ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกเริ่มส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงินกลับเข้าสู่สภาพปกติจนนักลงทุนเริ่มตั้งคำถามกับเฟดว่าเมื่อไหร่จะถึงคิวของสหรัฐอเมริกาบ้าง ในวันพุธที่ผ่านมาธนาคารกลางของนิวซีแลนด์ (RBNZ) ประกาศข่าวเซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการประกาศหยุดซื้อสินทรัพย์จากรัฐบาลชั่วคราว แม้ว่านักวิเคราะห์หลายฝ่ายจะประเมินว่า RBNZ มีโอกาสประกาศลดวงเงิน QE เพราะธนาคารพาณิชย์หลายแห่งออกมาคาดการณ์ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยภายในเดือนพฤศจิกายน แต่ก็ไม่คิดว่า RBNZ จะหยุดการซื้อสินทรัพย์ไปเลย
สาเหตุที่ RBNZ ตัดสินใจช็อกตลาดแบบนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่าอาจจะเกิดจากแรงกดดันของดัชนีราคาผู้บริโภคที่แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อกำลังเร่งตัวแรงขึ้น หากยังปล่อยให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นต่อไปจะส่งผลให้ต้นทุนการบริโภคภายในประเทศมีราคาที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวในภาคแรงงาน ก่อนหน้านี้นิวซีแลนด์สามารถพาตลาดแรงงานกลับเข้าสู่ช่วงก่อนโควิดระบาดได้ตั้งแต่ต้นปี ดังนั้น RBNZ จึงกลัวว่าหากปล่อยให้เงินเฟ้อเติบโตมากกว่านี้จะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่าผลดี
เมื่อ RBNZ ตัดสินใจเช่นนี้ นักลงทุนจึงกล้าฟันธงมากขึ้นว่าธนาคารกลางจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในเดือนพฤษจิกายนนี้แน่นอน ทำให้กราฟ NZD/USD ปรับตัวขึ้นไปวิ่งอยู่เหนือ 70 เซนต์ และความที่ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ได้ชื่อว่าเป็นธนาคารกลางที่เน้นเสถียรภาพตามหลักเศรษฐศาสตร์มากกว่าการเสริมสภาพคล่องด้วยความอะลุ่มอล่วย นักลงทุนจึงเชื่อว่าสกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์จะสามารถแข็งค่าได้ต่อเนื่อง
นอกจากธนาคารกลางนิวซีแลนด์ ธนาคารกลางแคนาดา (BoC) ก็ได้ปรับลดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วเช่นกัน แต่การปรับลดครั้งนี้ยังถือว่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ RBNZ ธนาคารกลางแคนาดาเลือกที่จะใช้วิธีลดวงเงินอีก 1 พันล้านดอลลาร์แคนาดาต่อสัปดาห์ซึ่งถือเป็นการปรับลดวงเงินเป็นครั้งที่สอง แต่เพราะการตัดสินใจของ BoC ที่ยังไม่สุดโต่งพอ จึงทำให้ดอลลาร์แคนาดาไม่แข็งค่าเท่ากับดอลลาร์นิวซีแลนด์ สาเหตุที่ธนาคารกลางทั้งสองตัดสินใจไม่เหมือนกันเพราะทั้งคู่มีมุมมองกับเงินเฟ้อไม่เหมือนกัน สำหรับ BoC พวกเขาเชื่อว่าเงินเฟ้อเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว เท่ากับเป็นการบอกว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังเป็นเป้าหมายที่ห่างไกล
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงและอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะถ้อยแถลงของประธานเฟดที่มีต่อสภาสมาชิกวุฒิสภาเมื่อคืนนี้ นายเจอโรม พาวเวลล์ยอมรับในที่ประชุมเมื่อคืนว่าตัวเลขบ่งชี้เงินเฟ้อที่ออกมาสูงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้จริง แต่อย่างไรก็ตามเขาก็ยังยืนยันว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นทั่วทั้งตลาด แต่เป็นเฉพาะบางภาคส่วนเท่านั้น
ประธานเฟดท่านนี้ยอมรับว่าในช่วงเวลาครึ่งปีหลังต่อจากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับภาวะเงินเฟ้อว่าจะปรับตัวลดลงมาตามที่เขาคาดการณ์เอาไว้หรือไม่ ความจริงที่เขายังเชื่อว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นปัจจัยชั่วคราวยิ่งลดความเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนนโยบายทางการเงินลงไปอีก สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเป็นกังวลในตอนนี้คือการตัดสินใจของเฟดช้ากว่า RBNZ, BoC และธนาคารกลางอังกฤษแล้ว และถ้าอยู่ดีๆ เฟดจะตัดสินใจแตะเบรกขึ้นมา ก็เปรียบเสมือนรถยนต์ที่กำลังวิ่งมาเต็มแรงและตัดสินใจเบรกกะทันหัน แทนที่จะทยอยแตะเบรกมาตั้งแต่เนิ่นๆ
เพราะเช่นนี้การรายงานตัวเลขผลสำรวจภาคการผลิตจากเฟดฟิลาเดเฟียและเอ็มไพร์ สเตตจึงมีความสำคัญเพราะจะส่งผลต่อการตัดสินใจดำเนินการของเฟด หากตัวเลขภาคการผลิตยังอ่อนแอจากปัญหาซัพพลายเชนคอขวด เฟดจะยังคงรอดูสถานการณ์ต่อไป แต่ถ้าตัวเลขในภาคการผลิตออกมาดี มีการเร่งตัวเพิ่มขึ้น ข่าวดีนี้จะเป็นตัวกดดันให้เฟดต้องเร่งพิจารณาลดสภาพคล่องเร็วขึ้น
ดอลลาร์ออสเตรเลียปรับตัวขึ้นเมื่อเช้านี้หลังจากตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 29.1K และอัตราการว่างงานก็ปรับตัวลดลงเหลือ 4.9% สถานการณ์ของนิวซีแลนด์และออสเตรเลียมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควรเพราะออสเตรเลียในตอนนี้กำลังต้องต่อสู้กับวิกฤตโควิด พื้นที่ส่วนใหญ่ของออสเตรเลียในเดือนมิถุนายนถูกล็อกดาวน์หลังจากพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น มาตรการคุมเข้มทางสังคมในซิดนีย์ถูกยืดระยะเวลาออกไปอีกสองสัปดาห์ แต่สาเหตุที่ทำให้ดอลลาร์ออสเตรเลียปรับตัวขึ้นไม่มากเพราะตัวเลข GDP ของจีนที่ออกมาขึ้นไม่ถึงตัวเลขคาดการณ์ โชคยังดีที่ตัวเลขยอดค้าปลีก YoY ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 12.1% มากกว่าตัวเลขคาดการณ์ 10.9% พอจะชดเชยกันเองได้