เริ่มต้นขึ้นแล้วกับการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันของโลก (OPEC และ OPEC+) ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถูกจัดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม (เมื่อวาน) และวันที่ 5 มีนาคม (วันนี้) ตามลำดับเพื่อพิจารณาการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในเดือนเมษายนและเดือนถัดจากนั้น
ในการประชุมครั้งนี้กลุ่ม OPEC มีเรื่องให้เจรจากันสองเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งทั้งสองเรื่องเกี่ยวข้องกับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน เรื่องแรกทางกลุ่มได้พิจารณากันเรื่องการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 500,000 ล้านบาร์ต่อวันว่าควรเริ่มต้นในเดือนเมษายนเลยหรือไม่ ส่วนเรื่องที่สองพวกเขาจะประชุมเรื่องการกลับมาผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลของซาอุดิอาระเบียที่ถอนออกไปในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม
จากการประชุมของกลุ่ม OPEC+ เมื่อคืนนี้ได้ลงมติเห็นชอบให้คงกำลังการผลิตไว้เท่าเดิมที่ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงเดือนเมษายน โดยซาอุดิอาระเบียระบุชัดว่าสมัครใจตัดลดกำลังการผลิตวันละ 1 ล้านบาร์เรลต่อไปอีก 1 เดือน
แม้ว่าทางกลุ่มจะเห็นชอบให้คงระดับการผลิตในปัจจุบันออกไปจนถึงเดือนเมษายน แต่ก็ยินยอมให้รัสเซียและคาซัคสถานเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมาอยู่ที่ 130,000 บาร์เรล และ 20,000 บาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ เพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศที่ขยับเพิ่มขึ้น
เป็นอีกครั้งที่ผลการประชุม OPEC ออกมาหักหน้านักวิเคราะห์ในตลาดลงทุน แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจเมื่อได้มองย้อนกลับไปดูว่ามีเหตุผลอะไรที่ทำให้นักวิเคราะห์ถึงพร้อมใจกันเชื่อว่า OPEC+ จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันมากกว่าที่จะคงการผลิตเอาไว้ดังเดิม
1.) ประเทศสมาชิกมีความต้องการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อหารายได้เข้าประเทศ
รัสเซียเป็นประเทศแรกที่ออกโรงสนับสนุนว่าควรเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในช่วงเวลานี้และดูเหมือนว่าประเทศสมาชิกกลุ่ม OPEC+ อื่นๆ ก็มีความเชื่อเช่นกันว่าตลาดน้ำมันจะสามารถรับได้แม้มีการเพิ่มกำลังการผลิต คำถามก็คือว่าหากต้องเพิ่มกำลังการผลิตจริง ทางกลุ่มจะเพิ่มเข้ามาเร็วแค่ไหน? ซึ่งจุดนี้เองเป็นจุดที่สมาชิกภายในกลุ่มมีความเห็นที่แตกต่างกัน
ประเทศรัสเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เห็นความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ CEO ของบริษัทผลิตน้ำมันประจำชาติ UAE นาม ADNOC (AD:ADNOCDIST) เชื่อว่าความต้องการน้ำมันดิบจะสามารถกลับขึ้นไปอยู่ในระดับก่อนโควิดได้ภายในสิ้นปี 2021 นี้
พี่ใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบียไม่เห็นด้วยกับความคิดของ UAE นายอามิน เนซเซอร์ CEO ของบริษัทซาอุดิ อารัมโก (SE:2222) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตน้ำมันประจำชาติของซาอุดิอาระเบียเชื่อว่าความต้องการน้ำมันจะกลับมาอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่สองของปี 2021 จริง แต่ความต้องการน้ำมันสำหรับเครื่องบินโดยสารนั้นจะยังไม่สามารถกลับมาอยู่ในช่วงก่อนโควิดได้จนกว่าจะถึงสักช่วงเวลาหนึ่งของปี 2022
