ไม่มีการฉลองใดๆ ในตลาดลงทุนสหรัฐฯ ทั้งนั้นหลังจากที่ได้เห็นตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2008 โดยปกติแล้วดอลลาร์สหรัฐจะต้องแข็งค่าขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่เพราะความเป็นกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในช่วงนี้จึงทำให้การรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) กลายเป็นข่าวร้าย ทั้งๆ ที่ตลาดลงทุนก็คาดการณ์เอาไว้อยู่แล้วว่าเหตุการณ์นี้จะต้องเกิดขึ้น แต่พวกเขาก็ยังผิดหวังที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังทำตัวเมินเฉยกับการขยายตัวของ CPI
มั่นใจได้เลยว่าการขยายตัวของ CPI แบบปีต่อปีที่เพิ่มขึ้นเป็น 5% จะต้องเป็นประเด็นในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ สัปดาห์หน้า และจะเป็นปัจจัยกดดันให้เฟดต้องปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในไตรมาสนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็ให้ความเห็นว่าเฟดอาจจะไม่ตัดสินใจทำอะไรเลยจนกว่าพวกเขาจะมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในตอนนี้สูงเกินกว่าที่จะสามารถควบคุมได้
อีกหนึ่งเหตุผลที่นักวิเคราะห์มองว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เฟดยังไม่ตัดสินใจทำอะไรจนถึงทุกวันนี้เพราะโครงการที่อุ้มคนตกงานกำลังใกล้จะหมดอายุ เฟดอาจเป็นกังวลว่าถ้าดึงสภาพคล่องกลับออกมาตอนนี้อาจกลายเป็นการสร้างภาระให้กับคนกลุ่มนี้ได้ สุดท้ายก็จะทำให้การฟื้นตลาดแรงงานของเฟดขึ้นได้ไม่ถึงเป้า การขยายตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคทำให้กราฟ USD/JPY ขึ้นไปทดสอบ 109.80 แต่ก็ย่อตัวลงมาวิ่งอยู่ต่ำกว่า 109.50 หลังจากนั้น สำหรับการรายงานตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากมหาลัยมิชิแกน นักวิเคราะห์มองว่าตัวเลขดังกล่าวอาจขยายตัวเพิ่มขึ้น
น่าเสียดายที่ผลการประชุมของธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนสกุลเงินยูโรที่แอบหวังว่าจะได้เห็นเรื่องเซอร์ไพรส์ ในการประชุมเมื่อวานนี้ ECB ได้ประกาศเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปี 2021 และ 2022 แต่กลับไม่พูดถึงเรื่องการลดสภาพคล่องเลย นางสาวคริสตีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปมีความเห็นที่คล้ายกันกับเฟดว่าภาวะเงินเฟ้อในตอนนี้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้นและยังมองด้วยว่าการเร่งตัวของเงินเฟ้อในยุโรปตอนนี้ยังขึ้นไม่ถึงเป้า 2% ตามที่วางเอาไว้
ประธาน ECB เชื่อว่าราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็มั่นใจว่าเพราะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นชั่วคราว และจะสามารถปรับลดลงได้เอง เธอยังบอกอีกด้วยว่าการเติบโตของภาวะเงินเฟ้อในตอนนี้ยังอยู่ในการควบคุมและเป็นไปตามที่ ECB ต้องการ เธอดูไม่ตื่นเต้นกับการเปิดประเทศของบางประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เพราะเธอคิดว่ายังมีงานที่ ECB ต้องทำอีกมากในการฟื้นตลาดแรงงานให้กลับมามีสมดุลอีกครั้ง สรุปสั้่นๆ จากการประชุมของ ECB ในครั้งนี้ก็คือคงนโยบายการเงินและการเสริมสภาพคล่องเอาไว้ดังเดิม และจนกว่าจะมีหลักฐานชัดเจน ECB จะไม่เคลื่อนไหวตามตัวเลขคาดการณ์จากสำนักข่าวใดๆ ทั้งนั้น
ในวันนี้ความสนใจของนักลงทุนในตลาดจะเปลี่ยนมาหาสหราชอาณาจักร เพราะจะมีการรายงานตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและข้อมูลตัวเลขดุลบัญชีทางการค้า เมื่อเทียบระหว่างยูโรเทียบดอลลาร์กับ GBP/USD จะพบว่าขาขึ้นของสกุลเงินปอนด์ทำได้ดีกว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรปรับตัวเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศทำได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว การที่นักลงทุนในสหราชอาณาจักรยังไม่ให้ความสำคัญกับการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่และยังเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการทางสังคมมากขึ้นก็มีส่วนที่ทำให้สกุลเงินปอนด์แข็งแกร่ง แต่ก็ควรติดตามอย่างใกล้ชิดว่าแผนเปิดประเทศในวันที่ 21 มิถุนายนนี้จะถูกเลื่อนออกไปหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นสกุลเงินปอนด์จะอ่อนค่าลง
สกุลเงินที่พึ่งพามูลค่าของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลักอย่างดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ การแข็งค่าของดอลลาร์ออสเตรเลียได้แรงหนุนมาจากการขยายตัวของตัวเลขชี้วัดเงินเฟ้อและยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่ เช่นเดียวกับดอลลาร์นิวซีแลนด์ที่ได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของดัชนี PMI ภาคการผลิตจากครั้งก่อน 58.3 จุด เพิ่มขึ้นมาเป็น 58.6 จุด