นักลงทุนยังคงแห่เข้าถือดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่องแม้ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตจากธนาคารกลางฟิลาเดียเฟียจะหดตัวลงมาเหลือ 30.7 จุดและจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจะเพิ่มขึ้นเป็น 412,000 คน นักลงทุนเลือกที่จะมองข้ามข่าวร้ายนี้ไปเลยด้วยความเชื่อที่ว่าเดี๋ยวเศรษฐกิจก็ดีเองเพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับตัวเลขคาดการณ์แล้ว แต่เพราะตัวเลขทั้งสองออกมาเป็นเช่นนั้น กราฟ USD/JPY จึงได้ย่อตัวลงมาจากจุดสูงสุด 110.72 ลงมาวิ่งต่ำกว่า 110.50
ไม่ว่าสกุลเงินไหนในตอนนี้ก็ล้วนแล้วแต่หลักทางให้กับดอลลาร์สหรัฐหมด ผลการประชุมของเฟดให้ความหวังกับตลาดลงทุนอย่างมหาศาลทั้งๆ ที่นั่นเป็นตัวเลขคาดการณ์ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกสองปีข้างหน้า เหมือนนักลงทุนรู้สึกว่าตัวเองได้รับชัยชนะจากการกดดันจนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องยอมรับว่าได้มีการพูดคุยเรื่องการปรับลด QE บ้าง นายเจอโรม พาวเวลล์ถึงกับต้องยอมรับเองว่าการเร่งตัวของเงินเฟ้อในครั้งนี้อาจสูงเกินกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ในตอนแรก
ข่าวดีจากผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะเป็นเทรนด์หล่อเลี้ยงขาขึ้นของดอลลาร์สหรัฐไปอีกสักพักหนึ่ง ถือว่าค่อนข้างอันตรายพอสมควรที่นักลงทุนในช่วงนี้จะมองข้ามความเป็นจริงและมีแนวโน้มที่จะไม่สนใจตัวเลขเศรษฐกิจแม้ว่าจะออกมาแย่แค่ไหนก็ตาม จากนี้นักลงทุนจะจับตาดูท่าทีและถ้อยแถลงของเฟดทุกคนว่าพวกเขามีความเห็นตรงกันกับเจอโรม พาวเวลล์หรือไม่ ขาลงที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเมื่อคืนนี้น่าจะทำให้เหล่าผู้วางนโยบายสามารถพูดได้อย่างสบายใจขึ้น ในที่สุดพวกเขาก็จะสามารถพูดถึงการลดวงเงิน QE ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ซึ่งถือเป็นผลดีต่อดอลลาร์สหรัฐ
สิ่งที่ควรจับตาดูในตอนนี้คือพฤติกรรมของตลาดหุ้นเพราะความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลด QE และการร่นระยะเวลาขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้ามาถือเป็นการดึงสภาพคล่องออกจากตลาดซึ่งถือเป็นข่าวร้าย ขาลงของเอสแอนด์พี 500 ยังไม่หนักเท่ากับของดาวโจนส์ที่ปรับตัวลดลงเป็นวันที่แปดติดต่อกัน นับเป็นขาลงที่ยาวนานที่สุดตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2017 ยิ่งตลาดหุ้นวอลล์ สตรีทปรับตัวลดลงไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดันให้กราฟ USD/JPY ปรับตัวสูงขึ้น
กระแสความต้องการดอลลาร์สหรัฐบดบังตัวเลขเศรษฐกิจของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ออกมาดีกว่าคาดการณ์จนหมดสิ้น จำนวนการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น 115,000 ตำแหน่งของออสเตรเลียถือว่าสูงที่สุดในรอบหนึ่งเดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว นี่คือตัวเลขที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ถึงสามเท่า และยังเป็นตัวเลขที่นับรวมทั้งการจ้างงานเต็มเวลาและการจ้างงานแบบพาร์ทไทม์เข้าไปแล้วด้วย อัตราการว่างงานของออสเตรเลียก็ปรับลดลงจาก 5.5% ลงมาเหลือ 5.1%
ตัวเลข GDP ของนิวซีแลนด์ในไตรมาสแรกเติบโตขึ้นเป็น 1.6% สูงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ถึงสามเท่า เมื่อเทียบการเติบโตแบบปีต่อปีของตัวเลข GDP จะพบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก -0.8% เป็น 2.4% ทั้งๆ ที่ข่าวดีทั้งสองควรจะหนุนดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์ให้แข็งค่าขึ้น แต่เพราะว่าตอนนี้ใครๆ ก็เอาแต่พูดถึงดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้ทั้งสองสกุลเงินนี้ไม่สามารถแข็งค่าสู้ได้เลย
อีกหนึ่งสกุลเงินที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐคือสวิตฟรังก์ ผลการตัดสินใจที่ได้อัตราดอกเบี้ยออกมาติดลบ 0.75% ยิ่งทำให้ตลาดเห็นความต่างระหว่างสกุลเงินสวิตฟรังก์และดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น ส่วนผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นเมื่อเช้านี้เป็นไปตามคาดเมื่อ BoJ ตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ดังเดิมที่ -0.10% สกุลเงินที่แข็งค่าสู้กับดอลลาร์สหรัฐได้มากที่สุดในตอนนี้คือสกุลเงินปอนด์ แต่เพราะตัวเลขยอดค้าปลีกที่ออกมาติดลบ 1.4% ทำให้กราฟ GBP/USD ปรับตัวลงต่อในช่วงบ่าย ซึ่งตรงกันความต้องการของนักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องการให้ความร้อนแรงของการจับจ่ายใช้สอยลดลงบ้าง ข่าวความพยายามที่จะกลับมาเปิดประเทศของสหราชอาณาจักรและอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นมีส่วนช่วยหนุนตัวเลขยอดค้าปลีกเป็นอย่างมาก