ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จะสังเกตได้ว่าตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทำเพียงวิ่งอยู่ในกรอบราคาแคบๆ แม้ว่าตลาดลงทุนจะตื่นตัวกันมากเมื่อได้เห็นอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวมากยิ่งขึ้น หลายคนอาจจะไม่ทราบว่านักเศรษฐศาสตร์จะใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เป็นตัววัดการเติบโตของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งตัวเลขในเดือนเมษายนนั้นกระโดดขึ้น 0.8% เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ 0.2% และเมื่อพิจารณา CPI แบบปีต่อปี (YoY) แล้วพบว่าเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ 3.6% ขึ้นเป็น 4.2% หรือนี่คือลมสงบก่อนที่พายุจะมาถึง?
อีกหนึ่งดัชนีชี้วัดที่ผู้คนไม่ค่อยพูดถึงมากเท่าไหร่ก็คือดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สาเหตุที่ไม่มีใครพูดถึงมากนักเพราะดัชนี PPI นั้นถูกประกาศตัวเลขออกมาหลังจากที่ตลาดทราบตัวเลข CPI ไปแล้ว สำหรับการเปลี่ยนแปลงแบบเดือนต่อเดือน (MoM) พบว่าดัชนี PPI เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 0.3% เป็น 0.6% ส่วนตัวเลขแบบปีต่อปีนั้นเพิ่มขึ้นจาก 3.8% เป็น 6.2% นี่คือการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่เริ่มต้นติดตามข้อมูลดังกล่าวในปี 2010
เพื่อตอกย้ำการเติบโตของภาวะเงินเฟ้อ ดัชนีภาคการผลิตของเอ็มไพร์ สเตตที่เป็นตัวชี้วัดสถานการณ์ในภาคธุรกิจของเมืองนิวยอร์กได้ขยับขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่ 83.5 จุด เพิ่มขึ้นอีกเก้าจุดเมื่อคิดจากตัวเลขของเดือนก่อน นอกจากนี้ตัวเลขราคาสินค้านำเข้าที่รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็เพิ่มขึ้น 10.6% แบบปีต่อปี ในขณะที่เทียบแบบเดือนต่อเดือนพบว่าเพิ่มขึ้น 0.7%
ในช่วงที่มีการประกาศตัวเลขดัชนี CPI เมื่อวันพุธที่แล้ว กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีได้ทะยานขึ้นไปยืนเหนือ 1.7% ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาเป็น 1.64% และลงมาเกือบถึง 1.61% แต่ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเงินเฟ่อ เหล่าผู้วางนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ก็พากันกระจายออกไปปรากฎตามสถานที่ต่างๆ เช่นมหาวิทยาลัย งานสัมมนา การสัมภาษณ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ ฯลฯ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและส่งข้อความเดียวออกไปยังนักลงทุนว่า “ภาวะเงินเฟ้อครั้งนี้เป็นเรื่องชั่วคราวและเรา (เฟด) ยังไม่มีความคิดที่จะทำให้นโยบายทางการเงินรัดกุมขึ้นในเร็วๆ นี้”
ในฐานะนักลงทุน พวกเราต่างก็พูดคำว่า “เข้าใจแล้ว” ทั้งๆ ที่ในใจไม่เชื่อเลย เฟดก็ทราบเรื่องนี้ดี ดังนั้นพวกเขาจึงจะต้องตอกย้ำข้อความนี้ต่อไปเรื่อยๆ ล่าสุดเมื่อวานนี้รองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายริชาร์ด แครริด้า ได้อัปเดตสถานการณ์ภายในเฟดว่าพวกเขาทราบสถานการณ์ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อดีจากตัวเลขเศรษฐกิจ แต่เฟดก็ยังไม่คิดจะทำอะไรตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อยังขึ้นไม่ถึงเป้าที่ตั้งเอาไว้ ในขณะเดียวกันนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดแอตแลนต้ากล่าวว่ายิ่งเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากเท่าไหร่ ยิ่งแปลว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังเติบโตขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์บางคนแย้งการโฆษณาชวนเชื่อของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยให้เหตุผลว่าต่อให้จะตั้งให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นถึงเป้าในรอบห้าปีที่ 2.5% แต่ก็ควรที่จะรัดกุมนโยบายทางการเงินก่อนปี 2023-24 ที่สำคัญเฟดควรมีมาตรการลดความร้อนแรงในตลาดเงินลงก่อนที่ “การขึ้นยืนเหนือ 2% ได้เป็นครั้งคราว” จะมาถึง
ข้ามไปดูสถานการณ์ที่ฝั่งยุโรปกันบ้าง ล่าสุดอิตาลีได้ตัดสินใจขายพันธบัตรของยูโรโซนออกไปเพราะเป็นกังวลว่าธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) จะชะลอแผนการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลฉุกเฉินออกไปก่อนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในยุโรปเริ่มคลี่คลายลง หลายๆ ประเทศในยุโรปเริ่มผ่อนปรนการคุมเข้มทางสังคมแล้ว
กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลี อายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นสามจุดเบสิสเมื่อวันจันทร์ กราฟผลตอบแทนฯ ได้ปรับตัวลดลงมาวิ่งอยู่ที่ 1.10% โดยประมาณหลังจากขึ้นไปแตะ 1.13%
มัตเตโอ ซัลวีนี อดีตรองนายกรัฐมนตรีอิตาลี วิจารณ์แผนตั้งรัฐบาลแบบพรรคร่วมของว่าที่นายกรัฐมนตรีนายมาริโอ ดรากิว่าจะเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ และอาจนำมาซึ่งปัญหาการปรับใช้กฎหมายให้เข้ากับกฎของสหภาพยุโรปในอนาคต อย่างไรก็ตามการวิจารณ์ของเขาไม่ได้หมายความว่ามัตเตโอไม่สนับสนุนอดีตประธานธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงต้นปี 2022 เขาเพียงมองว่าการตั้งรัฐบาลด้วยวิธีนี้มีโอกาสที่จะถูกล้มได้ง่ายหากเมื่อไหร่ก็ตามที่พันธมิตรมีใจออกห่าง