นักลงทุนดันดอลลาร์สหรัฐให้แข็งค่ามากขึ้นหลังจากทราบผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ว่าจะเลื่อนเวลาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เร็วขึ้น ผู้วางนโยบาย 13 จาก 18 คนเห็นตรงกันว่าควรที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยสองครั้งก่อนสิ้นปี 2023 เพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งที่แล้วในเดือนมีนาคมซึ่งตอนนั้นมีผู้เห็นด้วยเพียง 7 คน แน่นอนว่าปัจจัยที่ทำให้ผู้วางนโยบายเปลี่ยนใจเกิดขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เร็วเกินคาดและภาวะเงินเฟ้อ
ชัดเจนว่าภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอเมริกาในตอนนี้ทำให้นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มคิดได้ว่า “หากปล่อยสภาพคล่องเอาไว้เช่นนี้ต่อไป อัตราเงินเฟ้ออาจปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์” นี่คือสิ่งที่เขาแถลงการณ์หลังผลการประชุมเมื่อคืน มีตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อถูกปรับขึ้นในช่วงระหว่างปี 2021 และ 2023 ซึ่งตัวเลขที่ปรับขึ้นมากที่สุดของตัวเลขการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (core PCE) ที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.4% ในปี 2021
ใจความของแถลงการณ์จากเจอโรม พาวเวลล์เมื่อคืนนี้ออกมาในเชิงบวก เขากล่าวว่าตัวบ่งชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยที่อาจจะสามารถชะลอการฟื้นตัวในภาคแรงงานได้ภายในช่วงเดือนสองเดือนหน้า อย่างไรก็ดีเขายังมองว่าการชะลอตัวนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่โดยกล่าวว่า
“เรากำลังอยู่บนเส้นทางที่จะกลับไปมีตลาดแรงงานอันแข็งแกร่งได้ภายในปีหรือสองปี หลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจรู้สึกเบาใจว่าพวกเขาจะสามารถก้าวไปถึงเป้าที่ตั้งไว้ได้เร็วกว่าที่เคยคาดการณ์”
นอกจากนี้เจอโรม พาวเวลล์ยังได้พูดถึงเรื่องการลดสภาพคล่องที่นักลงทุนในตลาดเฝ้าจับตารอ แต่เขากลับไม่บอกระยะเวลาที่แน่ชัดว่าการลด QE จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ในแถลงการณ์เมื่อคืนเขาใช้คำพูดเพียงว่า
“พวกเรา (เฟด) ได้เริ่มพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ (การลด QE) กันบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามพวกเรายังไม่ได้ลงรายละเอียดว่าการลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรฯ จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่จนกว่าเราจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจสามารถเติบโตขึ้นจนถึงจุดที่น่าพอใจ” คำพูดที่เหมือนจะดีแต่ก็ยังคลุมเครือนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะส่งให้กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีกระโดดขึ้น 5% หนุนการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ
คำถามสำหรับนักลงทุนในตอนนี้ก็คือการแข็งค่าของดอลลาร์ครั้งนี้จะคงอยู่ไปได้อีกนานเท่าไหร่? เพราะก่อนหน้านี้ตลาดลงทุนรอมานานกว่าเฟดจะยอมพูดถึงการปรับลด QE และอันที่จริงพวกเขาก็ยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าการประชุมเมื่อคืนนี้เฟดจะพูดถึงการลด QE จริงหรือไม่ ส่วนตัวแล้วเราเชื่อว่าข่าวดีนี้จะหนุนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐไปได้อีกสักระยะจนกว่าจะมีการประกาศตัวเลขที่มีความเกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อ เพราะไม่ว่าเงินเฟ้อต่อจากนี้จะปรับตัวขึ้นมากขนาดไหน แต่สิ่งที่กลายเป็นความจริงแล้วก็คือธนาคารกลางสหรัฐฯ เชื่อในระดับหนึ่งแล้วว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อนั้นเกิดขึ้นจริง ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจในช่วงสองสามเดือนต่อจากนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น
การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลกระทบต่อสวิตฟรังก์มากที่สุด รองลงมาคือสกุลเงินยูโร ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ตัดสินใจเลี่ยงที่จะพูดถึงการลด QE ไปแล้วจึงทำให้ดอลลาร์แข็งค่ามากกว่ายูโรและส่งกราฟ EUR/USD ลงไปวิ่งต่ำกว่า 1.20 วันนี้จะมีการประชุมของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ แต่หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าผลที่ออกมาน่าจะไม่แตกต่างไปจากของ ECB
การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้กราฟ USD/JPY สามารถขึ้นไปยืนเหนือ 110.50 ในขณะที่ปอนด์อ่อนค่าลงเพราะทนแรงกดดันจากดอลลาร์ไม่ไหวและตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) แบบปีต่อปีในเดือนพฤษภาคมสามารถขึ้นไปแตะ 2.1% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์ปรับตัวขึ้นในช่วงเช้าของวันนี้เพราะตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 1 ของนิวซีแลนด์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.6% ส่วนตัวเลขการจ้างงานของออสเตรเลียเพิ่มขึ้นเป็น 115.2K ในขณะที่ตัวเลขการว่างงานลดลงจาก 5.5% เป็น 5.1%