หากคุณถามเราว่าสัปดาห์นี้ธีมการลงทุนจะเป็นเช่นไร? ส่วนตัวแล้วเรามองว่ามีสองประเด็นที่จะทำให้ตลาดยังคงผันผวนต่อไป หนึ่งคือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคที่ไม่เท่ากันและการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ ข่าวดีเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะทำให้หุ้นสายเน้นมูลค่ามีราคาเพิ่มขึ้นหลังจากที่ได้รับผล กระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่จนกว่าจะมีปัจจัยชี้นำตลาดใหม่เข้ามาสนับสนุน เราคาดว่าความผันผวนนี้จะคงอยู่กับตลาดลงทุนไปอีกสักระยะ
หลังจากที่ตัวเลขยอดค้าปลีกไม่ร้อนแรงเหมือนดังที่หลายฝ่ายคาดการณ์ สิ่งที่นักลงทุนในตลาดจะจับตาดูตลอดสัปดาห์นี้คือความสามารถในการรักษาแนวโน้มขาขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มเติบโตบางตัวท่ามกลางกระแสภาวะเงินเฟ้อที่กลายเป็นธีมการลงทุนของสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้จะมีการรายงานผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด ซึ่งจะออกมาในวันพุธที่ 19 พฤษภาคม รายงานฉบับนี้อาจจะให้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ในตอนนี้มีมุมมองต่อภาวะเงินเฟ้อเช่นไรและมีแผนจะดำเนินการต่อไปในอนาคตอย่างไร
ดัชนีวัดความผันผวนของตลาด (VIX) หรือที่หลายๆ คนให้ชื่อเล่นว่า ‘ดัชนีวัดความกลัว’ ปรับตัวลดลงหลังจากที่ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดเอาไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ ตอนนี้กราฟดัชนีวัดความผันผวนกำลังวิ่งลงอยู่ในกรอบราคาขาลงอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
กราฟผลตอบแทนพันธบัตรฯ และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาสามารถพลิกกลับขึ้นมาปิดตลาดเป็นบวกได้ในสองวันสุดท้ายก่อนปิดทำการ หลังจากที่ตลอดทั้งสัปดาห์เคยปรับตัวลดลงไปมากที่สุดเกิน 600 จุด สาเหตุที่ตลาดยังสามารถพลิกกลับขึ้นมาปิดบวกได้เป็นเพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีการปรับตัวลดลง ซึ่งหมายถึงความกังวลที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อก็ได้ปรับตัวลดลงตามไปด้วย
ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดสัปดาห์ที่แล้วด้วยการบวก 1.49% หุ้นที่พาเอสแอนด์พี 500 กลับขึ้นมาได้มากที่สุดคือหุ้นกลุ่มพลังงาน 3.1% ตามมาด้วยกลุ่มเทคโนโลยี 2.2% นอกจากเอสแอนด์พี 500 แล้ว ดัชนีรัสเซล 2000 ก็สามารถปิดบวกได้ 2.4% และแนสแด็ก 100 อีก 2.2% ส่วนอีกสองดัชนีไม่โชคดีอย่างนั้น ดาวโจนส์ปรับตัวลดลง 1.1% ตลอดทั้งสัปดาห์และแนสแด็กคือผู้ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดคิดเป็น 2.3%
อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าโชคดีที่แนสแด็กยังสามารถพาตัวเองกลับขึ้นไปยืนเหนือเส้นเทรนด์ไลน์ที่ลากมาตั้งแต่จุดต่ำสุดของปี 2020 ได้ จุดที่น่าสังเกตของแนสแด็กในสัปดาห์นี้คือราคาจะปรับตัวลดลงตาม ‘ไดเวอร์เจนต์’ (Divergence) หรือไม่ เมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้นแต่เส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นในอินดิเคเตอร์ MACD จะตัดลงมาและอินดิเคเตอร์ RSI จะทรงตัวได้เหนือจุดต่ำสุดของเดือนตุลาคมได้เล็กน้อย
การที่ตลาดลงทุนสหรัฐฯ ยังสามารถกลับขึ้นมาปิดบวกได้ แสดงให้เห็นภาพรวมของนักลงทุนว่ายังมีความเชื่อมั่นกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอยู่ ถึงตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (สัญญาณเงินเฟ้อ) ที่ประกาศออกมาในช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้วจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เมื่อประธานธนาคารกลางแห่งคลีฟแลนด์ นางลอเรตต้า เมสเตอร์ ออกมาพูดเมื่อวันศุกร์ ตลาดลงทุนก็กลับมาเชื่อมั่นในคำพูดของเหล่าผู้ออกนโยบายทันที
