หากย้อนกลับไปดูดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2021 จะพบว่าดอลลาร์สามารถปรับตัวขึ้นได้เป็นอย่างดีซึ่งสวนทางกับขาลงในปัจจุบัน นักลงทุนพากันเทขายดอลลาร์อย่างต่อเนื่องแม้ว่าเศรษฐกิจของอเมริกาจะฟื้นตัว ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (FED) ยังคงดึงดันที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ดังเดิม ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และสกุลเงินดอลลาร์
สัปดาห์นี้ตลาดลงทุนจะได้ทราบว่าเฟดจะยังรักษาความดื้อรั้นนี้ต่อไปอีกหรือไม่ในการประชุมเพื่อวางนโยบายทางการเงิน โดยภาพรวมนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกายังคงแข็งแกร่ง สังเกตได้จากการขยายตัวของตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) จาก Markit เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีเช่นนี้ นักลงทุนจึงสนใจว่าเฟดจะยกเหตุผลอะไรมาอ้างในการรักษาดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ดังเดิมไปจนกระทั่งถึงปี 2023 ยิ่งเพื่อนบ้านอย่างแคนาดาก็ได้นำร่องไปแล้วด้วยการปรับลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ แล้วสหรัฐฯ ซึ่งสามารถฟื้นตัวได้ดีกว่าแคนาดาจะยังมีข้ออ้างอะไรอีก นอกจากการประชุมเฟด นักลงทุนจะให้ความสนใจกับะการรายงานตัวเลข GDP ไตรมาสที่หนึ่งของสหรัฐอเมริกาซึ่งคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญไม่ว่าผลการประชุมของเฟดจะออกมาเช่นไร
ความเสี่ยงสามประการที่จะส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าในปีนี้ประกอบไปด้วยนโยบายการจัดเก็บภาษี การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอื่นๆ และปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาหลังจากการฉีดวัคซีน ในตอนที่กรมควบคุมโรค (CDC) และองค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกาประกาศงดใช้วัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (NYSE:JNJ) จะเห็นว่าดอลลาร์สหรัฐก็ถูกเทขายตามไปด้วย ตอนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกลับมาพูดถึงเรื่องการขึ้นภาษีกำไรที่ได้จากหุ้น ดอลลาร์ก็อ่อนค่า อย่างไรก็ตามสัปดาห์นี้ดอลลาร์มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้หากตัวเลข GDP ในไตรมาสที่หนึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
เมื่อวันศุกร์ที่แล้วสกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุมาจากการรายงานตัวเลขดัชนี PMI ของยูโรโซนที่ขยายตัวมากขึ้น ชัดเจนว่าถึงจะมีการแพร่ระบาดและยังคงอยู่ภายใต้สภาวะล็อกดาวน์ แต่ประชาชนก็เรียนรู้ที่จะอยู่แบบไม่ตระหนกและใช้ชีวิตตามปกติได้ แม้ตัวเลขภาคการผลิตของเยอรมันและ PMI ภาคบริการจะลดลงเล็กน้อย แต่ก็ถูกชดเชยด้วยดัชนีการบริโภคภายในประเทศของฝรั่งเศสและภูมิภาคโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ดัชนียูโรโซนคอมโพสิตปรับตัวขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
ขาขึ้นของ EUR/USD สวนทางกับ GBP/USD ที่ปรับตัวลดลงแม้ตัวเลขยอดค้าปลีกและดัชนี PMI ของสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น ตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นเป็น 5.4% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ถึงสามเท่า หากนับเฉพาะตัวเลขการใช้จ่ายที่ไม่รวมค่าน้ำมันหรือการใช้พลังงานเชื้อเพลิง จะเห็นว่าการจับจ่ายใช้สอยเติบโตขึ้น 4.9% ตัวเลข PMI ภาคการผลิตและบริการสามารถขยายตัวจนขึ้นยืนเหนือ 60 จุดได้ในเดือนเมษายนซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบสามปีเลยทีเดียว ถึงข่าวดีเหล่านี้จะเป็นแรงหนุนให้กับสกุลเงินปอนด์แต่กราฟอาจต้องการรอดูตัวเลข GDP ของสหรัฐอเมริกาก่อนจึงจะตัดสินใจเลือกว่าจะวิ่งไปทางใด
เศรษฐกิจออสเตรเลียโดยภาพรวมยังคงอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเมืองเพิร์ธจะมีการล็อกดาวน์สามวันหลังจากพบว่ามีเคสคนติดโควิดสองราย แต่นักลงทุนยังให้น้ำหนักกับข่าวดีที่ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ทำทราเวล บับเบิ้ล (Travel Bubble) กันและตัวเลขกิจกรรมในภาคการผลิตและบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น กราฟ USD/CAD ยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลงหลังจากที่ธนาคารกลางแคนาดา (BoC) ปรับนโยบายการเงินให้รัดกุมมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจที่ BoC มีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของแคนาดา สัปดาห์นี้ต้องจับตาดูรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกและตัวเลข GDP ของแคนาดาเทียบกับของสหรัฐฯ ด้วย