนจะวิ่งแบบไหน? นักลงทุนจะเปลี่ยนความสนใจ หรือจะโต้คลื่นไปกับการเปลี่ยนกลุ่มหุ้นเพื่อหนีความเสี่ยงเงินเฟ้อ?
สาเหตุที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ประกาศไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมามีความสำคัญและสร้างผลกระทบตลอดทั้งสัปดาห์เพราะดัชนีตัวนี้เป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อของเฟด และตัวเลข 0.9% ที่เติบโตขึ้นมาถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 และเป็นตัวเลขที่มากกว่าที่ทุกสำนักคาดการณ์ ซึ่งสอดคล้องกับราคาสินค้าที่แพงขึ้นนับตั้งแต่อเมริกากลับมาเปิดเมืองเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจหลังโควิดระบาด
แต่ทั้งๆ ที่เฟดก็เห็นอยู่แล้วว่าหนึ่งในสี่มาตรวัดเงินเฟ้อของพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ยังย้ำว่าเศรษฐกิจอเมริกายังฟื้นตัวได้ไม่ดีพอ หากเป็นสมัยก่อน ในยามที่เศรษฐกิจย่ำแย่จนบังคับให้เฟดต้องผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเช่นนี้ ตลาดหุ้นมีแต่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น นี่คือเป็นครั้งแรกเลยที่เราได้เห็นว่าตลาดลงทุนเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจ
ถ้าหากรายงานผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคารและตัวเลขยอดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นยังไม่สามารถพาตลาดหุ้นให้กลับมาเป็นขาขึ้นได้ แสดงว่าสิ่งที่กำลังรอเราอยู่ในสัปดาห์นี้อาจจะเป็นอะไรที่แย่กว่านั้น ถ้าไม่ใช่เรื่องของการปิดคำสั่งซื้อขายเพื่อทำกำไรและถอยออกมาดูสถานการณ์ไปก่อน ก็ต้องเป็นการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาที่ถึงแม้จะยังไม่เป็นธีมการลงทุนในอเมริกาที่ชัดเจน แต่ตอนนี้ทั้งเอเชียและยุโรปบางส่วนก็เริ่มกลับมาลำบากเพราะการแพร่ระบาดระลอกนี้อีกครั้ง
รูปกราฟของแนสแด็กด้านล่างนี้แสดงให้เห็นว่าดัชนีเริ่มสังสัญญาณว่าอาจจะเริ่มพักตัวจากแนวโน้มขาขึ้นแล้ว
ตอนนี้รูปแบบของดาวตก (Shooting Star) ที่ประกอบด้วยแท่งเทียนสามแท่งก็สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่ภายในสัปดาห์นี้เราจะได้เห็นแนสแด็กลงไปทดสอบบริเวณกรอบบนของสามเหลี่ยม (14175 จุด) ที่พึ่งทะลุขึ้นมาได้ไม่นาน?
พฤติกรรมของดัชนีรัสเซล 2000 ก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะกราฟส่งสัญญาณว่าใกล้จะหลุดจากจุดสูงสุดลงมาจริงๆ แล้ว
เมื่อนำอินดิเคเตอร์ RSI เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย ยิ่งทำให้ขาลงครั้งนี้เป็นไปได้มากยิ่งขึ้น การเกิดไดเวอร์เจนต์ (Divergence) ระหว่างอินดิเคเตอร์และราคามักนำไปสู่การเปลี่ยนแนวโน้ม และครั้งนี้ก็อาจจะเป็นการเริ่มเข้าสู่เทรนด์ลงจริงๆ หากแท่งเทียนแท่งถัดไปหลุดเส้นเทรนด์ไลน์ลงมา
กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีสร้างจุดปิดไว้เมื่อวันศุกร์ที่ 1.3% ซึ่งระดับตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แล้วจะไม่มีให้นักลงทุนเกิดความกังวลได้อย่างไร
การหลุดกรอบรูปธงลงมา แสดงให้เห็นว่ากราฟมีโอกาสปรับตัวลงต่อ หากหลุดลงไปรอบนี้ความชันของแนวโน้มขาลงจะยิ่งชัดขึ้น
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในสองวันสุดท้ายก่อนปิดตลาด ขึ้นไปใกล้กับจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน จึงเป็นเหตุให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง
การเกิดขึ้นของรูปแบบดาวตกในกราฟทองคำถือเป็นการส่งสัญญาณว่าสัปดาห์นี้การฟอร์มตัวเป็นรูปแบบลิ่มลู่ขึ้น (Rising Wedge) อาจมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว
สถานการณ์ของราชาแห่งสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ต้องจับตาดูไว้เพราะราคาวิ่งอยู่ใกล้กับแนวรับ $30,000
ราคาน้ำมันดิบทำจุดต่ำสุดในรอบสัปดาห์และในรอบเดือน สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะนักลงทุนกลัวว่าข่าวล่าสุดที่กลุ่ม OPEC+ กลับมาบรรลุข้อตกลงในการผลิตน้ำมันอีกครั้งด้วยการเพิ่มปริมาณการผลิตเข้าไปในตลาดอีกวันละ 4 ล้านบาร์เรล
แม้ว่าเมื่อวันศุกร์ที่แล้วราคาน้ำมันจะสามารถปรับตัวขึ้นได้ แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งสัปดาห์จะพบว่าราคาน้ำมันนั้นปรับตัวลดลง 3.7% ทำสถิติขาลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ในรูปจะเห็นว่าสองจุดสูงสุดล่าสุดของน้ำมันดิบ WTI และอินดิเตเตอร์ RSI สร้างไดเวอร์เจนต์ขึ้นมาแล้ว เป็นไปได้ว่าราคาน้ำมันอาจจะปรับตัวลดลงในอนาคตอันใกล้ จุดตัดสินอาจอยู่ที่พฤติกรรมของเส้นค่าเฉลี่ย 50 และ 200 วัน เส้นค่าเฉลี่ย 50 วันจะสามารถตัดขึ้นมาเพื่อยืนยันการปรับตัวขึ้นต่อได้หรือไม่ในสัปดาห์นี้
สำหรับการรายงานผลประกอบการของบริษัทเอกชนในสัปดาห์นี้จะมีบริษัทชื่อดังได้แก่จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (NYSE:JNJ) เน็ตฟลิกซ์ (NASDAQ:NFLX) ไอบีเอ็ม (NYSE:IBM) และโคคาโคล่า (NYSE:KO)
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันจันทร์
21:30 (ออสเตรเลีย) รายงานการประชุมของธนาคารกลาง
วันอังคาร
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการอนุญาตก่อสร้าง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.683M เป็น 1.700M
วันพุธ
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -7.897M เป็น -4.359M
วันพฤหัสบดี
07:45 (ยูโรโซน) การประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป: คาดว่าจะคงที่ 0.00%
08:30 (ยูโรโซน) ถ้อยแถลงจากธนาคารกลางแห่งยุโรป
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยมือสอง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 5.80M เป็น 5.90M
วันศุกร์
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -1.4% เป็น 0.5%
03:30 (เยอรมัน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะหดตัวจาก 65.1 จุดเป็น 64.1 จุด
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะหดตัวจาก 63.7 จุดเป็น 62.9 จุด
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคบริการ: คาดว่าจะหดตัวจาก 62.4 จุดเป็น 62.0 จุด
06:30 (รัสเซีย) การประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางรัสเซีย: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 5.50% เป็น 6.00%
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีกพื้นฐาน: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -7.2% เป็น -2.0%