“จริงอยู่ว่าอาจจะมีความผันผวนในตลาดอยู่มาก และข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจในบางภาคส่วนอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไม่สอดคล้องกัน แต่นโยบายของธนาคารกลางตอนนี้ยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนตัวแล้วดิฉันไม่ได้สนใจข้อมูลตัวเลขเหล่านี้มากนัก” - ลอเรตต้า เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางแห่งคลีฟแลนด์กล่าว
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าสนใจในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก่อนปิดสัปดาห์คือการเทขายหุ้นดิสนีย์ (NYSE:DIS) บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา การเทขายครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการรายงานผลประกอบการของบริษัทที่แสดงให้เห็นว่ายอดผู้สมัครสมาชิกบริการดิสนีย์พลัส (Disney+) ลดลง
การเทขายครั้งนี้ทำให้ราคาหุ้นของดิสนีย์หลุดแนวรับล่าสุดที่ 181.72 ลงมา นี่คือขาลงที่แรงที่สุดนับตั้งแต่ราคาหุ้นปรับตัวลงมาจากจุดสูงสุด 200 โดยประมาณ เป็นไปได้ว่าราคาหุ้นดิสนีย์อาจต้องการลงไปทดสอบเส้นเทรนด์ไลน์ขาขึ้นที่ลากมาตั้งแต่จุดต่ำสุดของปี 2020
กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวลดลงเป็นวันที่สองติดต่อกันหลังจากที่ตัวเลขยอดค้าปลีกสร้างความผิดหวังให้แก่นักลงทุน
กราฟผลตอบแทนฯ ปรับตัวกลับลงมาวิ่งต่ำกว่าเส้น neckline ซึ่งเป็นแนวรับให้กับรูปแบบ double-top ก่อนหน้า หากจะให้กราฟฯ ปรับตัวกลับขึ้นไปยืนเหนือเส้น neckline นี้ ก็ต้องสร้างจุดต่ำสุดใหม่ให้ได้โดยเร็วที่สุด
การปรับตัวลดลงของกราฟผลตอบแทนฯ อายุ 10 ปีทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ
กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลงกลับไปอยู่ต่ำกว่าเส้นเทรนด์ไลน์ขาขึ้นที่ลากมาตั้งแต่จุดต่ำสุดของวันที่ 6 มกราคมอีกครั้ง หากกราฟดัชนีดอลลาร์สามารถทำจุดต่ำสุดใหม่ได้ เราจะเปลี่ยนมุมมองที่คิดว่ากราฟกำลังปรับตัวขึ้นในระยะกลางเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาลงระยะสั้น
แน่นอนว่าเมื่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ก็ถึงเวลาที่คู่ปรับคนสำคัญอย่างทองคำต้องเฉิดฉาย
นับตั้งแต่ราคาทองคำขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดในปี 2020 ราคาก็วิ่งอยู่ในกรอบขาลงมาตลอด ก่อนจะปรับตัวขึ้นได้เมื่อไม่นานมานี้ หากคุณเชื่อว่าขาขึ้นครั้งนี้ของทองคำไม่จีรัง จังหวะนี้คือจุดที่ดีในการวางคำสั่งขายตามแนวโน้มขาลงเดิม
ทั้งๆ ที่ทองคำและบิทคอยน์ต่างก็ถูกวางให้เป็นสินทรัพย์คานความมั่งคั่งของดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อดอลลาร์อ่อนค่า และบิทคอยน์ก็ปรับตัวลดลงตาม แสดงให้เห็นว่านักลงทุนในตอนนี้ไม่ได้มองว่าบิทคอยน์เป็นสินทรัพยสำรองปลอดภัย
ก่อนที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะปิดทำการเนื่องในวันสุดสัปดาห์ ราคาบิทคอยน์ยังพยายามทรงตัวให้ยืนเหนือ $50,000 เพื่อยืนยันว่าข่าวการระงับชำระเงินด้วยบิทคอยน์ในการซื้อรถเทสลาไม่ได้สร้างผลกระทบกับบิทคอยน์มากเท่าไหร่ แต่ในช่วงวันหยุดนี้เองที่ราคาบิทคอยน์ก็ได้ปรับตัวลดลงต่ำกว่า $50,000 สร้างจุดต่ำสุดเอาไว้ที่ $46,500
จากรูปจะเห็นว่ากราฟ BTC/USD กำลังทดสอบแนวรับอยู่ (เส้นสีแดง) หากราคาสามารถทะลุแนวรับนี้ลงไปได้ การสร้างรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) จะสมบูรณ์ และขาลงครั้งนี้อาจพาบิทคอยน์ลงไปยัง $30,000 ได้
