พูดแล้วก็เหลือเชื่อที่ทุกวันนี้เราจะได้เห็นคนกลายเป็นเศรษฐีหรือยาจกได้ด้วยการซื้อขายสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ไม่เคยจับต้องได้ ยิ่งการเคลื่อนไหวของตลาดที่ฟังแต่คนๆ เดียวทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ได้่ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดทั้งหมดก็ยิ่งฟังดูไม่น่าเชื่อเข้าไปใหญ่ อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เทสลา (NASDAQ:TSLA) สามารถควบคุมตลาดได้เพียงแค่เอ่ยปากว่าบริษัทได้ซื้อบิทคอยน์ภายใต้วงเงิน $1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อนุญาตให้ทำการซื้อขายรถยนต์ไฟฟ้าด้วยบิทคอยน์
ต่อมาไม่นานเขาก็ทำร้ายตลาดด้วยการประกาศยกเลิกสิ่งที่พูดมาทั้งหมด ไม่อนุญาตให้ซื้อรถยนต์ด้วยบิทคอยน์อีกต่อไป และขายบิทคอยน์บางส่วนออกไปด้วยเหตุผลว่าการขุดบิทคอยน์ทำให้เปลืองพลังงานไฟฟ้า ไม่รักษ์โลกและขัดต่อนโยบายของบริษัทในการสร้างรถยนต์พลังงานสะอาด พฤติกรรมกลับกลอกไปมาของเขาทำให้บิทคอยน์ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่เหนือ $60,000 และวิ่งกลับลงมาวิ่งต่ำกว่า $40,000 ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตของสกุลเงินดิจิทัลไล่ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ก็ถือเป็นเรื่องเหลือเชื่อเช่นกันที่ตอนนี้โลกสกุลเงินดิจิทัลมีมูลค่าตลาดรวมแล้วทั้งหมดเกิน $1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจำนวนสกุลเงินดิจิทัลทั้งหมดเกือบเกิน 10,000 เหรียญเข้าไปแล้ว
การเติบโตของเหรียญดังๆ อย่างบิทคอยน์ อีเธอเรียม ดอจคอยน์และเหรียญอื่นๆ ที่หวังว่าตัวเองจะเป็นที่พึ่งของมนุษยชาติในอนาคต ดึงเงินเข้ามาสู่ตลาดสกุลเงินดิจิทัลหลายพันล้านดอลลาร์ จึงไม่แปลกใจเลยที่ทุกวันนี้เราจะเห็นแต่เด็กรุ่นใหม่พูดถึงแต่การสร้างสกุลเงินดิจิทัล การสร้างโลกการเงินที่เป็นโลกของพวกเขาเอง ในปี 2017 การทำ ICO เติบโตขึ้นเป็นอย่างมากในวงการคริปโต ฯ แทนที่จะนำเงินไปทำ IPO เหมือนในอดีต ผู้คนที่ศรัทธาในสกุลเงินดิจิทัลเลือกที่จะเอาเงินมาทำ ICO เอง เป็นเจ้าของโปรเจ็คเองและได้เงินปันผลราวกับเป็นผู้ถือหุ้นไปในตัว
เมื่อวันที่ 14 เมษายน วงการคริปโตฯ ก็ได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นไปอีกขั้นเมื่อแพลตฟอร์มตัวกลางการแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตฯ อย่าง ‘คอยน์เบส’ (NASDAQ:COIN) สามารถดันตัวเองให้เข้าสู่ดัชนี แนสแด็กซึ่งเป็นที่อยู่ของหุ้นชื่อดังมากมายอย่างเช่นกลุ่ม FAANG อย่างไรก็ตามคอยน์เบสไม่ได้รับเงื่อนไขเหมือนกับบริษัทที่ลิสต์เข้าตลาดหุ้นทั่วไป พวกเขาไม่ทำ IPO ไม่พึ่งพาเงินทุนจากธนาคารเพื่อการลงทุนชื่อดัง คอยน์เบสอาศัยเพียงความเชื่อมั่นในโลกสกุลเงินดิจิทัลล้วนๆ ในการยืนหยัดอยู่บนตลาดแนสแด็ก
การเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดของวงการคริปโตฯ
ผมยังจำได้ดีในวันที่สกุลเงินดิจิทัลบนเว็บไซต์ CoinMarketCap มีจำนวนเหรียญอยู่ที่ 1,000 เหรียญเท่านั้น จากนั้นผมก็เฝ้าดูการเติบโตของวงการนี้มาโดยตลอด เชื่อหรือไม่ว่าในช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2019 ตอนนั้นเรายังมีสกุลเงินดิจิทัลกันอยู่ที่ 2,136 เหรียญอยู่เลย
การเติบโตของวงการนี้สะท้อนออกมาผ่านจำนวนเหรียญที่เพิ่มขึ้น ในช่วงปลายปี 2019 จำนวนสกุลเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้นมาเป็น 4,986 เหรียญ ในช่วงสิ้นปี 2020 จำนวนสกุลเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้นมาเป็นสองเท่า มีจำนวนเหรียญ 8,153 เหรียญ และในปีนี้เองที่ช่วงจบไตรมาสที่ 1 เรามีสกุลเงินดิจิทัลอยู่ 9,045 เหรียญก่อนที่จะกลายมาเป็น 9,945 เหรียญเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ที่มา: CoinMarketCap
นักเก็งกำไรคือผู้อุ้มชูตลาดสกุลเงินดิจิทัล
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การลงทุนทุกวันนี้ไม่ได้อยู่แค่ในมือของนักลงทุนวอลล์ สตรีทอีกต่อไป โลกเราทุกวันนี้หมุนเร็วเกินกว่าที่นักลงทุนยุคใหม่จะมัวมาซื้อขายสัญญาล่วงหน้าที่ล็อกเงินของพวกเขาเอาไว้เป็นเดือนๆ ไม่สามารถเอาไปต่อยอดอย่างอื่นได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่เราจะได้เห็นนักลงทุนยุคใหม่ถูกเรียกว่าเป็นนักเก็งกำไรเสียมากกว่า แต่อย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับคือเพราะมีพวกเขา ตลาดสกุลเงินดิจิทัลถึงมีสภาพคล่องได้มากถึงขนาดนี้
ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้สร้างเหรียญ คนถือเหรียญ นักลงทุน เทรดเดอร์ หรือมีความเกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลในแง่มุมใดก็ตาม ต้องยอมรับว่าคุณเป็นคนที่ได้รับประโยชน์จากการซื้อมาขายไปอย่างรวดเร็ว ด้วยพฤติกรรมการลงทุนเช่นนี้ เหล่าบรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นองค์กรใหญ่ๆ ผู้ออกกฎหมาย ผู้ควบคุมระบบการเงินโลก พากันออกมาวิจารณ์ ตำหนิพฤติกรรมของนักลงทุนประเภทนี้เต็มไปหมด ผมว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่าทำไมเราถึงเห็นคนกลุ่มนี้ออกมาวิจารณ์อย่างรุนแรงเวลาที่นักเก็งกำไรปั่นราคาขึ้นไปสูงๆ แต่ตอนนี้นักเก็งกำไรพากันออกจนสถาบันสามารถช้อนซื้อได้ในราคาถูกๆ กลับไม่เห็นออกมาพูดชมเชยเลยสักครั้ง
ในขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ปฏิเสธว่าขาขึ้นจากหนึ่งเพ็นนีขึ้นมายัง $65,500 ของบิทคอยน์ หรือขาขึ้นจาก $1 ขึ้นมาเป็น $4,400 ของอีเธอเรียมนั้นส่วนหนึ่งเกิดมาจากการรวมพลังกันของบรรดานักเก็งกำไร แต่เมื่อคุณยายของผมที่แม้แต่เปิดเฟซบุ๊กยังไม่เป็นหันมาถามผมว่าเธอควรซื้อบิทคอยน์เก็บเอาไว้ดีหรือไม่ นั่นคือวันที่ผมตระหนักได้ว่า ตลาดนี้ไปไกลเกินกว่าจะควบคุมแล้ว
ไม่ใช่ทุกสกุลเงินที่จะกลายเป็นดาวค้างฟ้า
“ธรรมชาติจะคัดสรรผู้ที่อยู่รอด” คำพูดสุดคลาสสิกของนักธรรมชาติวิทยาชื่อดังขาร์ล ดาร์วินยังใช้ได้อยู่เสมอ และยังสามารถใช้ได้แม้กระทั่งกับโลกสกุลเงินดิจิทัลเอง ถ้าผมถามคุณว่า “คุณรู้จักสกุลเงินดิจิทัลใดบ้าง?” ร้อยทั้งร้อยต้องได้ยินชื่อของบิทคอยน์ อีเธอเรียม ดอจคอยน์อย่างแน่นอน แต่ถ้าผมถามคุณว่ารู้ไหมว่าเหรียญที่อยู่ในลำดับ 7,345 คือเหรียญที่มีชื่อว่าอะไร ถ้าคุณไม่ลักไก่ด้วยการเปิด CoinMartketCap ผมมั่นใจได้ว่าคุณไม่มีทางตอบได้ทันที
ภายในข้อดีของการเสริมสภาพคล่องจากการปั่นราคาด้วยฝีมือนักเก็งกำไร ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน ในยามที่ทั้งวงการสกุลเงินดิจิทัลเติบโต อนาคตของทุกสกุลเงินดิจิทัลดูหอมหวาน คุณอยากเป็นคนแรกที่ได้ลงทุนกับพาหนะที่จะพาคุณไปสู่โลกอนาคต แต่ทันทีที่นักเก็งกำไรพากันเทขายตลาดแห่งนี้เพราะมีราคาที่สูงเกินไป ถ้าเหรียญของคุณไม่มีความหนักแน่นพอทั้งในแง่ของเงินทุนและความเป็นไปได้ในอนาคตจริงๆ เหรียญแห่งอนาคตนั้นก็อาจกลายเป็นฝุ่นได้ภายในช่วงข้ามคืน
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าวงการนี้ถือเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะสกุลเงินดิจิทัลก็ได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้วถึงสิบกว่าปีว่าพวกมันสามารถเอาตัวรอดได้ (ถึงแม้จากเกือบ 10,000 เหรียญจะเหลือรอดเพียงไม่ถึง 100 เหรียญก็ตาม) แม้แต่คนที่เคยพูดจารุนแรงกับสกุลเงินดิจิทัล และสาบานไว้ว่าชาตินี้จะไม่ขอญาติดี ก็ยังกลับตัวกลับใจมาเป็นผู้จัดการกองทุนดูแลสกุลเงินดิจิทัลได้ ยกตัวอย่างเช่นนายเจมี่ ไดมอน ของ ธนาคารเจพี มอร์แกน
อย่างไรก็ตามก็ยังคงมีคนแก่บางคน (ผมย้ำว่าบางคน) ที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ยกตัวอย่างเช่นนักลงทุนในตำนานอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ และพาร์ทเนอร์เจ้าของเบิร์กเชียร์ แฮททาเวย์ (NYSE:BRKa) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของวอร์เรน นายชาร์ลี มันเกอร์ ทั้งคู่ต่างก็ยังเชื่อว่าสกุลเงินดิจิทัลเป็นเพียงเรื่องหลอกลวง เป็นหนูสกปรก เป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ แต่คุณยายของผมที่เปิดเฟซบุ๊กไม่เป็นนั้นอายุน้อยกว่าชาร์ลี มันเกอร์ เพียงเก้าปี แต่เธอกลับมีความสนใจในสกุลเงินดิจิทัลเป็นอย่างมาก
