เชื่อว่าสัปดาห์นี้นักลงทุนทองคำอาจจะต้องเทรดกันอยู่ในกรอบราคาระหว่าง $1,920-$1,880 เนื่องจากตลาดจะรอดูรายงานตัวเลขเงินเฟ้อที่จะประกาศในวันพฤหัสบดี ส่วนตลาดน้ำมันนั้นแม้จะอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น แต่จะไปได้ไกลเพียงใดก็ต้องรอดูข่าวการเจรจาระหว่างอิหร่าน และสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
ทุกสายตาในตอนนี้กำลังจับจ้องไปที่การรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนพฤษภาคมของสหรัฐอเมริกา ในการรายงานครั้งก่อนของเดือนเมษายนพบว่า CPI มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ที่น่าแปลกใจคือข่าวดีดังกล่าวกลับส่งราคาทองคำลงไปยังจุดต่ำสุด $1,800 นอกจากการรอดูตัวเลข CPI สิ่งที่นักลงทุนยังให้ความสำคัญมากๆ คือท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ออกมาแม้จะมีการพูดกันไปทั่วตลาดเกี่ยวกับการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ พวกเขายังคงนโยบายการเข้าซื้อพันธบัตรและคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ดังเดิมนับตั้งแต่การระบาดในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว
สถานการณ์ในตอนนี้ค่อนข้างจะต่างออกไปจากสิ่งที่เรารู้มาเกี่ยวกับความเป็นปรปักษ์กันระหว่างทองคำและดอลลาร์สหรัฐ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นเพราะได้ปัจจัยหนุนเรื่องความกังวลเงินเฟ้อ ในขณะเดียวกันดอลลาร์สหรัฐและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็ปรับตัวขึ้นเพราะตลาดเก็งว่าเฟดจะต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนกำหนด
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ทราบดีถึงแรงกดดันจากตลาดที่เกิดขึ้นเพราะความกังวลเงินเฟ้อ เแต่เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถกลับมาเปิดเป็นปกติให้เร็วที่สุด ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ที่นำโดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดจึงยังต้องคงนโยบายทางการเงินทุกอย่างเอาไว้ดังเดิม ถึงจะมีความเสี่ยงในเรื่องของเงินเฟ้อ แต่พวกเขาก็มั่นใจว่าจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น
ขาขึ้นของราคาทองคำเมื่อสัปดาห์ที่แล้วต้องสะดุดเมื่อเจอรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงเป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน สัญญาณบวกนี้หมายความว่าการจ้างงานของสหรัฐฯ กำลังมีภาพรวมที่ดีขึ้น แต่ถึงกระนั้นการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นก็ยังไม่ดีพอ เมื่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือนพฤษภาคมได้ประกาศออกมาในวันศุกร์ ผลที่ออกมาคือสหรัฐอเมริกามีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจริง แต่ยังเพิ่มขึ้นไม่มากพอเมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์
การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 559,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากตัวเลขในเดือนเมษายนที่ 278,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามการจ้างงานในเดือนพฤษภาคมที่เพิ่มขึ้นยังไม่สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ที่ 645,000 ตำแหน่งได้ แม้ว่าการจ้างงานของสหรัฐฯ จะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ แต่การที่ตัวเลขอัตราการว่างงานลดลงจาก 5.9% ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ลดลงมาเหลือ 5.8% ก็สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีประสิทธิภาพ
สำหรับเศรษฐกิจ นี่คือภาพรวมที่ดีขึ้นแต่ยังไม่ถึงกับดีมาก แต่สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น นี่ถือเป็นข่าวดี เพราะการที่ตัวเลขการจ้างงานยังไม่สามารถเติบโตขึ้นได้อย่างก้าวกระโดดจะทำให้เฟดมีข้ออ้างในการไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือทำนโยบายการเงินในตึงตัว สำหรับทองคำ หากเฟดตัดสินใจเช่นที่ตลาดเชื่อ เท่ากับว่าขาขึ้นจะยังมีโอกาสตราบใดที่เฟดยังไม่คิดจะเข้ามายุ่งกับเงินเฟ้อ
ภาพรวมความเคลื่อนไหวของราคาทองคำนับตั้งแต่การรายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกมาจนถึงปัจจุบันปรากฎว่าราคาทองคำปรับตัวลดลงมายังจุดต่ำสุด $1,855 ในตอนที่ทราบว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการฯ ลดลง แต่ก็ได้โอกาสกลับขึ้นมายัง $1,896 เมื่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ตัวเลขคาดการณ์ ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ ราคาทองคำมีราคาซื้อขายอยู่ที่ $1,885 ปรับตัวอยู่ต่ำกว่าแนวต้าน $1,900 และกำลังรอดูตัวเลข CPI กับการประชุมประจำเดือนของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 15-16 มิถุนายน
ถึงแม้ว่าตลอดทั้งสัปดาห์นี้จะมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ แต่ตัวเลขเดียวที่ตลาดลงทุนจะให้ความสำคัญก่อนการประชุมของเฟดในสัปดาห์หน้ามีเพียง CPI เท่านั้น หากตัวเลขที่ออกมาเพิ่มขึ้น ความกังวลในอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นธีมการลงทุนหลักอีกครั้ง ข้อมูลจาก investing.com ที่ได้ติดตามนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าในเดือนพฤษภาคม ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น 0.4% และตัวเลข CPI รายปีจะขยายตัวขึ้นเป็น 4.7%
เจฟฟี่ ฮัลลีย์ หัวหน้านักวิจัยตลาดลงทุนแห่งโบรกเกอร์ OANDA ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก วิเคราะห์สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อ VS เฟด VS ตลาดลงทุนเอาไว้ว่า
“ถ้าหากตัวเลข CPI ออกมาตรงกับที่คาดการณ์ ประกอบกับตัวเลขการจ้างงานฯ เมื่อวันศุกร์ เฟดมีข้ออ้างเต็มไปหมดที่จะพูดในการประชุมสัปดาห์หน้าได้ว่ายังไม่จำเป็นต้องปรับนโยบายทางการเงินใดๆ หากตัดสินใจอย่างนั้น จะเป็นการเปิดโอกาสให้ราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นต่อ และความกังวลเงินเฟ้อก็จะทำให้กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีมีโอกาสขึ้นไปยัง 1.7% ด้วย”
“สำหรับการวิเคราะห์ทางเทคนิค” เขากล่าวต่อ “ราคาทองคำอาจจะวิ่งอยู่ในกรอบราคาระหว่าง $1,860-$1,900 ไปตลอดทั้งสัปดาห์ โดยมีแนวรับที่ไม่อาจจะลงไปถึงได้อยู่ที่ $1,817”
เปลี่ยนไปดูสถานการณ์ตลาดน้ำมันดิบกันบ้าง ราคาซื้อขายน้ำมันดิบ WTI ในช่วงเปิดตลาดวันจันทร์ของฝั่งเอเชียปรับตัวลดลงหลังจากขึ้นมาทดสอบแนวต้านในรอบ 32 เดือนที่ $70 ต่อบาร์เรล ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็ได้ปรับตัวลดลงมาจากจุดสูงสุดในรอบสองปี ลงมาอยู่ที่ $72.26 ต่อบาร์เรล
สหรัฐอเมริกาและอิหร่านจะประชุมร่วมกันเป็นครั้งที่ห้าในวันที่ 10 มิถุนายนที่กรุงเวียนนา ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายจะพูดคุยกันคือเงื่อนไขที่สหรัฐฯ ต้องการจากอิหร่านเพื่อแลกกับการยกเลิกคว่ำบาตรและการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน อย่างไรก็ตามสำนักข่าวรอยเตอร์และตัวแทนจากประเทศสมาชิกแห่งสหภาพยุโรปมีความเห็นตรงกันว่าการเจรจาครั้งนี้ไม่ง่าย
นักวิเคราะห์มองว่าอิหร่านต้องการที่จะปิดเรื่องนี้ให้ได้ด่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 18 มิถุนายน ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ประเมินว่าอิหร่านจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันขึ้นจาก 500,000 บาร์เรลต่อวันขึ้นเป็น 1 ล้านบาร์เรลต่อวันได้หากสหรัฐฯ ยกเลิกการคว่ำบาตรแล้ว