การที่ราคาสร้างรูปแบบลิ่มลู่ขึ้น (Rising Wedge) แล้วทะลุลงได้ทั้งสองครั้ง แสดงให้เห็นว่ามีโอกาสที่รูปแบบหัวไหล่ครั้งนี้จะสำเร็จสูง ก่อนที่จะลงไปถึง $30,000 ให้พิจารณาแนวรับ $40,000 เอาไว้ก่อน เชื่อว่าที่ระดับราคาดังกล่าว มีโอกาสที่จะเจอแรงสวนของคนที่เชื่อว่าตรงนั้นเป็นจุดเข้าที่ดีอยู่เยอะพอสมควร
การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐยังช่วยหนุนราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวกลับขึ้นมาด้วย
ราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ลงมาเจอแนวรับที่บริเวณด้านล่างของกรอบขาขึ้น อย่างไรก็ตามการทดสอบขาขึ้นของราคาน้ำมันดิบที่แท้จริงจะอยู่ที่ WTI สามารถขึ้นยืนเหนือ $67.98 ต่อบาร์เรล (จุดสูงสุดของวันที่ 8 มีนาคม) ได้หรือไม่ ส่วนตัวแล้วเราเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบจะสามารถกลับขึ้นไปชนกรอบด้านบนได้อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้จะเป็นที่บริเวณ $67.98 ต่อบาร์เรลพอดี ก่อนที่จะดีดตัวกลับลงมาอยู่ในกรอบดังเดิม
ถ้าสุดท้ายแล้วกรอบราคานี้ยังสามารถรักษาทรงของขาขึ้นไปได้ตลอดทั้งสัปดาห์ เชื่อว่าในที่สุด WTI จะสามารถขึ้นยืนเหนือ $67.98 ต่อบาร์เรล สร้างจุดสูงสุดใหม่ได้ในที่สุด
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันอาทิตย์
22:00 (ประเทศจีน) รายงานตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 14.1% เป็น 9.8%
วันจันทร์
19:50 (ญี่ปุ่น) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าตัวเลขแบบ QoQ จะลดลงจาก 2.8% เป็น -1.2% และตัวเลขแบบ YoY จะลดลงจาก 11.7% เป็น -4.6%
21:30 (ออสเตรเลีย) รายงานผลการประชุมของธนาคารกลางออสเตรเลีย
วันอังคาร
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานจำนวนคนว่างงานที่ใช้สิทธิประโยชน์จากการว่างงาน: ตัวเลขครั้งก่อนออกมาอยู่ที่ 10.1K
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการอนุญาตก่อสร้าง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.759M เป็น 1.779M
วันพุธ
02:00 (สหราชอาณาจักร) ดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่าจะแบบ YoY เพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 0.7% เป็น 1.4%
05:00 (ยูโรโซน) ดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่าจะคงที่ 1.6%
08:30 (แคนาดา) ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน: คาดว่าจะลดลงจาก 0.3% ในเดือนมีนาคมเป็น -0.1%
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: สัปดาห์ก่อนมีตัวเลขอยู่ที่ -0.427M bbls
14:00 (สหรัฐฯ) รายงานผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน
21:30 (ออสเตรเลีย) อัตราการจ้างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก 70.7K เป็น 15.0K
21:30 (ประเทศจีน) รายงานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารกลางจีน: คาดว่าจะคงที่ 3.85%
วันพฤหัสบดี
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงต่อเนื่องจาก 473K เป็น 450K
08:30 (สหรัฐฯ) ดัชนีภาคการผลิตจากเฟดฟิลาเดเฟีย: คาดว่าจะลดลงจาก 50.2 เป็น 43.0 จุด
วันศุกร์
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: คาดว่าจะลดลงจาก 5.4% เป็น 4.0% ในเดือนเมษายน
03:30 (เยอรมัน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะลดลงจาก 66.2 เป็น 65.8 จุด
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะคงที่ 60.7 จุด
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีกพื้นฐาน: คาดว่าจะลดลงจาก 4.8% เป็น 2.0%
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยมือสอง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 6.01M เป็น 6.09M