ส่วนตัวแล้วผมมองว่าสกุลเงินดิจิทัลจะอยู่กับเรานับจากนี้ตลอดไป ในเมื่อเทคโนโลยีสามารถลดความสำคัญของการเป็นตัวกลางจากภาครัฐได้แล้ว ทำไมผมจะออกไปซื้อไข่ไก่ด้วยคาร์ดาโน่ไม่ได้ก็ในเมื่อผมไม่อยากพกเงินสดและในขณะเดียวกันฝั่งผู้ขายก็ยอมรับสกุลเงินคาร์ดาโน่
จริงอยู่ว่าสกุลเงินดิจิทัลอาจจะต้องผ่านด่านทางกฎหมาย ความปลอดภัย และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย แต่นี่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ภาครัฐจะออกมาโวยวายและอ้อนวอนให้ผู้คนกลับไปใช้เทคโนโลยีที่เก่ากว่า สิ่งที่ภาครัฐควรทำนับจากนี้คือเร่งสปีดตัวเอง พัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง ให้ดีกว่าสกุลเงินดิจิทัล มีเสถียรภาพมากกว่าสกุลเงินดิจิทัล และที่สำคัญ หยุดพิมพ์เงินเพื่อแก้ปัญหาได้แล้ว มิเช่นนั้นสกุลเงินในวันนี้จะถูกแทนที่ด้วยสกุลเงินดิจิทัลเข้าจริงๆ สักวันหนึ่ง
จงจำไว้ว่าการรักษาสภาพคล่องนั้นสำคัญกว่าการทำกำไร
เพราะโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นผมจึงไม่มีสิทธิ์ห้ามนักลงทุนยุคใหม่ในการลงทุนกับสกุลเงินดิจิทัล แต่ด้วยประสบการณ์ที่ผมมีมาตลอดชีวิตเกี่ยวกับการลงทุน ตลาดที่ยังไม่มีความแน่นอนนั้น การลงทุนควรเน้นไปที่สภาพคล่องมากกว่าความสามารถในการทำกำไรที่รวดเร็ว ยิ่งคุณมีสภาพคล่องมากท่าไหร่ คุณยิ่งมีโอกาสเข้าออกตลาดด้วยความเสี่ยงที่ลดลง การลงทุนด้วยสภาพคล่องที่จำกัดมีแต่จะทำให้ความเสี่ยงสูงขึ้น
ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล แต่เงินที่ผมนำไปลงทุนนั้นเป็นเงินที่ผมยอมรับได้ว่าสามารถเสียเงินก้อนนั้นได้ทั้งหมด ทีสำคัญผมเลือกลงทุนกับสกุลเงินที่มีมูลค่าตลาดเกิน $1,000 ล้านเหรียญขึ้นไปเท่านั้น แต่ถ้าพูดถึงการเทรดในสกุลเงินดิจิทัลแล้ว ผมไม่ได้ใช้วิธีคิดแบบนั้น ผมลงทุนตามแนวโน้มใหญ่ วิเคราะห์จิตวิทยามวลชวน ดูอารมณ์ของตลาด และออกจากตลาดเมื่อเห็นว่าเหรียญนั้นๆ มีมูลค่าเกิน $10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ใช้วิธีนี้มา มีเหรียญที่ผ่านเกณฑ์นี้ของผมเพียง 17 เหรียญเท่านั้น แต่เงินลงทุนในส่วนนี้นั้นผมก็ยินดีหากจะต้องเสียเงินทั้งหมดเช่นกัน
สรุปแล้ว ตลาดสกุลเงินดิจิทัลจะอยู่กับเรานับจากนี้ไป แต่ก็ไม่ใช่ทุกสกุลเงินดิจิทัลที่จะกลายขึ้นมาเป็นเหรียญระดับแนวหน้าได้ หากคุณเลือกเหรียญที่จะลงทุนมาไม่ดี คุณจะขาดทุนแทนที่จะทำกำไรได้ ดังนั้นการเลือกเหรียญที่มีมูลค่าตลาดเกิน $1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปจะช่วยลดความเสี่ยงให้คุณลงได้ในระดับหนึ่ง