เดือนมีนาคมที่พึ่งผ่านมาถือเป็นเดือนที่ยากลำบากสำหรับสกุลเงินยูโร ยูโรเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบสี่เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและอ่อนค่ามากที่สุดในรอบปีเมื่อเทียบกับปอนด์ การบริหารจัดการวิกฤตโควิดของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและยูโรโซนนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ยุโรปเป็นพื้นที่แรกๆ ที่เข้าสู่การล็อกดาวน์ก่อนในขณะที่สหรัฐฯ มีการจัดการโควิดที่ไม่เป็นระบบระเบียบจนทำให้คู่สกุลเงินยูโรเทียบดอลลาร์ปรับตัวขึ้นในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมและสิงหาคมปี 2020 ในช่วงหน้าหนาวก็เป็นยุโรปอีกที่กลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ก่อนและลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่อีกสองประเทศเริ่มผ่อนคลายการล็อกดาวน์แล้ว สกุลเงินและเศรษฐกิจภายในยูโรโซนคือผู้ที่ต้องรับกรรม นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กราฟ EUR/USD ร่วงลงจากจุดสูงสุด 1.2350 ในช่วงต้นเดือนมกราคมลงมายังจุดต่ำสุด 1.1704 ในวันนี้
การดีดตัวกลับขึ้นมาของ EUR/USD เมื่อวานนี้มีสาเหตุมาจากแรงขายในตลาดที่มีมากเกินไป การที่ตัวเลขอัตราการว่างงานของเยอรมันออกมาดีขึ้นก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่ทำให้นักลงทุนบางส่วนที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงกับการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ตัดสินใจออกจากตลาดเพื่อทำกำไรก่อน แต่ถึงแม้จะดีดตัวกลับขึ้นมาได้ สกุลเงินดอลลาร์ก็ยังเป็นฝ่ายได้เปรียบกว่ายูโรในระยะยาวเนื่องจากปัญหาโควิดในยุโรปนับวันยิ่งดูเหมือนว่าจะไม่จบลงง่ายๆ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสนายแอมานุแอล มาครงได้ประกาศแผนล็อกดาวน์ 4 สัปดาห์ติดโดยจะเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่กำลังจะถึงนี้เป็นต้นไป มาครงกล่าวว่า “ถ้าไม่เริ่มล็อกดาวน์ตอนนี้เรา (ฝรั่งเศส) จะไปถึงจุดที่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้อีกแล้ว”
นอกจากนี้โรงพยาบาลในฝรั่งเศสก็ใกล้ที่จะถึงขีดจำกัดในการรับผู้ป่วยโควิดแล้ว โรงเรียนก็จะถูกสั่งปิด ร้านขายสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคยิ่งไม่ต้องพูดถึง ผู้คนไม่สามารถออกจากบ้านของตนได้ไกลเกินกว่า 10 กิโลเมตรและจะมีเคอร์ฟิวตั้งแต่ 19:00 น. ไปจนถึง 06:00 น. เยอรมันอาจเป็นประเทศถัดไปที่ต้องยกระดับมาตรการคุมเข้มหลังจากผู้นำของประเทศที่ยังต้องต่อสู้กับโควิดอยู่ขอให้สหภาพยุโรปรีบประกาศดำเนินนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดหมายความว่าการหดตัวทางเศรษฐกิจในยุโรปจากไตรมาสแรกจะลามมาถึงไตรมาสสองที่พึ่งจะมาถึง ด้วยเหตุนี้นักลงทุนจึงมองว่าไม่มีเหตุผลใดที่ต้องถือครองยูโรและแนวรับที่ 1.17 ก็สามารถลงมาถึงและเจาะได้ง่ายมากด้วยเช่นกัน
ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเยนหลังจากที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีสามารถขึ้นไปแตะ 1.74% ภายในช่วงเวลาเพียงสี่เดือนกราฟผลตอบแทนฯ สามารถปรับตัวขึ้นมาได้เกือบสองเท่า เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ปิดทำการก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนประกาศแผนยกเครื่องโคงสร้างพื้นฐาน $2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เราจึงไม่ได้เห็นความเคลื่อนไหวของนักลงทุนที่มีต่อแผนยกเครื่องนี้ ไบเดนยังใช้โอกาสนี้ผลักดันเรื่องการปฏิรูปภาษีเพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว โดยผู้นำสหรัฐฯ เสนอให้ปรับขึ้นภาษีธุรกิจจากเดิม 21% มาอยู่ที่ 28% กระนั้นรัฐบาลยังคงเปิดรับแนวความคิดอื่นๆ เกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนมาสนับสนุนโครงการต่างๆ ดังนั้นในช่วงของการเปิดตลาดวันนี้เชื่อว่าจะได้เห็นความเคลื่อนไหวจากนักลงทุนวอลล์ สตรีทที่มีต่อแผนนี้แน่นอน
รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเมื่อวานนี้ปรับตัวลดลงผิดคาดเล็กน้อย ตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยที่รอการจำนองปรับตัวลดลง 10.6% เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ -2.6% ดัชนี PMI จากเฟดชิคาโกสามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ไปได้ แต่ที่น่าสนใจคือตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานนอกภาคการเกษตรจาก ADP เมื่อคืนนี้ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ 550,000 ตำแหน่งลงมาเป็น 517,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้ยังถือว่าดีในสายตาของนักวิเคราะห์ ADP รายงานว่ากิจกรรมในภาคการผลิตถือว่าเร่งตัวได้ดี ดังนั้นวันนี้เราจึงต้องมาดูกันว่าภาคการผลิตนั้นดีจริงหรือไม่จากการรายงานตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตโดย ISM และรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรจริงในวันพรุ่งนี้
สกุลเงินดอลลาร์แคนาดา และ ดอลลาร์นิวซีแลนด์ ปิดวันสุดท้ายของเดือนมีนาคมด้วยการแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามมาด้วยดอลลาร์ออสเตรเลีย รายงานตัวเลข GDP ของแคนาดาออกมาดีมากกว่าที่คาดการณ์ ในเดือนมกราคมพบว่าเศรษฐกิจแคนาดามีการขยายตัว 0.7% เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 0.1% แม้ความเชื่อมั่นในผู้บริโภคและภาคธุรกิจของนิวซีแลนด์จะลดลง แต่สกุลเงินกลับไม่ได้รับผลกระทบ ดอลลาร์ออสเตรเลียพอจะหยุดแนวโน้มขาลงของกราฟ AUD/USD ได้บ้างหลังจากข้อมูลตัวเลขการอนุญาตก่อสร้างออกมาดี สะท้อนให้เห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่สามารถวางใจได้