ถือเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนยังคงเทใจให้กับดอลลาร์สหรัฐเป็นพิเศษ สังเกตได้จากดัชนีดอลลาร์สหรัฐที่สามารถปรับตัวขึ้นได้สูงที่สุดในรอบสี่เดือน แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังแอบหวั่นใจว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใกล้จะคลอดแล้วจะทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหรือไม่ หากว่ากันตามขั้นตอนนั้นตอนนี้เหลือเพียงการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้และรอให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นผู้เซ็นอนุมัติออกเป็นกฎหมายเท่านั้น ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 14 มีนาคม
เงิน $600 ที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งที่สองทำให้ตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือนมกราคมดีดตัวขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด แต่ครั้งนี้ผู้ที่มีคุณสมบัติพื้นฐานครบในฐานะพลเมืองอเมริกันจะได้รับเช็คเงินเยียวยาครั้งเดียว $1,400 มากกว่าครั้งที่แล้วสองเท่า แม้ทำเนียบขาวจะบอกว่าเงื่อนไขในการได้รับเงินเยีวยาครั้งนี้จะแคบลงแต่ 98% ของชาวอเมริกันจะได้รับเงินก้อนนี้อย่างแน่นอน นอกจากนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้ขยายวงเงินให้สิทธิประโยชน์กับผู้ว่างงานและลดหย่อนภาษีให้กับผู้มีครอบครัว ส่วนหนึ่งของเงินก้อนนี้จะลงไปถึงการกระจายวัคซีนต้านโควิดด้วย ดังนั้นหากพิจารณาในแง่ของการใช้จ่ายแล้วการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับการฟื้นตัวของอเมริกาได้อย่างมีนัยสำคัญ
ดัชนีดาวโจนส์และดอลลาร์สหรัฐขานรับข่าวดีนี้ตลอดทั้งวันที่มีการซื้อขายในตลาดหุ้น ดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นมามากกว่า 300 จุด ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นเหนือ 1.6% กราฟ USD/JPY เจาะทุกแนวต้านที่เราพูดถึงหมดและตอนนี้กราฟดอลลาร์เทียบเยนสามารถยืนเหนือระดับราคา 109 ได้เป็นที่เรียบร้อย เชื่อว่าในระยะสั้นการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐจะสามารถดำเนินต่อไปจนถึงวันพรุ่งนี้ เพราะจะมีการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ การที่ผลตอบแทนฯ วิ่งขึ้นก็มีสาเหตุมาจากความกังวลในอัตราเงินเฟ้อ การปรับตัวขึ้นมาของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในเดือนกุมภาพันธ์ทำให้ความเป็นไปได้ที่ CPI จะสามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ 0.3% เพิ่มสูงขึ้น หากเป็นเช่นนั้นจริงจะยิ่งหนุนให้กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐทะยานขึ้นสร้างจุดสูงสุดใหม่
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กราฟ EUR/USD เป็นคู่สกุลเงินที่อ่อนไหวที่สุดในสัปดาห์นี้ นอกจากการแข็งค่าของดอลลาร์แล้ว คำพูดในเชิงผ่อนคลายนโยบายการเงินจากธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) จะยิ่งทำให้กราฟมีโอกาสลงไปทดสอบจุดต่ำสุดในรอบสี่เดือนได้ง่ายยิ่งขึ้น เพียงแค่เริ่มสัปดาห์นี้มากราฟยูโรเทียบดอลลาร์ก็ปรับตัวลงแล้วซึ่งขาลงครั้งนี้เป็นครั้งที่หกจากเจ็ดวันล่าสุด สหภาพยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ สังเกตได้จากการรายงานตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมันที่ลดลง การกระจายวัคซีนทำได้ช้าเพราะเพราะการล็อกดาวน์ในแต่ละพื้นที่มีการเปิดปิดประเทศที่ไม่เหมือนกัน ผลตอบแทนพันธบัตรยูโรก็เพิ่มขึ้น ในการประชุมครั้งนี้ ECB มีเรื่องให้ปวดหัวแน่นอน นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมสกุลเงินยูโรถึงไม่สามารถยืนหยัดสู้ดอลลาร์สหรัฐได้เลยในช่วงนี้ซึ่งจากความอ่อนแอดังกล่าวยิ่งเพิ่มโอกาสให้ EUR/USD สามารถลงไปถึงแนวรับ 1.18 หรืออาจจะเลยลงไปถึง 1.16 ได้
แม้ว่าสกุลเงินปอนด์ก็ไม่สามารถแข็งค่าสู้กับดอลลาร์ได้ แต่เทียบกับการอ่อนค่าของยูโรแล้วถือว่าสกุลเงินปอนด์อยู่ในระดับกลางๆ เท่านั้น สัปดาห์นี้ฝั่งสหราขอาณาจักรไม่มีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจมากเท่าไหร่ ทิศทางการวิ่งของกราฟจึงขึ้นอยู่กับสกุลเงินยูโรและดอลลาร์สหรัฐ สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์เองก็เช่นกัน
ดอลลาร์แคนาดาพยายามต่อสู้กับแข็งขืนกับดอลลาร์สหรัฐอย่างสุดกำลัง แม้ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลดลงมา 2% จากจุดสูงสุด แต่แคนาดาดอลลาร์ก็สามารถดึงกราฟ USD/CAD ให้ปรับตัวลดลงมาได้เล็กน้อย แม้จะมีการคาดการณ์กันว่าธนาคารกลางแคนาดาจะคงนโยบายการเงินเอาไว้ดังเดิม แต่การแข็งค่าของสกุลเงินและขาขึ้นในผลตอบแทนพันธบัตรฯ ก็อาจทำให้ BoC พูดถึงหรือกำชับต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น การกระจายวัคซีนในแคนาดาที่ทำได้อย่างล่าช้าส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้วย แต่ถึงอย่างนั้นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมายังไม่ได้เลวร้ายมากนัก ตัวเลข GDP ในไตรมาสที่สี่สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ไปได้ ตัวเลขการจ้างงานเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาก็ดีขึ้น แต่ข่าวดีเหล่านั้นอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ BoC รู้สึกวางใจ