มีความกังวลว่าถ้ากลุ่ม OPEC+ ไม่เพิ่มกำลังการผลิต แต่ตัดสินใจเพิ่มราคาน้ำมันแทน แบบนั้นผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากมากที่สุดจะเป็นสหรัฐอเมริกา แม้ลุงแซมจะสามารถผลิตน้ำมันได้เองจากการขุดหินน้ำมัน แต่บริษัทผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการขุดน้ำมันโดยตรงยังบอกเองว่าในปีนี้สหรัฐอเมริกาอาจจะยังไม่สามารถกลับมาผลิตน้ำมันได้อย่างเต็มกำลัง ต่อให้มีน้ำมันอยู่ในดินมากเพียงใด แต่ถ้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่ฟื้น การผลิตน้ำมันออกมามากเกินไปจะกลายเป็นปัญหา
อีกหนึ่งประเด็นที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกลุ่ม OPEC+ คือลูกค้าคนสำคัญอย่างประเทศจีนและอินเดีย ลูกค้า VIP ทั้งสองกล่าวว่าราคาน้ำมันตอนนี้อยู่สูงเกินไปสำหรับพวกเขา ดังนั้นอินเดียจึงได้ออกมาเรียกร้องให้กลุ่ม OPEC เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อลดราคาน้ำมันลงมา ส่วนการซื้อน้ำมันจากจีนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมก็เริ่มลดปริมาณลงอย่างสังเกตได้ สาเหตุที่การนำเข้าน้ำมันในช่วงนี้ของจีนลดลงเป็นเพราะราคาน้ำมันที่อยู่สูงเกินไป การปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันและปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่เพิ่มขึ้น
2.) หนึ่งล้านบาร์เรลของซาอุดิฯ เป็นตัวแปรสำคัญต่อตลาดน้ำมันโลก
ซาอุดิอาระเบียเคยระบุว่าพวกเขาต้องการกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลภายในเดือนเมษายน เป็นไปได้ว่าซาอุดิอาระเบียจะเริ่มทยอยเพิ่มกำลังการผลิตเข้ามาเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันร่วงลงมากจนเกินไปและพยายามจะตรึงราคาน้ำมันเอาไว้เหนือ $60 บาร์เรล
ในขณะเดียวกันซาอุดิอาระเบียกำลังเตรียมที่จะเปิดโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ที่สามารถผลิตน้ำมันได้ 400,000 บาร์เรลที่จิซาน ดังนั้นต่อให้ซาอุดิอาระเบียจะกลับมาผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรล พวกเขาก็จะไม่ส่งออกน้ำมันจำนวนนั้นทั้งหมด แต่ต้องเอาไปใช้กับการสร้างโรงกลั่นน้ำมันใหม่
โดยสรุปแล้ว
ต่อให้ทุกชาติสมาชิกจะเห็นด้วยกับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน แต่กลุ่ม OPEC ก็ต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการทยอยเพิ่มกำลังการผลิต ไม่ใช่เพิ่มกำลังการผลิตทีเดียว ในฐานะผู้ชมที่รออยู่รอบนอก เข้าใจได้ว่าทำไมพวกเราถึงให้ความสำคัญกับตัวเลขการผลิตฯ ที่ออกมาขนาดนั้น แต่ถ้ามองในมุมมองของผู้มีสิทธิ์ในการเพิ่มลดโดยตรง กลุ่ม OPEC+ มีความกังวลมากกว่าว่าจะต้องวางแผนที่จะเพิ่มการผลิตตอนไหนและเมื่อไหร่จึงจะเหมาะสม
ที่สำคัญการเจรจาขอเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของประเทศในกลุ่ม OPEC+ ถือเป็นศิลปะทางการฑูตแบบหนึ่ง การเปิดฉากเดินเกมเจรจาก่อนหรือหลังจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศนั้นๆ และรวมถึงการจัดลำดับโควตาในการประชุมของกลุ่มครั้งถัดไป ดังนั้น แม้เหมือนว่าพวกเขาจะคิดเหมือนกันแต่ในเชิงของรายละเอียดนั้น กลุ่ม OPEC จะเดินหน้าแต่ละก้าวต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก